หวานใจที่ถูกลืม : วงดนตรีหญิงล้วนในโลกของเพศชาย

Anne Mae Winbern กับวง The International Sweethearts of Rhythm

เรามักคุ้นเคยกับภาพลักษณ์ของดนตรีแจ๊ซว่าเป็นเสรีนิยมมากกว่าดนตรีคลาสสิค

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ดนตรีทั้งสองชนิดแทบไม่แตกต่างกันในแง่ที่ว่า มีนักแต่งเพลง-นักดนตรีที่มีชื่อเสียงเป็น “เพศหญิง” จำนวนน้อยมากอย่างเทียบกันไม่ได้เลยกับเพศชาย

แม้ว่าในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ยุคแห่งความนิยมดนตรีแจ๊ซแบบวง “big band” จะมีวงดนตรี “หญิงล้วน” ปรากฏขึ้นหลายวง แต่พวกเธอก็หาได้ถูกจดจำไว้ในโลกดนตรีไม่

(วงดนตรีแบบ big band หมายถึงวงที่ประกอบไปด้วยนักดนตรีจํานวนมากราว 20 คน มีทั้งเครื่องเป่าหลายชนิด เครื่องสาย กลอง กีตาร์ และนักร้อง และมักมี “วาทยกร” ทําหน้าที่กํากับวง)

วงดนตรีแจ๊ซหญิงล้วนนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1920s โดยวงดนตรีที่มีชื่อเสียงโด่งดังในช่วงนี้คือวงของเบบ อีแกน นักไวโอลินหญิง ใช้ชื่อวงว่า Babe Egan and Her Hollywood Red Head

วงของอีแกนตั้งขึ้นในปี 1924 ที่แคลิฟอร์เนีย และเคยเดินทางไปแสดงทั้งในยุโรปและออสเตรเลีย

ต่อมาในทศวรรษที่ 1930s เกิดวงดนตรีผู้หญิงที่ใช้วาทยกร “ผู้ชาย” ควบคุม เช่น วง All-Girl Orchestra ที่ควบคุมโดยนายฟิล สปิทัลนีย์ และบรรเลงออกอากาศทางวิทยุในรายการ the Hour of Charm ในช่วงปี 1934 ซึ่งถือเป็นวงที่มีชื่อเสียงมาก

อย่างไรก็ตาม มีข้อเขียนบางชิ้นชี้ให้เห็นว่า ภาพลักษณ์ของวงดนตรีอย่าง All-Girl Orchestra นี้เป็นไปในทางขายเรือนร่างของสตรีเพศมากกว่าจะเน้นเรื่องการบรรเลงดนตรี

เห็นได้จากภาพการแสดงดนตรีในแต่ละครั้ง ที่เสื้อผ้าและทรงผมของนักดนตรีทุกคนจะได้รับการออกแบบอย่างงดงามในแบบหญิงสาวชาวอเมริกัน

นั่นหมายความว่า นักดนตรีผู้หญิงในวงถูกมองไม่ใช่แค่ในฐานะของ “นักดนตรี” เท่านั้น แต่จะถูกมองในฐานะของ “ผู้หญิง” อีกด้วย

และส่งผลให้ผู้ชมคาดหวังที่จะได้เห็นภาพลักษณ์ “ความเป็นหญิง” ของพวกเธอไปพร้อมๆ กับการฟังดนตรี

ความคาดหวังนี้ส่งผลให้การมีริมฝีปากสีแดงกลายเป็นเรื่องจําเป็น และเมื่อสีของลิปสติกมักเลือนหายไปอย่างง่ายดายจากริมฝีปากของนักดนตรีหญิงที่เล่นเครื่องเป่า จึงต้องมีการคิดค้นหาสีชนิดอื่นที่คงทนนานกว่ามาทาปากของหญิงสาวให้แดงอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น

ในบางโอกาส นักดนตรีในวงของสปิทัลนีย์ถึงกับถูกจับย้อม (หรือใส่วิก) ผมสีบลอนด์ทุกคนอย่างพร้อมเพรียง เพื่อสร้างภาพของหญิงสาวในอุดมคติของชาวอเมริกัน

และในช่วงเวลาใกล้ๆ กันนั้นยังมีวงดนตรีแจ๊ซหญิงล้วนเกิดขึ้นอีกหลายวง โดยเฉพาะที่ควบคุมด้วยวาทยกรเพศหญิง ตัวอย่างที่โดดเด่นคือวง Melodear ควบคุมโดยไอนา เรย์ ฮัตตัน (Ina Ray Hotton)

