อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ / ไทย-จีน : เราควรฉลองอะไรกัน

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

รอบด้าน ความไว้เนื้อเชื่อใจกันทางยุทธศาสตร์ลงลึก ปริมณฑลความร่วมมือกว้างขึ้น

รูปธรรม ความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์แก่กัน ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ ประชาชนทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์อย่างดี

เปี่ยมด้วยพลังขับเคลื่อน

สายแถบและเส้นทาง เชื่อมประเทศไทย 4.0 และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

บริษัทศักยภาพ Huawei, Alibaba, JD.COM-5 G

(ย่อจาก สารเฉลิมฉลองครบรอบ 45 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย จากนายหยาง ซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำไทย อ้างจากกรุงเทพธุรกิจ 1 กรกฎาคม 2563)

 

หากท่านใดอ่านสารถึงคนไทยฉลองครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทยข้างต้น นอกจากภาษาไทยที่สวยงามแล้ว สารดังกล่าวยังสะท้อนความรุ่งโรจน์ความสัมพันธ์ไทย-จีนที่ผ่านมาได้กระฉับเนื้อหาอย่างครบถ้วน

ทว่า ความครบถ้วนนั้นเต็มไปด้วยมุมมองจากรัฐและชนชั้นนำทางนโยบาย

สิ่งที่ผมจะทำคือ มองพลวัตความสัมพันธ์ไทย-จีน เราอาจจะเห็นอะไรมากกว่าที่ชนชั้นนำคิดก็ได้

ครบ 45 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีนแล้วหลายคนมองความสัมพันธ์ของสองชาติลึกซึ้งไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรมอันเชื่อมร้อยผู้คนทุกหมู่เหล่า

ผมไม่เถียงเรื่องนี้ ทว่า หากจะร่วมฉลองกันทั้งที ผมเลยลองทบทวนสัก 2 อย่าง

อย่างแรกคือ ในรอบ 45 ปีมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง ผมจะลองทบทวนดูด้วยมองว่าในความสัมพันธ์ใดก็ตาม หาเป็นความสัมพันธ์ที่หยุดนิ่งไม่ ตรงกันข้ามความสัมพันธ์นั้นๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เปลี่ยนที่ผลประโยชน์และผู้คนแต่ละรุ่นที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย

อย่างที่ 2 ผมอยากมองกว้างๆ ว่า คนไทยคิดอย่างไรกับจีนบ้าง ผมเอาตัวเองเป็นผู้สำรวจเอง สำรวจโดยมิได้เลือกว่า คนไทย ที่ว่านี้เป็นคนกลุ่มไหน คนชั้นไหนและคนไทยในวัยไหน หากดูเพียงว่า เท่าที่ผมรับรู้จากการเข้าใจ จากสื่อมวลชน ทั้งนี้ จากมุมมองของผมซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอะไร

ทว่า นี่เป็นข้อสังเกตของคนไทยคนหนึ่งเท่านั้น

 

อะไรเปลี่ยนไปบ้าง

นับจากปี พ.ศ.2518 หรือ 45 ปีแห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน หากมองจากจีนในสายตาของผม จีนสมัยนั้นเป็นมหาอำนาจที่ทันสมัยทันเหตุการณ์ จีนตัดสินใจมีความสัมพันธ์กับไทยอย่างเป็นทางการในปีนั้นช่างเป็นความชาญฉลาด ด้วยเหตุที่ว่า จีนรู้ว่าโลกได้เปลี่ยนแปลงจากลัทธินิยม เปลี่ยนจากความคลั่งการเผชิญหน้ากันของลัทธิคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย พร้อมๆ กับจีนเห็นความสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐอเมริกาโดยการนำของชนชั้นนำทางนโยบายเช่นประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ผู้ปราดเปรื่อง

ดังนั้น จีนจึงพลิกฟื้นมิติประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมด้วยการยอมรับความสัมพันธ์ทางการทูตจากรัฐเล็กๆ จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาเช่นไทย เปิดศักราชความสัมพันธ์ใหม่ต่อภูมิภาคนี้

หลังจากนั้น จีนเป็นดังมหามิตรของไทยด้วยเป็นธงนำทางการเมืองการทูตใหม่ของรัฐเล็กๆ เช่นไทยในภูมิภาคที่ยังไร้เสถียรภาพทางการเมืองจากแรงกดดันของรัฐเล็กๆ แต่ต่างลัทธิการเมืองเฉกเช่นเวียดนาม

ในเวลาเดียวกัน ชนชั้นนำทางนโยบายไทยสมัยนั้นก็สร้างสมดุลในการเมืองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะในอินโดจีนที่ไทยยังมองว่าเป็นภัยคุกคาม รักษาดุลในช่วงที่สหรัฐอเมริกาทิ้งภูมิภาคนี้ออกไป

ผมมองความเปลี่ยนแปลงโดยย่อนี้เป็นประโยชน์ต่อไทยโดยที่เราต้องดูการเปลี่ยนแปลงของจีนหลังจากปี 2518 และทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาตามไปด้วย

ความเปลี่ยนแปลงภายในจีนทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ได้แก่ การเติบโตของระบบทุนนิยมในจีน การเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจภายใต้ แมวสีอะไรก็จับหนูได้ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่ง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและความมั่งคั่งและการกินดีอยู่ดีของประชาชนจีนส่งผลให้จีนเองเปลี่ยนตัวเองจากมหาอำนาจของภูมิภาคเอเชียมาเป็น อภิมหาอำนาจโลก อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง

ดังนั้น สถานภาพของจีนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย อันมีผลต่อนานาประเทศ รวมทั้งไทยด้วย

