วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สุคติใต้เงาจันทร์

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

นับแต่ต้นปีจนถึงกลางปี 2020 แวดวงจีนวิทยาได้สูญเสียนักคิดนักเขียนในสายนี้ไปสองคน คนหนึ่งคือ อดุลย์ รัตนมั่นเกษม อีกคนคือ เรืองรอง รุ่งรัศมี หรือรุ่งโรจน์ กำจรจรุงวิทย์ ที่เป็นชื่อจริงของเขา

ทั้งสองเป็นกัลยาณมิตรในระหว่างกันและของผม แต่ด้วยปัญหาสุขภาพของคนทั้งสอง ผมจึงรู้จักกับเขาทั้งสองไม่เท่ากัน

ที่ว่าเป็นปัญหาสุขภาพก็เพราะคนแรกต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็นตลอดเวลา การไปมาหาสู่จึงไม่สู้สะดวก ยิ่งช่วงราวสิบปีที่ผ่านมาที่ท่านได้ย้ายที่อยู่ไปไกลด้วยแล้ว เราก็ไม่ได้พบกันอีกเลย นอกจากการติดต่อกันทางโทรศัพท์และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์นานๆ ครั้ง

ส่วนคนหลังซึ่งมีปัญหาสุขภาพเช่นกัน แต่ยังเดินเหินได้ การไปมาหาสู่จึงสะดวกกว่า

แต่ที่เหมือนกับคนแรกก็คือ กว่าสิบปีที่ผ่านมาคนหลังได้ย้ายที่ไกลเช่นกัน เราจึงไม่ได้ไปมาหาสู่ดังที่เคย พบกันครั้งสุดท้ายก็ในมื้อเที่ยงที่เรือนอินทร์ ของสุจิตต์ วงษ์เทศ เมื่อไม่กี่ปีก่อน

การรู้จักใกล้ชิดที่แตกต่างกันทำให้ผมเขียนถึงคนหลังได้มากกว่าคนแรก

 

คนแรกคืออดุลย์นั้น ผมรู้จักโดยผ่านการแนะนำของคนหลัง (เรืองรอง) สิ่งที่น่าทึ่งของอดุลย์ก็คือ ตอนที่เขาประสบอุบัติเหตุจนต้องเข้าโรงพยาบาลนานนับปี และเมื่อออกมาแล้วต้องใช้ชีวิตบนรถเข็นไปตลอดชีวิตนั้น อดุลย์เล่าว่า ตัวเขามีความรู้ภาษาจีนแบบลูกจีนทั่วไปที่เรียนมาน้อย ครั้นต้องนอนที่โรงพยาบาลนานเช่นนั้นก็เกิดมานะที่จะเรียนภาษาจีนขึ้นมา เขาใช้วิธีอ่านและท่องพจนานุกรมจนจดจำคำจีนได้เป็นจำนวนมาก พร้อมกันนั้นก็ฝึกหลักภาษาจีนควบคู่กันไปด้วย

จนใช้ภาษาจีนได้ดี…!!!

เมื่อกลับมาอยู่บ้านที่กรุงเทพฯ แล้ว อดุลย์ก็ใช้ภาษาจีนด้วยการสร้างสรรค์ผลงานด้านจีนวิทยาหาเลี้ยงชีพ ผลงานด้านนี้มีอยู่มากมายนับสิบเล่ม

ด้วยจำนวนที่มากมายเช่นนั้น ผมไม่รู้ว่าอดุลย์เคยรวบรวมรายชื่อผลงานของตัวเองไว้หรือไม่ หรือมีใครที่ได้รวบรวมเอาไว้ หากทำได้ก็คงมีประโยชน์ต่อแวดวงจีนวิทยาไม่น้อย

ในจำนวนผลงานที่มากมายนั้น มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญ และขอยกมาเป็นตัวอย่างพอให้ได้เห็นถึงความสามารถของอดุลย์ ผลงานนั้นคือ รากเหง้าเผ่าจีน (2548)

