ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | #Saveวันเฉลิม ไม่ควรมีใครถูกทำอันตราย เพราะมีความเห็นต่าง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

การถูกอุ้มอย่างอุกอาจกลางกรุงพนมเปญของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ต้าร์” จุดประกายให้คนจำนวนมากมองรัฐบาลอย่างไม่พอใจ

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ความไม่พอใจต่อรัฐบาลกลายเป็นความหวาดระแวงว่ารัฐบาลอาจเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายคนไทยโดยไม่คำนึงถึงกฎหมายและมนุษยธรรม

แน่นอนว่า “วันเฉลิม” หรือ “ต้าร์” ไม่ใช่คนไทยคนแรกที่ถูกอุ้มหายในยุค คสช.

และด้วยเหตุที่การอุ้มหายที่อาจสูงถึง 9 ราย ล้วนจบลงด้วยการหายสาบสูญ หรือไม่ก็พบซากศพลอยน้ำด้วยคอนกรีตยัดท้องอย่างโหดเหี้ยม

การอุ้มหายจึงมีนัยถึงการถูกฆ่าแล้วทำลายศพเสมอ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

สำหรับผู้มีอำนาจที่พัวพันกับการอุ้มฆ่า ชีวิตประชาชนคือมดปลวกที่ทำลายได้เสมอ

แต่ท่าทีของสังคมในกรณีอุ้ม “วันเฉลิม” หรือ “ต้าร์” สะท้อนว่าประชาชนมองเรื่องนี้ไม่เหมือนผู้มีอำนาจ

ไม่มีใครยอมรับผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มฆ่า

และคนไม่น้อยระแวงว่าผู้มีอำนาจอาจเกี่ยวข้องจริงๆ

“วันเฉลิม” หรือ “ต้าร์” ถูกอุ้มโดยอาชญากรที่จงใจให้พี่สาวต้าร์ได้ยินเสียงพูดเป็นภาษากัมพูชาในวันที่ 4 มิถุนายน และการถูกอุ้มหายกว่าสัปดาห์แปลว่าต้าร์อาจไม่มีชีวิตต่อไปอีกแล้ว

การรอดชีวิตของต้าร์หมายถึงการเปิดโปงว่าอาชญากรคือใคร ต้าร์จึงอาจถูกทำให้สาบสูญเพื่อให้อาชญากรลอยนวล

เครือข่ายรัฐบาลสร้างกระแสว่า “ต้าร์” เป็นฝ่ายตรงข้าม คสช.จนสมควรถูกอุ้ม และถึงแม้หลักฐานทั้งหมดจะชี้ว่าต้าร์เป็นฝ่ายตรงข้าม คสช.จริงๆ ความพยายามของเครือข่ายรัฐบาลที่จะให้คนมองข้ามชีวิตต้าร์ก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เพราะการเป็นฝ่ายตรงข้าม คสช.ไม่ได้แปลว่าเขาอาจต้องตายฟรี

สำหรับผู้มีอำนาจที่มีสติสัมปชัญญะ คำถามที่ต้องคิดคือ อะไรทำให้คนในประเทศระแวงว่ารัฐบาลหรือพวกพ้องเกี่ยวข้องกับการอุ้ม

และอะไรทำให้การสร้างกระแสว่าต้าร์เป็นฝ่ายตรงข้าม คสช.ไม่สามารถยุติเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมจากคนจำนวนมากที่ไม่เคยรู้จักต้าร์มาก่อนเลย

มีรายงานข่าวว่าทางการไทยเคยทำหนังสือถึงกัมพูชาเพื่อขอตัว “วันเฉลิม” หรือ “ต้าร์” พร้อมบุคคลอื่นอีกสามราย

แต่ในเมื่อเรื่องนี้ไม่ใช่ข่าวซึ่งปรากฏในที่สาธารณะ คนทั่วไปจึงไม่รับรู้ ความระแวงว่ารัฐบาลเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นเป็นใจจึงไม่ได้จากข่าวแบบนี้มากเท่าพฤติกรรมของฝ่ายรัฐบาลเอง

สื่อและองค์กรสิทธิทั้งหมดยืนยันว่ารัฐประหารปี 2557 ทำให้ผู้เห็นต่างจาก คสช. ต้องลี้ภัยอย่างน้อย 104 ราย และถูกอุ้มหายทั้งที่พบและไม่พบศพ 6-9 ราย โดยรัฐบาลไม่เคยเป็นธุระในการดำเนินคดีแม้แต่รายเดียว พฤติกรรมรัฐบาลที่เป็นแบบนี้หกปีจึงทำให้ประชาชนมองรัฐบาลเป็นอื่นไม่ได้เลย

บทบาทรัฐบาลต่อผู้เห็นต่างตลอดหกปีทำให้คนระแวงรัฐบาล และ “ท่าที” ของสื่อฝ่ายรัฐบาลก็ยิ่งทำให้คนเชื่อว่ารัฐบาลเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ยิ่งขึ้นไปอีก

