จัตวา กลิ่นสุนทร : “การบินไทย” ยุค “บุฟเฟต์คาร์บิเนต” ถึง “รสช.”

จากอดีตรัฐบาลที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” เพราะมาจากการเลือกตั้ง “นายกรัฐมนตรี” เป็น ส.ส. ดูไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับ “การบินไทย” ที่กำลังประสบกับการขาดทุนยับเยิน จนต้องยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ

แต่นายทหารใหญ่ผู้ทรงอิทธิพลท่านเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเนื่องจากมีตำแหน่งระดับสูง จึงเป็นหัวเรือใหญ่ในการนำหุ้นสามัญของสายการบินไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ขณะเดียวกันเป็นนายทหารคนสำคัญในการยึดอำนาจรัฐบาล (น้าชาติ) พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ถึงแก่อสัญกรรม) โดยเป็นผู้วางแผนกำหนดยุทธวิธีควบคุมตัวบนเครื่องบิน (C-130) ขณะยังไม่ทันจะได้ออกจากสนามบินกองทัพอากาศ ดอนเมือง

เป็นประวัติศาสตร์การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งของประเทศนี้ โดยทหารที่เรียกว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534

ก่อนที่สายการบินแห่งชาติจะได้จดทะเบียนเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลายเป็นบริษัท (มหาชน)

 

เรื่องต่างๆ ของ “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) ได้ถูกเขียน และได้รับการบันทึกไว้จำนวนมากในหลายๆ ที่ทาง

แต่สำหรับผมนั้นสามารถพูดได้เต็มปากว่าค่อนข้างใกล้ชิดสนิทสนมกับนายทหารผู้ทรงอิทธิพลมากบารมีอย่างที่เคยกล่าวไปบ้างแล้วว่าถึงกับสามารถเรียกท่านว่า “ท่าน (พี่)” ได้

ทั้งๆ ที่พอระแคะระคายมาบ้างกับเหตุการณ์การยึดอำนาจคราวนั้น แค่ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเกิดขึ้นในวันเวลาดังกล่าว

เพราะก่อนหน้าเหตุการณ์เพียงวันเดียว ท่าน (พี่) และคณะได้เดินทางไปประเทศเกาหลีใต้ แต่ได้รับการติดต่อให้กลับด่วนจนหาเที่ยวบินกลับแทบไม่ได้ เพื่อภารกิจจับตัว (น้าชาติ) นายกรัฐมนตรี ซึ่งกำลังนำ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก (ถึงแก่อสัญกรรม) เดินทางไปเพื่อเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ เข้ารับตำแหน่ง รมช.กระทรวงกลาโหม โดยใช้บริการของเครื่องบินทหาร

เป็นการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่เกิดการสูญเสีย

โดยแถลงกับประชาชนถึงเหตุผลที่ต้องทำการยึดอำนาจเพราะรัฐบาลมีการฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นรัฐบาล “บุฟเฟ่ต์คาบิเน็ต” ร่ำรวยผิดปกติ พร้อมยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2521

และให้พลเรือนเข้ามาขัดตาทัพเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ 1 ปี

 

คงไม่มีใครคาดคิดว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศอีกครั้งจนเกิดความขัดแย้งแตกแยกของทหารด้วยกันเอง ประชาชนออกมารวมตัวต่อต้านบนถนนราชดำเนิน ก่อนนำไปสู่การสูญเสียบาดเจ็บล้มตายในเหตุการณ์ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 ที่เรียกกันว่า “พฤษภาทมิฬ”

การรัฐประหารปี พ.ศ.2534 ของ “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) คงปฏิเสธกันไม่ได้ว่า “กองทัพอากาศ” เป็นหัวเรือใหญ่ โดย “แม่ทัพอากาศ” ซึ่งเป็นนายทหารรุ่นเดียวกันกับ “ผู้บัญชาการทหารบก”

และสุดท้ายได้รับหน้าเสื่อก่อตั้งพรรค “สามัคคีธรรม” เพื่อส่งให้เพื่อนได้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

–สร้างความดังจนกระทั่งได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกหน้าหนึ่ง

 

