วรศักดิ์ มหัทธโนบล : “ไกรศักดิ์” คลังปัญญากลุ่มราชครู

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

อินเทลลิเจนท์เซียแห่งซอยราชครู (1)

“…ไกรศักดิ์ ชุณหวัณและมินจาภรรยา…ลูกชายและลูกสะใภ้ชาวเกาหลีญี่ปุ่นของรัฐมนตรีชาติชาย…กลับมาเยี่ยมบ้านระหว่างปิดเทอม…ทั้งสองเป็นนักเรียนหัวก้าวหน้าในมหาวิทยาลัยลอนดอน…กลับมาบ้านคราวนี้ หลายคนเห็นไปนั่งกินข้าวกลางวันกับแกนคนหนึ่งของพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้า…ก้มหน้าถกกันอย่างจริงจังฉันมิตร…”

คอลัมน์ข่าวกรอง, จัตุรัส,

ปีที่ 2, ฉบับที่ 27, (วันอังคารที่ 13 มกราคม 2519), หน้า 1.

ข้อความข้างต้นที่ยกมาโดยคงตัวสะกดและวรรคตอนเอาไว้เหมือนต้นฉบับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวสะกดนามสกุลของเจ้าตัวนั้นผิด แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่ยกข้อความข้างต้นมาเพื่อเปิดเรื่องที่จะเขียน หากแต่อยู่ตรงที่ว่า ข้อความดังกล่าวอาจนับเป็นครั้งแรกที่ชื่อของไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้ปรากฏในสื่อสาธารณะ

และเป็นครั้งแรกของผมที่ได้ยินชื่อนี้

ผมก็เหมือนฝ่ายซ้ายเวลานั้น ที่ว่าเมื่อเห็นใครที่น่าจะอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับเราแล้วมีทีท่าที่จะอยู่ฝ่ายเดียวกับเราก็ย่อมรู้สึกยินดี เพราะใครๆ ก็รู้ดีว่าบิดาของไกรศักดิ์เป็นนักการเมืองสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายขวา และมีหัวหน้าพรรคที่เป็นเจ้าของวลี “ขวาพิฆาตซ้าย”

ดังนั้น การที่มีข่าวว่าบุตรของฝ่ายขวาไปคุยกับฝ่ายซ้ายจึงย่อมชวนให้แปลกใจและสนใจ

 

แต่หลังจากปรากฏชื่อในครั้งนั้นแล้วก็ไม่มีข่าวคราวของไกรศักดิ์อีกเลย

โดยที่ในปลายปีเดียวกันนั้นได้เกิดการรัฐประหารครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ฝ่ายซ้ายถูกฝ่ายขวาพิฆาตอย่างนองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม ตกเย็นการยึดอำนาจก็เกิดขึ้น จากนั้นอีก 2-3 ปีต่อมา ชื่อของไกรศักดิ์ก็มาปรากฏขึ้นอีกครั้งในฐานะอาจารย์ทางรัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตอนนั้นบรรยากาศทางการเมืองเริ่มผ่อนคลาย นักศึกษาฝ่ายซ้ายเริ่มปรากฏตัวและจัดกิจกรรมการเมืองอีกครั้งหนึ่ง

และกิจกรรมหนึ่งที่ขาดแทบไม่ได้ก็คือ การจัดอภิปรายที่กำหนดหัวข้อตามสถานการณ์ โดยหนึ่งในผู้อภิปรายที่ได้รับเชิญอยู่เสมอก็คือ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และที่ต้องเป็นเช่นนั้นก็เพราะสิ่งที่ไกรศักดิ์พูดโดนใจนักศึกษาอย่างมาก

ไม่ต้องอื่นไกล เพียงแค่การทักทายด้วยประโยคแรกที่ว่า สหายทั้งหลาย….หรือ สวัสดี…สหาย…

นักศึกษาก็เฮกันเกรียวแล้วปรบมือลั่นห้องประชุม จนทำให้ผมอดคิดถึงหนังสือรวมงานนิพนธ์ของผู้นำฝ่ายซ้ายไม่ได้ ที่ส่วนหนึ่งเป็นคำปราศรัยของผู้นำคนนั้นซึ่งมักจะเริ่มต้นทักทายผู้ฟังในแบบที่ว่า แล้วจะมีวงเล็บต่อท้ายคำทักทายว่า

…(เสียงปรบมือยาวนานสิบนาที)…

จากนั้นคำอภิปรายของไกรศักดิ์ก็จะพรั่งพรูออกมาด้วยลีลาที่ปลุกเร้าและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในทางภาษาที่ทำให้เห็นว่า คนพูดคงใช้ชีวิตอยู่ในตะวันตกมานาน เวลาพูดจะติดลีลาแบบฝรั่ง