ไอนา เรย์ ฮัตตัน มีชื่อเสียงจากการแสดงละครเพลง และได้ควบคุมวง Melodear ครั้งแรกในปี 1934 ขณะอายุได้เพียง 18 ปีเท่านั้น

ไอนาเป็นสาวสวยผมบลอนด์ที่มีความสามารถหลากหลาย เธอควบคุมวงดนตรีด้วยลีลาท่าทางที่ทั้งแช่มช้อยและกระฉับกระเฉงรื่นเริง ทําได้ดีทั้งเพลงช้าและเพลงเร็ว

นอกจากนั้น ไอนายังทําหน้าที่นักร้องนําด้วยตนเอง ทั้งสามารถเต้นแท็บประกอบการแสดงดนตรีได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งหมดนี้ส่งผลให้วง Melodear มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก

จนการแสดงของทางวงได้รับการถ่ายทําเป็นภาพยนตร์จํานวนหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม วงดนตรีหญิงล้วนทั้งหมดในแวดวงดนตรี “กระแสหลัก” นั้นก็ยังคงเป็นวงดนตรีของผู้หญิง “คนขาว” เท่านั้น

โดยวงดนตรีหญิงของคนดำจะมีพื้นที่จำกัดอยู่แต่ในสถานบันเทิงของคนดำเท่านั้น และแน่นอนว่าไม่ได้รับโอกาสนำเสนอตัวเองในวงกว้างเช่นวงของคนขาว ด้วยนโยบายแบ่งแยกสีผิวในขณะนั้น

แต่ในปี 1937 ได้เกิดปรากฏการณ์พิเศษขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยวงดนตรีหญิงล้วน The International Sweethearts of Rhythm ซึ่งมีนักดนตรีหญิงหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งคนขาว คนดำ ลูกครึ่งชาติต่างๆ ทั้งชาวพื้นเมืองอเมริกัน ชาวจีน และชาวอเมริกาใต้

สั่นสะเทือนทั้งสังคมอเมริกันด้วยความแปลกใหม่

แล้วยังถือได้ว่าเป็นการท้าทายนโยบายกีดกันคนดำคนชายขอบอย่างซึ่งหน้าอีกด้วย

วง “หวานใจแห่งจังหวะนานาชาติ” – International Sweethearts of Rhythm หรือชื่อย่อว่า ISR ก่อตั้งโดย ดร.ลอเรนซ์ ซี. โจนส์ ครูใหญ่โรงเรียนประจำ Piney Country Life School ที่มิสซิสซิปปี้ โรงเรียนแห่งนี้ตั้งขึ้นในปี 1909 เพื่อให้การศึกษาแก่เด็กกําพร้าผิวดําและลูกครึ่งชาติอื่นๆ ที่เป็นชนชายขอบ

โจนส์ได้แรงบันดาลใจจากวงดนตรี Melodear ของไอนา และสร้างวงดนตรีผู้หญิงล้วนขึ้นเลียนแบบ เพื่อออกแสดงและเรี่ยไรทุนการศึกษาจากบุคคลทั่วไป

พอลลีน แบรดดี มือกลองของวง ISR เคยให้สัมภาษณ์รําลึกความหลังว่า ผู้ที่ควบคุมวงและสอนดนตรีให้แก่เด็กๆ คนแรกคือครูดนตรีผู้หญิงของโรงเรียน นามคอนซูเอลลา คาร์เตอร์

โดยในระยะแรก สมาชิกในวงล้วนเป็นเด็กหญิงอายุระหว่าง 14 ถึง 19 ปี และปะปนไปด้วยคนดํา คนครึ่งชาติ มีทั้งลูกครึ่ง ละตินอเมริกา เอเชีย และชาวพื้นเมืองอเมริกัน

การประสมประสานสมาชิกหลายหลากเผ่าพันธุ์นี้เองที่ทําให้โจนส์ตัดสินใจใช้คํานําหน้าชื่อวงว่า “International”