ท่าน (พี่) เป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักแสวงหาประโยชน์ รุ่นน้องในกองทัพที่เสนอตัวเข้ามาจัดการดูแลเรื่องอะไรต่อมิอะไร โดยเฉพาะที่มันเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับผลประโยชน์จำนวนมาก ตำแหน่งใหญ่ระดับหัวแถวในกองทัพอากาศจนกระทั่งเกิดการผลักไสรุ่นอื่นๆ กลุ่มอื่นๆ ให้พ้นเส้นทาง

ซึ่งเมื่อการเมืองพลิกผัน แผนสวยงามทั้งหลายพังทลาย ลูกน้องที่ใกล้ตัวกลับเอาตัวรอดเรื่องผลประโยชน์ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นชะตาชีวิต เพราะปิดฉากลงโดยไม่ได้ใช้เงิน ทรัพย์สมบัติที่กอบโกยไว้ตกไปเป็นของคนอื่น

ในจำนวนคนสนิทรอบๆ ตัวนั้นย่อมต้องมี (พี่) ท่านเจ้าของสายการบินพาณิชย์ เศรษฐีติดอันดับประเทศขณะนี้ พร้อมน้องชายเข้ามาเกี่ยวพันด้วย

เพราะได้กลิ่นโชยเรื่องผลประโยชน์ และเรื่องของหุ้นบริษัทการบินไทย จึงเข้ามาพัวพันยุ่งเหยิงอยู่แถวดอนเมืองใกล้ๆ ตัวท่าน (พี่) แบบเช้าถึงเย็นถึง

นักวิ่งเต้นแสวงหามาเยือนกันเต็มบ้านพัก แทบไม่มีเวลาเว้นว่าง เพราะเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ มีบทบาทสูงในการรัฐประหาร และนั่งตำแหน่งใหญ่ในการบินไทย แค่นี้ก็หนักหนาแล้ว เพราะดังที่เรียนแล้วว่า เวลานั้นเงินทองผลประโยชน์มันมากมายท่วมท้น

กองทัพอากาศเคยโด่งดังมากประมาณปี พ.ศ.2523 ได้สร้างความฮือฮาไปทั่วประเทศจากความคิดของ พล.อ.อ.นพ.ประกอบ บุรพรัตน์ (ถึงแก่อสัญกรรม) ซึ่งพยายามหาทุนเพื่อไปก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลทหารอากาศ

ผมจึงขออนุญาตฉายซ้ำข้อเขียนของตัวเองในมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อปี พ.ศ.2561 อีกครั้งตอนหนึ่งว่า—

 

“–จากความทรงจำบ่งชี้ว่าระยะเวลาระหว่างรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (ถึงแก่อสัญกรรม) เป็นนายกรัฐมนตรี คุณหมอประกอบคิดโครงการหาทุนจำนวนมากเพื่อทำการก่อสร้างอาคาร “คุ้มเกล้า” อาคารแพทย์หลังใหญ่ทันสมัยของโรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาลกองทัพอากาศ ได้ทำการออกสลากให้ซื้อมาขูดเพื่อค้นหารางวัลกันทั่วบ้านทั่วเมือง

ก่อกำเนิดธิดา “คุ้มเกล้า” และเป็นคนแรกที่นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในวงการแพทย์ (2523) ในโรงพยาบาลรัฐเป็นแห่งแรก จนได้รับรางวัลดีเด่น เป็นคนดีศรีแพทย์ทหาร”

อีกความดังหนึ่งซึ่งแตกต่าง เมื่อการบินไทยนำหุ้นสามัญเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่กล่าวขานถึงกันเป็นอย่างมาก นักลงทุนต่างพยายามวิ่งเต้นติดต่อเพื่อจะได้เป็นเจ้าของก่อนจะเข้าทำการซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะมั่นใจในสายการบินแห่งชาติ ที่โด่งดังมีชื่อเสียง รวมกับสินทรัพย์จำนวนมาก