นั่นคือ เปิดเผยและตรงไปตรงมา แต่แฝงด้วยภาษาไทยที่ไม่คุ้นลิ้น

 

หลังจากที่ผมเรียนจบออกมาทำงานแล้วก็ยังติดตามข่าวคราวของไกรศักดิ์อยู่เสมอ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะงานที่ผมทำยังคงเกี่ยวพันกับการเมือง จนครั้งหนึ่งองค์กรที่ผมสังกัดได้เชิญเสน่ห์ จามริก ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาบรรยาย และเชิญไกรศักดิ์มาเป็นผู้วิจารณ์และซักถาม โดยตัวผมเป็นผู้ดำเนินรายการ

นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมได้พบกับไกรศักดิ์แบบใกล้ชิด

ไกรศักดิ์ยังคงมาในมาดเดิมแบบที่ผมเคยเห็นบนเวทีอภิปราย คือมีผมยาวปรกหู การแต่งกายสุภาพแต่ต้องตรงตามสมัยนิยม มีหนวดเคราที่คล้ายเลนินอดีตผู้นำคนแรกของรัสเซียในยุคคอมมิวนิสต์ ด้วยบุคลิกภาพดังกล่าวทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ไกรศักดิ์จะวางตัวอย่างไรเมื่อต้องวิจารณ์ผู้อาวุโสอย่างอาจารย์เสน่ห์ ซึ่งมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกับไกรศักดิ์โดยสิ้นเชิง

แต่สิ่งที่ผมพบกลับผิดคาด ไกรศักดิ์ในวันนั้นไม่เหมือนกับที่ผมเคยเห็นบนเวทีก่อนหน้านี้

ไกรศักดิ์ในวันนั้นเป็นคนสุภาพเรียบร้อย แม้การพูดอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมายังคงเดิมก็ตาม

แต่พอพูดเสร็จไกรศักดิ์ก็ยกมือไหว้อาจารย์เสน่ห์เหมือนขออภัย จนอาจารย์เสน่ห์ยกมือรับไหว้แทบไม่ทัน พร้อมกับขอให้ไกรศักดิ์พูดต่อไปตามสบาย

เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า ไกรศักดิ์เป็นเสรีชนที่รู้กาลเทศะ ผิดกับเสรีชนบางกลุ่มในทุกวันนี้

 

หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้พบกับไกรศักดิ์อีกเลย จนเมื่อมาทำงานให้กับกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั่นแล้ว ผมจึงได้พบกับไกรศักดิ์อีกครั้งหนึ่งและเป็นการพบกันที่บ่อยมาก ด้วยไกรศักดิ์เป็นสมาชิกกลุ่มที่ขยันขันแข็ง

การรู้จักครั้งนี้ทำให้ผมเห็นแง่มุมอื่นๆ ของไกรศักดิ์มากขึ้น และด้วยเหตุผลเรื่องงานทำให้ผมต้องไปบ้านของไกรศักดิ์ที่ซอยราชครูอยู่เสมอ

ความสัมพันธ์ที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ผมพบว่า ไกรศักดิ์ไม่เพียงจะเป็นคนจริงจังกับสิ่งที่ตนคิดและทำเท่านั้น แต่ยังเป็นคนที่คุยสนุกและมีอารมณ์ขัน ครั้งหนึ่งผมเคยถามไกรศักดิ์ถึงเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมว่าเคยมีปัญหาบ้างไหม ไกรศักดิ์ตอบว่า มีเหมือนกัน

แล้วเล่าว่า ตนเคยถูกตำรวจจราจรเรียกให้หยุดรถแล้วก็ขอดูใบขับขี่ แล้วตนก็ส่งใบขับขี่ให้ตามที่ขอ พอเห็นนามสกุลแล้วก็มองตนอีกทีแล้วบอกว่า

“…มันเป็นไปไม่ได้…”

หรือมีอยู่ครั้งหนึ่ง อาจารย์ท่านหนึ่งที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งมีผลงานวิชาการในแนวซ้ายๆ อยู่ประมาณหนึ่งได้เสนอผลงานชิ้นใหม่ให้กับกลุ่ม ผลงานชิ้นนี้ท่านไม่ได้ใช้ทฤษฎีฝ่ายซ้ายอย่างที่เคย แต่ใช้ทฤษฎีของนักวิชาการต่างสำนักพร้อมกับกล่าวยกย่องสำนักนั้น เรื่องนี้ก่อให้เกิดความแปลกใจแก่สมาชิกกลุ่มอย่างมาก พอไกรศักดิ์รู้เรื่องนี้เข้าก็พูดด้วยน้ำเสียงที่ผิดหวังว่า