เราเริ่มเห็นจีนและยุทธศาสตร์ใหม่ชัดเจนขึ้น ยุทธศาสตร์ใหม่นั้นได้แก่ ยุทธศาสตร์จีนลงใต้ (Go South policy)

จีนกับการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การลงทุนด้านเหมืองแร่และน้ำมันในตะวันออกกลาง

การเข้าไปดำเนินการด้านป่าไม้ การปลูกข้าว และพืชเกษตร เช่น ข้าวโพดและถั่วเหลืองในทวีปแอฟริกา

หากดูจากการลงทุนเพาะปลูกยางพารา การปลูกอ้อย การปลูกกล้วยหอม การทำเหมืองแร่ทองแดงและเหมืองหยกในกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนับว่าเป็นการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติของจีนที่ไม่ต่างอะไรจากที่จีนแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติในตะวันออกกลาง ละตินอเมริกาและแอฟริกา

ยุทธศาสตร์ใหม่อีกประการหนึ่งได้แก่ การเคลื่อนย้ายคนจีนออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

การเคลื่อนย้ายดังกล่าวมีทั้งเหตุผลของการเคลื่อนย้ายคนจีนออกไปทำการค้า ออกไปทำมาหากิน รวมทั้งการตั้งถิ่นฐานหรือการตั้งชุมชนใหม่ในประเทศต่างๆ การเคลื่อนย้ายของคนจีนนี้เริ่มจากคนชนบทสู่เมืองใหญ่ในจีน

ทว่า ในระยะหลังเมื่อหางานทำในจีนยากขึ้น คนจีนจำนวนหนึ่งก็เคลื่อนย้ายออกไปทำงานและทำมาหากินในต่างประเทศและตั้งชุมชนใหม่

 

คนไทยรู้สึกอย่างไร?

ยุทธศาสตร์จีนลงใต้ การแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ และการย้ายถิ่นฐานของคนจีนนับเป็นคลื่นของความเปลี่ยนแปลงของจีนที่ใกล้กับคนไทยนิดเดียว

ทั้งนี้ มิใช่คนไทยได้รับรู้คลื่นของคนจีนจากสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ต่างๆ

ความจริงแล้ว คลื่นของคนจีนที่ท่วมไปหมดใน สปป.ลาว ในกัมพูชาและในเวียดนามนับเป็นคลื่นที่คนไทยคุ้นชินเพราะคลื่นนั้นก็ไหลบ่ามาที่ไทยด้วย

การเป็นเจ้าของกิจการร้านค้าของคนจีนใน สปป.ลาว

การเช่าที่ดินในบางส่วนของนครเวียงจันทน์นาน 99 ปี

การเป็นเจ้าของไร่ขนาดใหญ่ปลูกกล้วยหอมของคนจีนในแขวงตอนเหนือของ สปป.ลาวเป็นเรื่องที่รับรู้ได้เพราะปรากฏการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นในกัมพูชา เช่น ไร่อ้อยในหลายเมืองในกัมพูชา

ส่วนคลื่นคนจีนก็ไหลบ่าเข้าไปในกรุงพนมเปญ ไม่ว่าจะเป็นกิจการโรงแรม กิจการร้านค้า บ่อนการพนัน ร้านอาหารซึ่งมีคนจีนเป็นทั้งเจ้าของและแหล่งท่องเที่ยวของชาวจีน

รวมทั้งคลื่นของคนจีน การค้าและการลงทุนของคนจีนในเมืองใหญ่อื่นๆ เช่น เมืองสีหนุวิลล์ของกัมพูชา

คลื่นคนจีนที่เมืองไทยก็ไม่แตกต่างกันกับประเทศเพื่อนบ้านของเราเลย

สำหรับไทย โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน การลงทุนเข้าซื้อกิจการมหาวิทยาลัยในไทยของคนจีน โรงเรียนสอนภาษาจีนล้วนมีอยู่อย่างดาษดื่น

การเข้ามาลงทุนซื้อคอมโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์นับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในไทย

คลื่นที่ใหญ่มาก เช่น ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของทัวร์จีน ด้านหนึ่งหลายคนมองถึงการสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทย

ทว่า อีกด้านหนึ่ง ไทยพบกับ ทัวร์ศูนย์เหรียญ อันหมายถึงทัวร์จีนเข้ามาแต่ที่พัก ร้านอาหาร รถทัวร์และรถตู้รับส่ง ร้านขายของล้วนเป็นกิจการของคนจีนแทบทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น เงินที่จับจ่ายยังไม่ได้อยู่ในระบบเศรษฐกิจไทย แต่การจ่ายเงินจ่ายทางแอพพลิเคชั่นที่เงินไปอยู่ที่บริษัทหรือธนาคารในประเทศจีนมากกว่า

เมื่อย้อนกลับไปดู คำคมของนักการทูตจีนที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-จีนที่รอบด้านและความไว้เนื้อเชื่อใจกัน โดยมีรูปธรรมแห่งผลประโยชน์ร่วมกันทั้งตัวเลขการค้าระหว่างไทย-จีน การลงทุนของจีนในไทย

ยิ่งถ้ามองไปที่พลังอันเปี่ยมด้วยพลังขับเคลื่อน ได้แก่ สายแถบและเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative ที่เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พลังด้านเทคโนโลยีจาก Huawei, Alibaba และ JD.com เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบกับการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติและการย้ายถิ่นของคน ทุนและเทคโนโลยีของจีนในภูมิภาคนี้ เราจะเรียกว่า เป็นความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และการเอื้อประโยชน์ของทั้งสองประเทศนับว่าก่อให้เกิดความสงสัยด้วยเหตุผลว่า

จีนเองเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น จีน-ไทยเป็นพี่น้องกัน หรือจีนเป็นมหามิตรของไทย จึงแตกต่างจากเมื่อเกือบ 5 ทศวรรษมาก