นักการเมืองสงสัย รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ทำไมอำนาจพิเศษยังอยู่

หากความเห็นจาก “นักการเมือง” ไม่ว่า นักการเมือง 2 พรรคใหญ่ พรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่พรรคขนาดกลาง อย่างพรรคชาติไทยพัฒนา กับพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะความเห็นหลังการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ต่างก็ออกมาพูดในเป็นเสียงเดียวกัน

แม้ว่าในช่วงระหว่างการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ต่อมาถูกเรียกว่า ฉบับปี 2560 พรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่แสดงจุดยืน “ไม่รับ” อย่างชัดเจน

หรือแม้ว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา จะให้สัมภาษณ์ก่อนเสียชีวิตว่า “รับได้” ก็จริง แต่บรรดาคนใกล้ชิดอย่าง “เสี่ยตือ” สมศักดิ์ ปริศนานันกุล หรือแม้แต่ “นิกร จำนง” ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก 1 ในแม่น้ำ 5 สายก็ให้ความเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ในหลายประเด็น

เพราะต้องยอมรับว่า เหตุที่ต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันก็เพราะการมาถึงของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการเริ่มต้นนับ 1 เป็นการส่งสัญญาณให้บรรดานักการเมืองที่รอกลับคืนสู่สนามเลือกตั้งได้เตรียมตัว

ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งทั่วไปภายใต้กฎกติกาใหม่อีกด้วย

จึงไม่แปลกที่จะมีข่าวปล่อยออกมาตั้งแต่ “ไก่โห่” ทันทีที่หมายกำหนดการพระราชพิธีประกาศรัฐธรรมนูญเผยแพร่ออกมาว่า จะมีสมาชิกของแม่น้ำสายต่างๆ จ่อทิ้ง “เรือแป๊ะ” หนีคุณสมบัติต้องห้าม ขอว่ายน้ำขึ้นฝั่งแต่งตัวเตรียมลงเลือกตั้ง ส.ส. กันออกมาตั้งแต่เนิ่นๆ

ขณะเดียวกันก็ยังมีหัวหน้าพรรคการเมืองอย่างน้อยๆ 2 พรรคออกมาประกาศท่าทีชัดเจนถึงความพร้อมต่อการเลือกตั้งแล้วเช่นกัน

นั่นคือ “หัวหน้ามาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ กับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อไหร่ เพราะแม้แต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็ยังไม่กล้าที่จะยืนยัน

แต่ถ้าดูจากรัฐธรรมนูญก็ประเมินได้ว่า ยังอีกนานพอสมควร อย่างน้อยๆ ภายในปี 2560 จะไม่มีการเลือกตั้งอย่างแน่นอนแล้ว

ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า ทั้งๆ ที่ยังอีกไกล อย่างน้อยก็ 16-18 เดือน ทำไมนักการเมืองจึงรีบแสดงทัศนะถึงการเริ่มต้นนับ 1 สู่การเลือกตั้งกันตั้งแต่เนิ่นๆ ทำไมหัวหน้าพรรคการเมืองถึงรีบประกาศความพร้อมสู่การลงสนามเลือกตั้ง

หากฟังเนื้อหาอันเป็นเหตุผล 3 ข้อที่พรรคเพื่อไทยได้แถลงจุดยืนผ่านสื่อมวลชนไปยังรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ก็น่าจะพอเข้าใจ

ข้อแรก 6 เมษายน คือจุดเริ่มต้นของกระบวนการคืน “ประชาธิปไตย” ให้แก่ประชาชน ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่อง “เศรษฐกิจ” นั่นเอง

ดังนั้น รัฐบาลและ คสช. ควรเร่งดำเนินการตามกระบวนการต่างๆ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ในกรอบระยะเวลาตามที่นายกฯ และหัวหน้า คสช. เคยประกาศมาตลอด ทั้งในประเทศและในเวทีโลกว่า ได้วางโรดแม็ปการเลือกตั้งไว้ต้นปี 2561