“…อาจารย์เค้าละทิ้งการต่อสู้ทางชนชั้นไปแล้ว…”

 

นอกจากอารมณ์ขันแล้ว ไกรศักดิ์ยังมีอารมณ์ศิลปินอีกด้วย อารมณ์นี้ถูกแสดงผ่านการเล่นดนตรี ร้องเพลง การถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว การวาดภาพ และความรู้สึกที่มีต่องานวรรณกรรมและวรรณศิลป์ ครั้งหนึ่งผมเคยเห็นไกรศักดิ์เล่นพิณอีสานได้อย่างไพเราะ

ที่สำคัญ แม้ผมจะรู้จักไกรศักดิ์อย่างที่เล่ามาก็ตาม แต่ผมก็มิบังอาจที่จะกล่าวว่าตัวเองสนิทกับไกรศักดิ์ เพราะพอรู้จักไปนานๆ เข้าผมก็พบว่า ไกรศักดิ์เป็นคนที่มีมิตรสหายมากมายหลายวงการ โดยเฉพาะศิลปิน นักกิจกรรม และคนทำงานในองค์การพัฒนาเอกชน แต่ละคนจะพูดคุยสนทนากับไกรศักดิ์แบบกันเองและคุ้นเคยสนิทสนมกันดี

การทำงานของผมเดินมาถึงในวันหนึ่ง เมื่อองค์กรที่ผมทำงานอยู่มีดำริที่จะรวบรวมงานของไกรศักดิ์มาตีพิมพ์เป็นเล่มโดยใช้ชื่อหนังสือว่า สรรนิพนธ์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ โดยให้ผมเป็นบรรณาธิการ

ผมจึงรวบรวมผลงานวิชาการของไกรศักดิ์มาจนคิดว่าน่าจะครบแล้วก็สั่งพิมพ์ปกรอไว้ จากนั้นก็เตรียมบรรณาธิกรต้นฉบับทั้งหมด ซึ่งคงใช้เวลาอีกนานนับเดือนกว่าจะเสร็จ ระหว่างที่อ่านบทความของไกรศักดิ์อยู่นั้น ทำให้ผมตระหนักถึงความเป็นซ้ายของไกรศักดิ์ในแง่ที่มิใช่ซ้ายอย่างที่ซ้ายไทยเป็นกัน

แต่ถ้าเรียกตามฝ่ายซ้ายตะวันตกแล้วก็คือ ซ้ายใหม่

คือเป็นซ้ายที่ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องผิดพลาดของซ้ายเก่า และชูประเด็นในการต่อสู้ใหม่ๆ ที่ซ้ายเก่าไม่เคยให้ความสนใจ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ซึ่งเป็นประเด็นที่ซ้ายเก่าเองก็มีส่วนในการก่อปัญหาขึ้นมาเช่นกัน

 

ต้นฉบับที่จะตีพิมพ์นี้รวมเฉพาะบทความภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งผมขอนำข้อมูลผลงานของไกรศักดิ์ที่รวบรวมโดย ดร.กนกศักดิ์ แก้วเทพ อดีตรองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มาแสดงต่อ ดังนี้

พ.ศ.2522 “ความด้อยพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงในชนบท,” ที่ระลึก 23 ตุลาคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2522, หน้า 42-49.

พ.ศ.2524 “บทวิเคราะห์กัมพูชา,” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง, ปีที่ 1, เล่มที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2524), หน้า 55-88.

พ.ศ.2529 “ทุน ชนชั้น และการเมืองไทยปัจจุบัน,” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง, ปีที่ 5, เล่มที่ 3-4 (เมษายน-กันยายน 2529), หน้า 89-103.

นอกจากบทความดังกล่าวแล้วก็ยังมีอีกชิ้นหนึ่งที่ไกรศักดิ์เขียนร่วมกับพรชัย คุ้มทวีพร ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเป็นนิสิตบัณฑิตวิทยาลัย ภาควิชาปรัชญา จุฬาฯ บทความชิ้นนี้มีชื่อว่า “บททดลองเสนอ : สังคมนิยมในเอเชียเชิงทฤษฎี” และใช้สำหรับเสนอในการประชุมสมัชชาวิชาการสังคมศาสตร์ปี 2526 ที่จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ

บทความชิ้นนี้หนา 92 หน้า และมิได้ถูกเผยแพร่ในวงกว้าง แต่ที่สะดุดใจก็คือ ตอนจบของบทความที่ปิดท้ายด้วยข้อความที่แฝงความนัยบางอย่างที่ว่า

ราชครูวิลล่า, กลางพายุฝน, กรกฎาคม 2526

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่