เมื่อคิดคำนวณตามหลักวิธีการของบริษัทที่เป็นผู้ดำเนินการกระจายหุ้นเพื่อเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป ก่อนเข้าทำการซื้อ-ขายอย่างเป็นทางการที่เรียกว่า IPO ในราคา 60 บาท ต้องบอกว่าขณะนั้นหุ้นของบริษัทการบินไทยหอมหวนจริงๆ ใครๆ จึงต้องการได้เป็นเจ้าของ มีการขอซื้อนอกตลาดโดยเสนอราคาตั้งแต่ 80-100 บาท

ผมกับกลุ่มเพื่อนสื่อมวลชนอาวุโสมีโอกาสได้รับการจัดสรรให้ในราคา 60 บาทด้วยเช่นเดียวกัน จำนวนคนละ 10,000 หุ้น ปรากฏว่ามีคนวิ่งเต้นขอซื้อนอกตลาดในราคา 100 บาท ผมกอดแน่นไม่ยอมขายนอกตลาด คิดว่าอย่างน้อยตัวเองจะต้องได้กำไรมากกว่านั้นเมื่อหุ้นเข้าทำการซื้อ-ขาย จึงอดทนถือไว้ก่อน

ด้วยความสนิทสนมกับท่าน (พี่) ถึงวันนี้ (เวลาผ่านไปเฉียด 30 ปี) สามารถเปิดเผยได้ว่าได้รับหุ้นมากกว่าเพื่อนพ้องเป็นเท่าตัว ซึ่งผมก็ไม่ได้ปิดบังอะไร แต่ถึงจะปิดก็คงไม่ได้เพราะในแวดวงนายทหารรอบๆ ตัวท่าน (พี่) ต่างปล่อยข่าวกันวุ่นวาย

ทำให้เพื่อนพ้องหยอกเย้าว่าท่าน (พี่) ลำเอียง รักเมตตาผมมากกว่าสื่อมวลชนคนอื่นๆ

 

แต่ทั้งผมและกลุ่มเพื่อนสื่อมวลชนอาวุโส (ถึงวันนี้เสียชีวิตไปหลายคนแล้ว) ทั้งหลายต่างไม่ทราบว่าในแวดวงลูกน้องสนิทสนม ผู้เสนอตัวเข้ามาดูแลผลประโยชน์ของท่าน (พี่) พวกนั้นเขาได้รับแจกหุ้นกันโดยทั่วหน้าในราคา 60 บาทเป็นจำนวนมากน้อยเท่าไร

ซึ่งฉากสุดท้ายหุ้นการบินไทย และผลประโยชน์ ฯลฯ เหล่านั้นกลับตกไปอยู่ในมือของคนกลมกลิ้งลิ้นดีบางคนที่กล้าเสนอว่าตัวเองจะสร้างกำไรให้จำนวนมาก จะดูแลผลประโยชน์เรื่องหุ้นให้ท่าน และลูกน้องรอบตัว ปรากฏว่าพังราบเมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป

ว่ากันว่าน้องชายของ (พี่) ท่าน หรือ “น้องพี่หมอ” ฟาดไปเรียบ? และยังทิ้งขยะไว้ให้เก็บกวาดอีกจำนวนมาก

“หุ้นการบินไทย” เมื่อเข้าไปทำการซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันแรกราคาไม่ถึง 60 บาท และต่ำเตี้ยลงเรื่อยมา จำได้ว่าเคยเกิน 60 บาทเพียงครั้งเดียวประมาณปี พ.ศ.2542-2543 นอกจากนั้น ดิ่งเหวตลอด เพื่อนๆ ที่เคยกล่าวหาว่า “ท่าน (พี่)” เมตตาผมมากกว่าสื่อมวลชนอาวุโสคนอื่นๆ ต่างเปลี่ยนคำพูดว่า ท่าน (น่าจะ) เกลียดผมมากกว่าต่างหาก

เขียนถึงความหลังเรื่องเก่าๆ เดิมๆ อย่างไม่ยึดติด บางทีก็มีความสุขไปอีกแบบหนึ่งได้เหมือนกัน แต่ต้องคิดเสียว่า เราได้ทำนมหกจากกล่องลงบนสนามหญ้าไปแล้ว

ถึงยังไงก็เอาคืนไม่ได้

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่