“สมคิด”มอบนโยบายหน่วยงานด้านศก.ดูแลผลกระทบโควิด-19 ให้ครอบคลุม

“สมคิด”มอบนโยบายหน่วยงานด้านศก.ดูแลผลกระทบโควิด-19 ให้ครอบคลุมทุกราย เล็งตั้งกองทุนช่วยซื้อตราสารหนี้ในบริษัทตกเกณฑ์ สั่งเร่งหาแนวทางกระตุ้นการบริโภค ท่องเที่ยว ช่วยร้านค้า ตั้งโรงงานแจกอาหาร 1 มื้อช่วยประชาชน ย้ำ สศช.พิจารณาโครงการฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทอย่างมีคุณภาพ “อุตตม” เล็งหารือกกร.ถกแนวทางการฟื้นฟูศก.

วันที่ 8 มิถุนายน 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยต่อผู้บริหารหน่วยงานด้านเศรษฐกิจว่า ขณะนี้พ.ร.ก.ทางการเงินทั้ง 3 ฉบับช่วยเยียวยาและฟื้นฟูโควิด -19 ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ไปแล้ว และการเยียวยาเริ่มต้นไปแล้ว ขอให้มั่นใจว่าเงินเงินเยียวยาจะถึงมือประชาชนครบ โดยขอให้ปลัดกระทรวงการคลังประสานไปยังสำนักงานประกันสังคม เพื่อดูแลในประชาชนที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาให้ครบถ้วน

ส่วนในธุรกิจ พบว่ายังมีเอกชนบางรายยังเข้าไม่ถึง การดูแลของ  พ.ร.ก. ช่วยตราสารหนี้ 4 แสนล้านบาท  และ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน  5 แสนล้านบาท จึงฝากให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)เข้าไปช่วยดูแนวทางเพิ่มเติม เพื่อดูแลให้เอกชนเข้าถึงการช่วยเหลือ ซึ่งกระทรวงการคลังอาจใช้มาตรการทางด้านภาษีเข้าช่วย

“การดูแลตราสารหนี้เอกชน 4 แสนล้านบาทนั้น มีบางบริษัทเข้าไม่ถึง เพราะมีการใช้เรตติ้งบริษัทเขามาเป็นเกณฑ์ช่วยเหลือ ซึ่งในสภาวะไม่ปกติ การเอาเรตติ้งมาใช้ไม่ได้เป็นการช่วยภาคธุรกิจ ดังนั้นฝากให้ทั้ง 3 หน่วยงานช่วยดูแลตรงนี้  โดยเฉพาะในบริษัทที่มีเรตติ้งต่ำกว่ามาตรฐานการลงทุน (อินเวสต์เมนต์ เกรด) จะมีแนวทางไปช่วยอย่างไร ซึ่งก.ล.ต.เสนอแนวคิดตั้งกองทุนขึ้นมาช่วย และต้องมีการลงขัน  โดยขอให้คลังมีมาตรการภาษีเพื่อให้เกิดแรงจูงใจ ”นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวต่อว่า  ในส่วนของการช่วยคนตัวเล็ก ธุรกิจขนาดเล็ก การดูแลคงไม่สามารถดำเนินการผ่านระบบธนาคารได้ ต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้เขาอยู่รอดได้ ก่อนหน้านี้ครม.เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการคลังตั้งกองทุนมาช่วยดูแล ซึ่งขณะนี้รัฐบาลพยายามอุดช่องโหว่ และดูแลกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือทั้งบุคคลธรรมดา ธุรกิจขนาดเล็ก

นายสมคิด กล่าวต่อว่า นอกจากนี้มอบหมายให้นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ไปดูแนวทางการช่วยเหลือเพิ่มเติมว่า ขณะนี้แม้ร้านค้าเปิดแล้วแต่ไม่มีคนกล้าไปซื้อของ ดังนั้นจะมีทางใดบ้างไปช่วยเขา นำมาตรการภาษีมาช่วย  นอกจากนี้ธปท.เสนอมาช่วยทำอย่างไรเข้าไปช่วยก่อนที่ธุรกิจจะมีการเอาคนออก เป็นการช่วยตั้งแต่ต้นทาง

นายสมคิด กล่าวว่า ทั้งนี้สั่งการไปยังกระทรวงการคลังแบงก์รัฐทุกแห่ง  กรมทุกกรม ทำโรงทาน 1 มื้อให้ชาวบ้านในช่วง 3-4 เดือน มองว่าปัญหาจะมีมากขึ้น อย่างน้อยๆ ชาวบ้านลดค่าใช้จ่ายอาหารใน 1 มื้อ โรงทานเป็นการระดมเอกชนมาช่วยก็ได้ อย่ามองเป็นเรื่องเล็ก อาหานของชาวบ้าน 1 มื้อ ช่วยเขาได้มาก

นายสมคิด กล่าวต่อว่า ส่วนการกระตุ้นบริโภค ท่องเที่ยว สำคัญมาก จะได้เห็นมาตรการใหม่ของกระทรวงการคลัง เพื่อกระตุ้นคนมีอำนาจซื้อไปจับจ่ายใช้สอย เมื่อบวกกับเรื่องการท่องเที่ยว  ให้มีเงินมาหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในไตรมาส3 และ 4 ซึ่งในกรณีหาดบางแสนทำให้เห็นว่าคนอยากออกไปเที่ยว ทำอย่างไรให้คนในกทม.ออกไปเที่ยวต่างจังหวัด สิ่งสำคัญคือกระตุ้นไทยเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวต่างประเทศคงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

นายสมคิด กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ฝากนายทศพร ศิริสัมพันธ์  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) พิจารณาโครงการฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทให้เป็นโครงการที่มีคุณภาพ ถ้าไม่มีคุณภาพไม่ให้ผ่าน เอาเฉพาะที่มีคุณภาพ ถ้าเงินไม่หมดไม่เป็นไร สศช.เขามีโครงการเตรียมไว้ในระดับหนึ่ง เมื่อรวมกับโครงการอื่น ทำให้มี เม็ดเงินในไตรมาส 3 เข้าไปหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจพอสมควร

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  กล่าวว่า รัฐบาลต้องดูแลเศรษฐกิจจากโควิด -19 เป็นเวลา 6 เดือน ขณะนี้ถึงเวลาต้องเข้าไปฟื้นฟู  ยอมรับว่าระบบเศรษฐกิจไทยจะปรับเปลี่ยน ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ยึดโยงหลายภาคส่วนจะปรับตัวอย่างไร เตรียมนัดหารือกับภาคเอกชน 3 สถาบันเอกชน(กกร.) เพื่อดูว่าเขาต้องการอะไรจากภาครัฐ

ส่วนในเรื่องท่องเที่ยวนั้น พยายามเร่งทำเร่งประชุม ให้มีมาตรการออกมา ให้พร้อมไตรมาส 3 คงไม่ทันเสนอครม.อังคารที่ 9 มิถุนายนนี้

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่