ปี 1937 วง ISR ออกทัวร์ในเขตรัฐมิสซิสซิปปี และในปีถัดมาได้จัดจ้างผู้จัดการวง ครูพี่เลี้ยง และทีมงานอย่างเป็นระบบ เริ่มออกทัวร์ไปยังรัฐต่างๆ ในวงกว้าง ทั้งอลาบามา อาร์คันซอ ลุยเซียนา เทนเนสซี และเท็กซัส

แน่นอนว่าส่วนมากแล้ววง ISR แสดงให้กับหมู่ผู้ฟังที่เป็นคนดํา (ตามนโยบายแบ่งแยกสีผิวที่ ห้ามไม่ให้คนขาวและคนดํามีกิจกรรมร่วมกัน) การแสดงของทางวงประสบความสําเร็จเป็นอย่างมากโดยเฉพาะที่ Apollo Theater ในนิวยอร์ก

และในปี 1941 เมื่อทางวงเปิดการแสดงที่วอชิงตัน ดี.ซี. ผลปรากฏว่าวง ISR ทําลายสถิติของโรงละคร Howard Theater ด้วยจํานวนผู้ชมมากถึง 35,000 คนในสัปดาห์แรก

ต่อมาทางวงเกิดข้อพิพาทกับทางโรงเรียนต้นสังกัด โดยประเด็นหนึ่งในนั้นคือเรื่องค่าตัวของนักดนตรีที่แต่ละคนได้รับน้อยเกินไปเพียง 8 เหรียญต่อสัปดาห์ (และถูกหักเป็นค่าอาหารเสีย 7 เหรียญ) ทั้งที่วงดนตรีทํารายได้ให้โรงเรียนเป็นจํานวนมหาศาลถึง 3,000 เหรียญต่อเดือน

สมาชิกส่วนใหญ่ของวง ISR จึงตัดสินใจแยกตัวเป็นอิสระ และเปิดตัวใหม่ในฐานะวงดนตรีอาชีพ

ISR เฟ้นหานักดนตรีหญิงฝีมือดีมาร่วมงานมากขึ้น และได้แอนน์ เม วินเบิร์น (Anne Mae Winbern) มาเป็นทั้งวาทยกรและนักร้อง ส่งผลให้วงมีพัฒนาการและได้รับการกล่าวถึงในทางที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 วง ISR ยังเดินทางไปเปิดการแสดงให้ทหารอเมริกัน (ผิวดํา) รับชมในค่ายที่ต่างประเทศหลายแห่ง

แต่ในการแสดงดนตรีทางภาคใต้ของสหรัฐที่ยังคงบังคับใช้นโยบายแบ่งแยกสีผิวอย่างรุนแรงในช่วงที่นโยบายแบ่งแยกสีผิวยังถูกบังคับใช้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับวง ISR เพราะต้องเผชิญกับการต่อต้านทั้งจากทางรัฐและเอกชน

และเมื่อการเดินทางร่วมกันของคนขาวและคนดำเป็นสิ่งที่ “ผิดกฎหมาย” ดังนั้น ในหลายๆ ครั้ง พวกผู้หญิงคนขาวในวงจึงต้อง “ปลอมแปลงตัวเป็นคนดำ” ด้วยการทาหน้าและสีผิวให้กลายเป็นสีดำ เพื่อกลบเกลื่อนเจ้าหน้าที่รัฐ

อย่างไรก็ตาม หลังกลับจากทัวร์ยุโรป วง ISR เริ่มประสบปัญหาภายในหลายอย่าง อีกทั้งมีนักดนตรีหลายคนย้ายวง หรือแต่งงานมีครอบครัวและหยุดรับงานแสดง ส่งผลให้ทางวงต้องหยุดการแสดงในราวปี 1946

โดยอีกสาเหตุสำคัญที่เป็นปัจจัยภายนอกก็คือสไตล์ของดนตรีแจ๊ซที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในขณะนั้น คือหันมาสู่ความเป็นดนตรีที่ซีเรียส ฟังยากขึ้น และไม่ได้มีไว้เพื่อเต้นรำเช่นในยุค big band อีกต่อไป

ซึ่งแน่นอนว่าความซีเรียสจริงจังย่อมมาพร้อมกับความเป็นชาย เพราะความซับซ้อนย่อมไม่ใช่สิ่งที่สตรีอาจเข้าถึงในมุมมองที่เพศชายเป็นใหญ่

ทั้ง ISR และวงดนตรีหญิงล้วนอื่นๆ จึงค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนนับแต่นั้น