ตัวอย่างเช่น สถานีข่าวของ ส.ส.พลังประชารัฐสร้างกระแสว่า “วันเฉลิม” อาจไม่ได้โดนอุ้มจริงๆ ทั้งที่คลิปการอุ้มขึ้นรถก็ปรากฏให้เห็นคาตา

โดยปกตินั้นไม่มีประชาชนคนไหนที่อยากขัดแย้งกับรัฐบาลที่มีทหารหนุนหลังทั้งทางตรงและอ้อมอย่างกลุ่ม คสช. การที่ประชาชนสงสัยว่ารัฐบาลรู้เห็นเป็นใจกับการอุ้ม “วันเฉลิม” จนแสดงอาการไม่พอใจออกมาตรงๆ คือสัญญาณว่าความรู้สึกที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลได้เสื่อมถอยถึงจุดที่น่าตกใจ

ท่ามกลางคนเห็นต่างจากรัฐบาลที่ต้องหนีตายและถูกอุ้มหายมาตลอดหกปี “วันเฉลิม” หรือ “ต้าร์” คือผู้ลี้ภัยคนแรกที่การหายตัวเป็นประเด็นสาธารณะขนาดนี้

ความกลัวเกรงรัฐบาลที่เป็นเสมือนกระบอกปืนจ่อหัวประชาชนได้อ่อนแอถึงที่จุดประชาชนกล้าปกป้องคนซึ่งขัดแย้งกับรัฐบาล คสช.

ตรงข้ามกับหกปีก่อนที่รัฐบาลทหารถูกอวยราวรัฐบาลเทวดา สื่อทุกแขนงและ “โซเชียล” พูดถึงเหตุอุ้ม “วันเฉลิม” หรือ “ต้าร์” ในแบบที่เป็นลบกับรัฐบาลทั้งสิ้น

คำพูดที่ดังกึกก้องในยุคสมัยนี้คือชีวิตทุกคนมีคุณค่า และไม่ควรมีใครถูกอุ้ม, ทำอันตราย หรือเข่นฆ่า เพียงเพราะเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ

ด้วยผลเลือกตั้งที่ประชาชนเลือกพรรคซึ่งไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ มากกว่าพลังประชารัฐถล่มทลาย พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่คนที่ประชาชนต้องการให้เป็นนายกฯ มานานแล้ว แต่ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่การแสดงออกว่าหวาดระแวงรัฐบาลประยุทธ์จะมากเท่าการอุ้ม “วันเฉลิม” หรือ “ต้าร์” ในปัจจุบัน

ปฏิกิริยาต่อการอุ้ม “วันเฉลิม” สะท้อนความไม่ไว้ใจที่ประชาชนมีต่อผู้มีอำนาจ

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือความมั่นใจในการแสดงออกที่แผ่ขยายสู่ดาราและนักร้องอย่างมารีญา, ฮิวโก้, ฝ้าย BNK48 ฯลฯ ซึ่งปกติหลีกเลี่ยงการแสดงตัวแบบนี้ แต่กลับกล้าพูดเรื่องผู้ลี้ภัยซึ่งถูกอุ้มหรือจบชีวิตอย่างโหดเหี้ยม

ถ้าวัฒนธรรมคือพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงและขัดขวางการเปลี่ยนแปลงในสังคม #Saveวันเฉลิม คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนว่าความอึดอัดต่อรัฐบาลได้ยกระดับจาก “เหตุผลทางการเมือง” ประเภทเผด็จการ/ประชาธิปไตย เป็น “วัฒนธรรมร่วมสมัย” ที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มไปแล้วอย่างสมบูรณ์

ประเทศไทยมีความขัดแย้งระหว่างทหารกับประชาชนหลายครั้งก็จริง แต่ไม่เคยมีความขัดแย้งครั้งไหนที่คนในชาติต้องหนีตายไปนอกประเทศแบบนี้ สังคมที่พลเมืองกลายเป็น “ผู้ลี้ภัย” คือสังคมที่รัฐบาลเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งของประชาชนจนความอึดอัดต่อรัฐบาลตกผลึกเป็น “วัฒนธรรม”

ขณะที่การอุ้มผู้ลี้ภัยการเมืองอย่าง “สุรชัย แซ่ด่าน” หรือ “ลุงสนามหลวง” โหดเหี้ยมหรือลับหูลับตาจนง่ายที่รัฐบาลจะปิดข่าวให้หายไป การอุ้ม “วันเฉลิม” เกิดกลางกรุงพนมเปญโดยมีหลักฐานเป็นคลิปจนรัฐบาลไม่สามารถปิดแผ่นฟ้าแห่งสัจจะด้วยฝ่ามือแห่งความกลัวได้อย่างที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยอ้างว่าไม่รู้ว่าวันเฉลิมคือใคร แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่วันเฉลิมลี้ภัยเพราะไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศตอนยึดอำนาจปี 2557

คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่มีผลอะไรเลยนอกจากตอกย้ำความเป็นพินอคคิโอของตัวเอง

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลคิดว่าการอุ้ม “วันเฉลิม” หรือ “ต้าร์” จะเงียบหายไปเหมือนความอำมหิตในการอุ้มผู้ลี้ภัยรายอื่นๆ ทำให้ประชาชนปิดปากเงียบไปในที่สุด เหตุอุ้ม “วันเฉลิม” หรือ “ต้าร์” นั้นโจ่งแจ้งจนรัฐบาลไม่สามารถปิดแผ่นฟ้าแห่งสัจจะด้วยฝ่ามือแห่งความกลัวได้ต่อไป

ตรงข้ามกับผู้มีอำนาจที่ปฏิเสธความรับผิดชอบกรณีอุ้ม “วันเฉลิม” ด้วยวาทกรรมและคำพูดลวงโลก การทวงถามความยุติธรรมให้วันเฉลิมวางอยู่บนหลักการที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมา นั่นคือชีวิตทุกคนมีคุณค่า และไม่ควรมีใครถูกอุ้มหรือทำอันตรายเพียงเพราะเห็นต่างจากผู้มีอำนาจในสังคม

นางงามอย่างมารีญาหรือนักร้องอย่างฝ้าย BNK48 เป็นตัวอย่างของวัฒนธรรมเสรีประชาธิปไตยที่เชื่อว่ารัฐเกิดเพื่อปกป้องชีวิตประชาชน แฮชแท็ก #Saveวันเฉลิม สะท้อนปรัชญาว่าประชาชนเห็นต่างจากรัฐบาลได้ ส่วนรัฐบาลและผู้มีอำนาจอื่นๆ ห้ามฆ่าประชาชนเพียงเพราะเห็นต่างจากรัฐบาล

คนจำนวนมากเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการเรื่องวันเฉลิมโดยให้เอกอัครราชทูตไทยในกัมพูชาประสานงานรัฐบาลกัมพูชาว่าเกิดอะไรขึ้น หรือไม่ก็คือให้รัฐบาลเชิญเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยมาหารือเรื่องนี้

แต่รัฐบาลไทยไม่ทำทั้งสองอย่างจนยิ่งสะท้อนว่าไม่สนชีวิตประชาชน

ด้วยการเพิกเฉยแม้กระทั่งในการทำงานแบบผักชีโรยหน้าอย่างแกล้งให้สถานทูตไทยสอบถามฝ่ายกัมพูชาเป็นพิธี “สาร” ที่รัฐบาลบอกกับคนไทยคือชีวิตคนไทยไม่มีค่า

ค่าของคนขึ้นอยู่กับความเป็นคนของรัฐบาล และใครที่ต่อต้านหรือเห็นต่างจากรัฐบาลนั้นไม่มีทางที่รัฐบาลจะปกป้องชีวิตให้เลย

การยึดอำนาจแล้วบริหารประเทศแบบเผด็จการหกปีคือหลักฐานของระบอบซึ่งคนไม่เท่ากัน แต่วิธีที่รัฐบาลและสถานทูตแทบไม่ทำอะไรจริงๆ ในกรณี “วันเฉลิม” คือการบอกว่าความเป็นคนเห็นต่างจากรัฐบาลส่งผลให้ได้รับการปฏิบัติจากหน่วยงานรัฐต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นตามไปด้วย

แน่นอนว่าถึงจุดหนึ่งกระแส #Saveวันเฉลิม ก็จะหายไปพร้อมกับการเกิดเรื่องฉาวใหม่ของรัฐบาล แต่การเพิกเฉยของรัฐในกรณีนี้คือการสะบั้นสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนให้หดหายลงไปอีก

ส่วนสิ่งที่เติบโตขึ้นได้แก่สำนึกว่ารัฐบาลไม่ใช่ของประชาชน และไม่ได้ทำเพื่อประชาชน

ท่ามกลางความเงียบของรัฐและการไม่ปฏิบัติภารกิจในการปกป้องชีวิตประชาชน เหตุอุ้ม “วันเฉลิม” ที่รัฐบาลไทยไม่ทำอะไรกำลังบอกคนไทยจำนวนมากว่ารัฐบาลคือภัยคุกคามชีวิต และวิธีเดียวที่ประชาชนจะมีชีวิตที่ปลอดภัยคือมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากบุคคลและระบอบในปัจจุบัน

ชีวิตของวันเฉลิมคือฟางอีกเส้นที่กำลังจะทำให้ความอดทนของประชาชนถึงจุดที่ไม่ต้องการทนอีกต่อไป


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่