รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ เพราะโครงสร้างอำนาจที่ไม่แคร์ประชาชน

ที่มองเห็น “ไม่ถึงรากแห่งปัญหา”

เมื่อเร็วๆ นี้ “สวยดุสิตโพล” สำรวจว่า 10 เรื่องที่เป็นความวิตกกังวลของคนไทยคืออะไร

ผลที่ออกมาคือ มากที่สุดคือร้อยละ 71.50 บอกว่าเป็นเรื่องรายจ่ายในครอบครัว, รองลงมาร้อยละ 70.00 ห่วงเรื่องสุขภาพอนามัยของตนเองและครอบครัว, ร้อยละ 67.60 เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองและครอบครัว, ร้อยละ 67.20 รายได้จากการประกอบอาชีพลดลง, ร้อยละ 64.21 ไม่มีเงินออม, ร้อยละ 63.67 ความปลอดภัย และความลำบากเรื่องการเดินทาง, ร้อยละ 60.55 หนี้สินเพิ่มมากขึ้น ไม่มีเงินผ่อนชำระ, ร้อยละ 60.18 การเล่าเรียนของตนเองและบุตรหลานยากลำบาก

ร้อยละ 60.07 สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ เครียด คิดมาก เบื่อชีวิต

มองจากผลโพลนี้ สะท้อนถึงความใส่ใจของคนส่วนใหญ่ หรือจะว่าไปเกือบทั้งหมดอยู่ที่ความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นกับชีวิตในปัจจุบัน เป็นความเดือดร้อนเรื่องปากท้อง และชีวิตความเป็นอยู่

เมื่อความเดือดร้อนของผู้คนสะท้อนออกมาในทางตระหนักว่าไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ปัญหาที่รุมล้อมดูจะเกินกว่าจะมีปัญญารับมือแก้ไข

ในความรู้สึกเช่นนี้ เมื่อมีใครสักคนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแบบตรงจุด คือแจกเงินสด หรือเครื่องอุปโภคบริโภคกันเลย ไม่ว่าจะในนามของการเยียวยาหรืออะไรก็จะมีเสียงขานรับด้วยความขอบคุณเกิดขึ้นทันที

ความต้องการในลักษณะเช่นนี้ หากมองในมุมการเมืองฝ่ายรัฐบาลย่อมได้เปรียบ เพราะมีทั้งงบประมาณและเหตุผลที่จะเอามาอ้างเพื่อแจกจ่าย

ใช้เงินที่มาจากงบประมาณรายจ่ายของประเทศ เหตุผลคือเป็นการลงทุนภาครัฐเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อมาหมุนเศรษฐกิจ

เป็นมาตรการที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ถึงความจำเป็น ฝ่ายที่คัดค้านทำได้อย่างมากก็แค่ชี้ให้เห็นว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ยั่งยืน เป็นความช่วยเหลือที่ไม่สร้างประโยชน์ในระยะยาว และจะเป็นภาระต่องบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนไม่รู้จักจบสิ้น

แต่ในความเป็นจริงก็คือ คนที่รู้สึกเดือดร้อนจากมาตรการนี้ มีน้อยกว่าคนที่รู้สึกว่าเป็นประโยชน์กับตัวเอง

และความรู้สึกนี้ของประชาชนจะเป็นตัวกำหนดผลทางการเมืองในอนาคต

เป็นยุคสมัยที่สภาพชีวิตของผู้คนทำให้ฝ่ายค้านจะเรียกคะแนนนิยมได้ยาก

ทั้งที่ในความเป็นจริง สิ่งที่ฝ่ายค้านพยายามอธิบายนั้นมีเหตุผลอยู่มาก

“ชีวิตประชาชนมีปัญหาเพราะการบริหารงานของรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพเพราะโครงสร้างอำนาจไม่แคร์ประชาชน เอื้ออำนาจให้คณะบุคคล การแก้ปัญหาต้องทำให้การเมืองเป็นประชาธิปไตย เพราะเมื่ออำนาจเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นคนตัดสิน ผู้ใช้อำนาจแค่ทำหน้าที่แทนประชาชน จะทำให้ประชาชนมีความหมายมากขึ้น ต้องทำให้ผู้มีอำนาจรู้สึกว่าต้องพึ่งพาประชาชน ไม่ใช่ประชาชนพึ่งพาผู้มีอำนาจ”

ความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า อำนาจอยู่กับคณะบุคคล ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้กำหนด เป็นเหตุแห่งปัญหาเรื่องการบริหารจัดการที่เอื้อกลุ่มผลประโยชน์มากกว่าดูแลประชาชน

ข้อสรุปนี้ แม้จะมีเหตุผลสะท้อนถึงรากของปัญหาอยู่ไม่น้อย

แต่สถานการณ์ที่คนส่วนใหญ่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ ทำให้ต้องการความช่วยเหลือระดับพื้นผิว หรือความเดือดร้อนในเรื่องปากท้องมากกว่า

จึงทำให้ความได้เปรียบทางการเมืองเป็นของรัฐบาล

จึงทำให้ปัญหาที่แท้จมลึกจนเกินกว่าที่คนทั่วไปจะมองเห็นยิ่งขึ้นไปอีก