“พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล” กับกรณีแยก “กก.สุนัข-ม้าตำรวจ” เพิ่มอัตราเติบโต-รองรับภารกิจสำคัญ

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล

หลังจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และในหลักการร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ… แก้ไขให้แบ่งแยกกองกำกับการสุนัขและม้าตำรวจ กองบังคับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ (บก.สปพ.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ออกเป็น 2 กองกำกับการ

มีกองกำกับการสุนัขตำรวจและกองกำกับการม้าตำรวจ

การที่ ครม. อนุมัติให้มีการปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกำหนดให้มีการแบ่งส่วนราชการ กองกำกับการสุนัขและม้าออกเป็น 2 กองกำกับการ

โดยแบ่งเป็นกองสุนัขตำรวจ 1 กองกำกับการ และกองกำกับการม้าตำรวจอีก 1 กองกำกับการ

ซึ่งเป็นส่วนบังคับบัญชาอยู่ภายใต้การบังคับการของกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (บก.สปพ.) ในสังกัดตำรวจกองบัญชาการนครบาล

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (ผบก.สปพ.) กล่าวถึงความเป็นมาของกองกำกับการสุนัขและม้าตำรวจว่า จากการที่กำหนดให้แยกกองกำกับการสุนัขและม้าออกเป็น 2 กองกำกับการของมติ ครม. เนื่องมาจากเดิม ในการก่อตั้งกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษในยุคแรกที่ พล.ต.ต.เสริม จารุรัตน์ เป็นผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษเป็นคนแรก ในการก่อตั้งหน่วยบังคับการสายตรวจพิเศษมีภารกิจอันสูงยิ่ง คือถวายความปลอดภัยเชื้อพระวงศ์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

เพราะฉะนั้น ในกองกำกับการสุนัขและม้าในยุคแรกที่มีการก่อตั้งก็แยกเป็น 2 กองกำกับ โดยภารกิจของกองกำกับการสุนัขและม้า มีภารกิจสำคัญอย่างยิ่ง คือการเทิดพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์เช่นเดียวกัน

โดยกองกำกับการสุนัขและม้า มีหน้าที่รับผิดชอบในการนำม้ายืนเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน กรณีเชื้อพระวงศ์หรือพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯ ในงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเสด็จปฏิบัติพระราชกรณียกิจในงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ จะต้องนำม้ายืนแสดงความจงรักภักดีและเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ในส่วนกองกำกับการสุนัขตำรวจก็เช่นเดียวกัน ใช้ในภารกิจการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนตรวจหาสารเสพติด วัตถุระเบิด และทำพื้นที่ให้ปลอดภัย โดยเฉพาะขณะนี้เป็นช่วงถวายสักการะพระบรมศพ

“ทั้งในส่วนกองกำกับการสุนัขและม้าตำรวจ ทางผมขออนุมัติสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และสำนักงบประมาณ กำหนดให้มีเงินเพิ่มประจำตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญในกองกำกับการสุนัขและม้าตำรวจเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับกำลังพลภายในหน่วย”

“โดยตำแหน่งผู้กำกับการ (ผกก.) จะได้รับเงินเพิ่ม 12,000 บาท รอง ผกก. 4,700 บาท สารวัตร (สว.) 4,000 บาท รอง สว. 3,400 บาท และระดับชั้นประทวน 3,000 บาท”

“เป็นครั้งแรกที่ตั้ง บก. ที่กำหนดให้มีเงินประจำตำแหน่งกำลังพลในกองกำกับการสุนัขและม้าตำรวจ เพื่อทำให้เจริญเติบโตและมีขวัญกำลังใจที่ดีในการปฏิบัติงาน เพื่อทำงานในหน้าที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” ผบก.สปพ. เผย

ผบก.สปพ. บอกด้วยว่า การเสนอ ตร. ให้แยกกองกำกับการสุนัขและกองกำกับการม้า เพื่อให้กำลังพลภายในหน่วยสามารถเติบโต จะมีตำแหน่งรอง ผกก. และ สว. ที่เพิ่มขึ้น

มีกองกำกับการที่รับผิดชอบในเรื่องของสุนัขและม้าโดยชัดเจน เพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สามารถดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการเลี้ยงดู การอบรม เพราะสุนัขและม้าเป็นสัตว์คนละประเภท การฝึกแตกต่างกัน ทั้งยุทธวิธีก็แตกต่างกัน

การดำรงชีวิตเลี้ยงดูแตกต่างกัน ตรงนี้เป็นเหตุผลจำเป็นต้องแบ่งแยกทั้งสองกองกำกับการออกจากกัน

และสิ่งที่สำคัญคือกำลังพลในหน่วยมีความมั่นใจว่ารับราชการแล้วสามารถเจริญเติบโตได้ หนึ่งกองกำกับการมี 100 นาย ตอนนี้ขาดอีกประมาณ 100 นาย

ผบก.สปพ. เผยว่า ส่วนในการรับกำลังพลเพิ่ม เสนอไปแล้วอัตราบรรจุจะรับได้ประมาณเดือนมิถุนายน เริ่มใช้มีผลหลังจากมีมติ ครม. มีผลบังคับใช้ทันที

ส่วนในวาระการแต่งตั้งครั้งนี้จะมีผู้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ 2 กองกำกับ คือผู้กำกับการสุนัข และผู้กำกับการม้า เป็นสิ่งที่บ่งบอกให้เห็นว่ารอง ผกก.สุนัข รอง ผกก.ม้า ก็สามารถเติบโตเป็นผู้กำกับการตามลักษณะของผู้เชี่ยวชาญชำนาญการได้

นอกจากนี้ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ เผยถึงการยกระดับกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว (บก.ทท.) เป็นกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (บช.ทท.) ที่แก้ไข พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 มาตรา 4 และมาตรา 5 ในส่วนอัตรานายพลต้องรอวาระเดือนตุลาคม เมื่อถึงวาระก็จะต้องแต่งตั้งผู้มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (ผบช.ทท.)

ตรงนี้ในส่วนของผู้มีอำนาจอย่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สามารถพิจารณาในส่วนของผู้มีความเชี่ยวชาญในส่วนของ ผบช.ทท. ได้

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น กระแสการท่องเที่ยว การสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในชีวิตทรัพย์สินให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเมืองไทย เมื่อเข้ามาแล้วต้องมีกำลังเพียงพอในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของเขา ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ ทางบก”

“ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผบช.ทท. ตำแหน่งเฉพาะทางแบบนี้จะต้องมีความรู้ รอบรู้อยู่พอสมควร หรือเคยผ่านงานด้านนี้ ถึงจะทำให้มีองค์ความรู้ มีการประสานงานกับนานาประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือหน่วยงานท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาบูรณาการร่วมกัน

ส่วนตัวบุคคลที่เหมาะสมจะนั่ง ผบช.ทท. นั้น พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ บอกว่า โฟกัสมาที่ พล.ต.ท.อดิศร์ งามจิตสุขศรี จตร. (สบ8) สำนักงานจเรตำรวจ ที่เคยนั่ง ผบก.ทท. มาแล้ว พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ (ผบช.ศชต.) ที่ถูกยุบแล้ว พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค.) เคยผ่านงานที่ บก.ทท. ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งในหน่วยงานนี้จะเข้ามาเป็น ผบช.ทท. ไม่ได้

เป็นหลักการ เหตุผล ภารกิจ และเค้าโครงของโครงสร้างใหม่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในส่วนของกองกำกับการสุนัขตำรวจ กองกำกับการม้าตำรวจ ตลอดจนกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว!!