เป็นหนังสือที่บอกเล่าความเป็นมาของคนจีนตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ จนถึงเมื่อคนจีนก่อร่างสร้างตัวเป็นอู่อารยธรรมของโลกดังที่รู้กัน

หนังสือเล่มนี้ทำให้รู้ว่า กว่าคนจีนจะมาเป็นคนจีนที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้นั้น ชนชาตินี้ได้ผ่านอะไรมาบ้าง และที่ผ่านมานั้นมีอะไรที่ดีและไม่ดีบ้าง

อย่างหลังนี้อดุลย์ไม่ได้บอกเราตรงๆ เสียเลยทีเดียว แต่อ่านแล้วเราจะรู้ได้โดยนัย เช่น รู้ว่าจีนสร้างกำแพงเมืองจีนเพื่อป้องกันมิให้ชนเผ่าอื่นมารุกรานก็จริง

แต่อีกด้านหนึ่งก็รู้ด้วยว่า ดินแดนที่จีนยึดครองจนต้องสร้างกำแพงขึ้นมาปกป้องนั้น แต่เดิมก็มิใช่ดินแดนของจีน หากเป็นของชนเผ่าอื่นที่จีนไปตีชิงแล้วยึดเอามา

ความยากของหนังสือเล่มนี้จึงอยู่ตรงที่จะเขียนอย่างไรให้คนอ่านไม่รู้สึกถึงฉันทาคติหรืออคติของคนเขียน และอดุลย์ก็ทำได้ดีตรงจุดนี้

ผลงานชิ้นสุดท้ายของอดุลย์ก่อนเสียชีวิตเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหารจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแต้จิ๋ว จนทำให้เรารู้ว่าอดุลย์เป็นจีนแต้จิ๋ว และมีฝีมือในการทำอาหารอยู่ไม่น้อย

จนเรียกได้ว่า หากสุขภาพร่างกายของเขาเป็นปกติดังคนทั่วไปแล้ว อดุลย์สามารถเป็นเถ้าชิ้ว (กุ๊กหรือเชฟ) อาหารจีนได้อย่างสบายๆ

งานเขียนชุดนี้อดุลย์เขียนเป็นตอนๆ ตีพิมพ์ในผู้จัดการรายวัน เขาเขียนจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เขียนจนไม่อาจเขียนได้อีกต่อไปจึงหยุดเขียน และลาจากโลกนี้ไปในที่สุด

 

อีกคนคือ เรืองรอง รุ่งรัศมี ซึ่งผมมักเรียกเขาผ่านชื่อนี้มากกว่าจะเรียกชื่อจริง แล้วผมก็พบว่า หลายคนก็เรียกเขาแบบที่ผมเรียก จนผมไม่แน่ใจว่าจะมีใครสักกี่คนที่จะจำชื่อตัวและชื่อสกุลจริงของเขาได้

ผมรู้จักเรืองรองผ่านผลงานของเขาก่อนที่จะรู้จักตัวจริง และรู้จักตัวจริงก็จากการแนะนำของเพื่อนรุ่นน้องที่ทำงานอยู่ในผู้จัดการรายวัน ซึ่งเป็นคนดูแลงานเขียนของนักเขียนประจำ (columnist) และเรืองรองก็เป็นหนึ่งในนักเขียนประจำในขณะนั้น

แต่นั้นมาผมกับเรืองรองก็พบกันแทบทุกสัปดาห์ในร้านที่พวกเรานั่งประจำแถวถนนพระอาทิตย์

เรืองรองเข้าสู่แวดวงจีนวิทยาคล้ายๆ กับอดุลย์ ตรงที่เริ่มด้วยความมานะบากบั่น โดยก่อนเข้าสู่แวดวงนี้เขาเคยอยู่ชมรมวรรณศิลป์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาก่อน