เพราะในช่วง 5 เดือนเศษที่ผ่านมาก็ได้มีการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ “กฎหมายลูก” แล้วในระดับหนึ่ง

ข้อสอง รัฐบาลและ คสช. ไม่สมควรใช้ “อำนาจพิเศษ” ใดๆ ในฐานะที่อ้างว่าเป็น “”รัฏฐาธิปัตย์” และควรยกเลิกประกาศและคำสั่งต่างๆ ของ คสช. ที่ไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

และ ข้อสาม รัฐบาลและ คสช. ควรสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้ง และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ด้วยการยึดมั่นผลักดันให้องค์กรของรัฐทุกองค์กรยึดหลักนิติธรรมในการดำเนินงาน ปราศจากอคติ ไม่เลือกปฏิบัติ

อีกทั้งยังต้องเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายต่างๆ รวมถึงการตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลและองค์กรของรัฐอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นแบบอย่างอันดีในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ถือเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญ

หากดูคำให้สัมภาษณ์ของ “หัวหน้ามาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ก็น่าจะเข้าใจ

โดยเฉพาะการพุ่งเป้าไปที่ที่มาของบรรดา “วุฒิสภา” ชุดแรกที่จะถูกแต่งตั้งโดย คสช. จำนวน 250 คน ตามที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนด

“ที่ผ่านมา ปัญหาการเมืองไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย แต่เกิดจากพฤติกรรมของคนการเมือง การวางกลไก เช่น การมี ส.ว. ที่มีอำนาจเพิ่มขึ้น ถ้าไม่ระมัดระวังก็จะเป็นปมความขัดแย้งใหม่ได้ ผมได้เตือน เพราะมีความพยายามที่จะทำข้อตกลงระหว่างพรรคการเมือง ผมบอกว่าต้องเอา ส.ว. มาทำข้อตกลงด้วยให้เป็นหลักประกันว่า 250 คนต้องตระหนักว่าเป็นตัวแทนปวงชน ไม่ใช่ตัวแทนของคนที่ตั้งหรือสรรหามา” นายอภิสิทธิ์กล่าว

หรือ ยิ่งหากดูท่าทีของบรรดาแกนพรรคการเมืองใหญ่ พรรคขนาดกลาง ไม่ว่า นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ไม่ว่า นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล หรือไม่ว่า นายวัฒนา เมืองสุข ที่ดาหน้ากันออกมาพูด

โดยเฉพาะการรับรองอำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 267 กับคำสั่งหัวหน้า คสช. เกี่ยวกับการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมพรรค ก็ยิ่งจะเข้าใจ

เพราะทุกประเด็นล้วนเป็นประเด็นที่ คสช. ถูกตอกย้ำ ซ้ำเติมมาตลอดนับตั้งแต่วันยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 และเรื่อยมาจนกระทั่งเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ การปิดกั้นการรณรงค์ในช่วงการทำประชามติ

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องข้อสงสัยในการสืบทอดอำนาจตัวเอง

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจ หากระยะเวลาจากเดือนเมษายน 2560 เรื่อยไปจนจะถึงการนับ 1 สู่การเลือกตั้งอย่างแท้จริงนั้น คสช. จะถูกนักการเมืองนำข้อสงสัยในเรื่องการสืบทอดอำนาจมาเป็นประเด็น

และเชื่อได้เลยว่าทุกพรรค แม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทยที่ว่ากันว่าแนบแน่นอย่างยิ่งกับ คสช. ก็จะดาหน้ากันออกมาพูด

เพราะประเด็นทั้งหมดถือเป็นการแสดงจุดยืนของแต่ละพรรคการเมืองต่อข้อสงสัยต่างๆ เพื่อนำเสนอตัวเองให้ประชาชนล่วงหน้าก่อนที่โหมดการเลือกตั้งจะมาถึง