ผมเคยเห็นเรืองรองเดินเข้า-ออกชมรมนี้อยู่บ่อยครั้ง เพราะชมรมที่เขาอยู่กับชมรมที่ผมอยู่ต่างอยู่ในอาคารเดียวกัน แต่เราก็ยังไม่ได้รู้จักกันพอที่จะทักทายกันได้

ครั้นพอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 1976 (2519) เรืองรองก็หายหน้าหายตาไปจากมหาวิทยาลัย

เขาเล่าว่า หลัง 6 ตุลา เขาตัดสินใจเดินทางไปใช้ชีวิตที่ไต้หวัน เวลานั้นความรู้ภาษาจีนของเขาพอตัวอยู่ เรืองรองใช้ชีวิตในไต้หวันอย่างค่อนข้างระมัดระวังไม่ต่างกับไปตายเอาดาบหน้า โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพของเขาที่ย่ำแย่พอๆ กับอดุลย์ และในกรณีของเรืองรองก็คือ เขามีปอดที่ทำงานผิดปกติ

ปัญหาที่หนักที่สุดของปัญหาปอดก็คือ มันทำให้เขานอนได้ไม่สนิทและไม่เป็นสุข

ครั้งหนึ่งที่เราไปสัมมนาที่ต่างจังหวัดด้วยกัน ผมได้คุยกับเขาในห้องพักของเขาตามที่เจ้าภาพจัดให้ ตอนหนึ่งเขาถอดเสื้อออกแล้วชี้ให้ผมดูร่างกายของเขาแล้วเล่าว่า จุดที่เขาชี้คือจุดที่ปอดทำงานไม่ปกติอย่างไร

ความรู้จากคืนนั้นทำให้ผมเอาใจใส่เรืองรองนับแต่นั้นมา โดยครั้งหนึ่งเรืองรองมาค้างที่บ้านผมในเทศกาลตรุษจีนนั้น ผมจัดที่นอนให้เขาชนิดที่ให้เขานอนหลับให้ได้ดีที่สุด

และเวลาที่เรา “ดื่มปัญญาแกล้มวิวาทะ” จนดึก ผมมักอาสาไปส่งเขาถึงบ้านที่เยาวราชอยู่เสมอ

 

พอรู้จักเรืองรองนานปี ผมพบว่า ภายใต้ผลงานเรื่องจีนของเขาที่ออกมาในแนวสารคดีหรือวรรณคดีนั้น เรืองรองพิถีพิถันกับการใช้ภาษาอย่างมาก บางครั้งที่เรืองรองติดปัญหา เขาจะถามผมด้วยความอ่อนน้อม ทั้งที่รู้ว่าภาษาจีนของผมด้อยกว่าเขามากมาย

มีอยู่ครั้งหนึ่งเราสนทนากันถึงโกวเล้ง (กู่หลง) นักเขียนนิยายจีนกำลังภายในที่เลื่องชื่อในอดีต ว่าชื่อโกวเล้งที่ใครๆ ต่างแปลว่ามังกรโบราณ นั้น เรืองรองรู้สึกว่าถึงจะแปลไม่ผิด แต่ก็ยังไม่โดนใจ แต่เขาก็คิดไม่ออกว่าจะแปลอย่างไรแล้วก็ถามผม ผมตอบไปว่า มังกรลายคราม

เรืองรองฟังแล้วก็ยิ้มด้วยความพอใจแล้วว่า เข้าท่า

ตอนนั้น (จนถึงตอนนี้) ผมแอบภูมิใจอยู่ลึกๆ เพราะไม่นึกว่าขาใหญ่อย่างเรืองรองจะให้การยอมรับรุ่นน้องอย่างผม แต่ผมก็ไม่กล้าถามเขาว่า ตกลงเขาใช้ตามที่ผมแปลหรือไม่ เพราะกลัวเขาจะเปลี่ยนใจ สู้เก็บความภูมิใจที่ว่าเอาไว้นานๆ ดีกว่า

 

แต่ที่ควรกล่าวด้วยก็คือว่า ตอนที่ผมแปลอย่างนั้น ผลงานเรื่อง “เดียวดายใต้เงาจันทร์” ของเขาตีพิมพ์ไปแล้วหลายครั้ง และเล่มที่เขาให้ผมหลังรู้จักกันคือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 ในปี 1993 (2536) คือก่อนที่เราจะรู้จักกันถึง 4-5 ปี

ผมกับเรืองรองดำดิ่งกับการดื่มปัญญาแกล้มวิวาทะกันนานหลายปี ระหว่างนั้นเรืองรองทำให้ผมรู้ว่า เขาไม่เพียงเป็นเพื่อนที่มีใจนักเลงเท่านั้น แต่เวลาโกรธใครจะโกรธจริงจนผมเองยังรู้สึกกลัว การได้รู้จักเช่นนี้ทำให้ผมรู้ว่าเรืองรองชอบและไม่ชอบอะไร และทำให้เห็นว่า เรืองรองมีอารมณ์ศิลปินจริงๆ อันเป็นอารมณ์ที่ทำให้เขาสร้างสรรค์ผลงานด้านจีนวิทยาออกมามากมายไม่ต่างกับอดุลย์

และผลงานที่สะท้อนตัวตนของเขาได้ดีชิ้นหนึ่งก็คือ “เดียวดายใต้เงาจันทร์”

“เดียวดายใต้เงาจันทร์” แม้จะเป็นผลงานแปลคำพร่ำรำพันของโกวเล้งที่คล้ายกวี แต่เมื่อเรืองรองแปลออกมาแล้วก็ไม่ต่างกับเรืองรองเป็นคนเขียนเอง แต่จะด้วยเหตุใดไม่ทราบได้ที่ผมพบว่า ภายใต้อารมณ์แบบที่ว่า เรืองรองได้ทำให้ผมเห็นถึงอีกภาวะหนึ่งของเขา นั่นคือ ภาวะที่เป็นเหมือนเด็ก

คือเวลาที่พอใจในสิ่งใด เรืองรองจะยิ้มละไมอย่างมีความสุขเหมือนเด็กที่ได้ของเล่นที่ตนรอคอย

รอยยิ้มนั้นจะอยู่บนใบหน้าของเขานานเท่าที่ความสุขนั้นยังไม่จางหาย

 

ผมกับเรืองรองมาแยกจากกันยาวนานเกือบสิบปีหลังจากที่เขาย้ายบ้านไปอยู่ไกลแสนไกล จนพบกันอีกครั้งตามที่เล่าไว้ข้างต้น และมารู้ข่าวอีกทีก็ตอนที่เขาจากไปแล้ว เรืองรองจากไปเหมือนคนนอนหลับ ที่แม้แต่ญาติพี่น้องก็เข้าใจว่าเขานอนหลับ

การจากไปแบบนี้ของเรืองรองทำให้ผมรู้สึกว่า เขาได้นอนหลับสนิทจริงๆ เสียที ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอีกต่อไป

อดุลย์เกิดเมื่อ 1956 (2499) ส่วนเรืองรองเกิดเมื่อ 1953 (2496) ทั้งสองจากโลกไปเมื่อปลายเดือนมกราคมและพฤษภาคม ตามลำดับ จากไปในปีเดียวกันคือ 2020 (2563) และทิ้งผลงานด้านจีนวิทยาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

ผลงานของทั้งสองถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยที่ทั้งสองมิได้จบมหาวิทยาลัย หากเทียบวุฒิแล้วก็เท่ากับมัธยมศึกษาตอนปลาย เรื่องเช่นนี้จึงควรค่าแก่การคารวะด้วยสุราสักหลายจอก

ถึงตอนนี้ผมเชื่อว่า อดุลย์กับเรืองรองคงได้เจอกันแล้วในสุคติภูมิ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่