ปริญญา ตรีน้อยใส : ขยะพลาสติก

มาถึงขยะพลาสติก หรือจะเรียกแบบนักวิชาการว่า ขยะสารสังเคราะห์ ก็ได้

ขยะชนิดนี้จะมีหลายสีหลายรูปแบบ ทั้งแบบใส ที่เรียกว่า เพต ทั้งแบบขุ่นน้อย ขุ่นมาก ไปจนถึงแบบดำ ที่เรียกว่า พีอี

ยังมีพีอื่น ที่เรียกขานตามตัวย่อของปิโตรเคมี อย่างเช่น พีวีซี เป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่า ผสมสารอะไรเข้าไปตอนผลิต ตอนหลอมละลายขึ้นรูป ส่งผลให้ขยะพลาสติกทุกชนิดเป็นที่ต้องการ เอาไปขึ้นรูปใหม่ได้ จึงมีค่าไม่แพ้ขยะกระดาษหรือขยะแก้ว

อีกทั้งปริมาณขยะพลาสติกก็มีมาก พบหาได้ ตั้งแต่ยอดดอยจนถึงใต้ทะเล ตั้งแต่บนตึกสูง จนถึงเพิงไม้

ขยะขวดน้ำ แก้วน้ำ รวมทั้งภาชนะหรือกล่องที่เป็นเนื้อใส ล้วนเป็นขยะมีราคา แค่แยกฝาขวดสีออก ฉีกหรือกรีดแผ่นฟิล์มยี่ห้อที่มีลวดลายสีสันออก เหลือแต่ขวดเปล่าใส มูลค่าก็เพิ่มมากขึ้น

ยิ่งผ่านกระบวนการบดขยี้เป็นเศษเล็กเศษน้อย พร้อมเข้าโรงงาน มูลค่าจะเพิ่มเป็นหลักร้อยต่อกิโลกรัม

ขยะพลาสติกที่ไม่ใสมีสีสัน ก็นำไปหลอมละลายขึ้นรูปใหม่ได้เช่นกัน แต่ราคาแปรผันไปกับสีสันและความขุ่น แม้จะเป็นเศษเล็กเศษน้อย ก็ยังไปหลอมละลาย กลายเป็นถุงพลาสติกที่เรียกกันว่า ถุงก๊อบแก๊บ หรือบรรจุภัณฑ์สีหมองๆ สำหรับใช้งานบางประเภท

 

เมื่อขยะพลาสติกมีหลายรูปแบบ หลายชนิด และถูกทิ้งปะปนกัน ทำให้ยากต่อการแยกเก็บ และรวบรวม จึงเป็นภาระและรายได้ของผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่รถขยะ ซาเล้ง และคนอื่นอีกมากมาย ไม่ต้องพูดถึงขยะพลาสติกชิ้นใหญ่ ที่มีค่าและรวบรวมง่าย จะไม่ค่อยพบเห็นรกหูรกตามากนัก

แต่เมื่อปริมาณขยะพลาสติกมีมาก แม้จะผ่านการเก็บรวบรวมหลายมือ หลายคนก็ยังหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เช่น ใต้ทะเล บนเขาสูง

เลยกลายเป็นเรื่องคาใจของผู้ที่อยู่ในบรรยากาศดี ไม่อยากเห็นรกตา

 

แม้พลาสติกเป็นวัสดุที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตปัจจุบัน แต่จะเป็นที่รำคาญใจของหลายคน โดยเฉพาะนักเรียนนอกและอาจารย์ที่เรียนนอก ส่วนใหญ่จะจำแบบฝรั่งมารณรงค์จัดกิจกรรมเก๋ๆ ให้เป็นข่าว

อย่างเช่น รณรงค์ให้ร้านค้าและผู้ซื้อใช้ถุงผ้าแทน เพราะไม่รู้ว่าคนไทยจะใช้ถุงพลาสติกหลายครั้งหลายหน โดยใช้แทนถุงดำ สำหรับรวบรวมขยะเปียก เศษอาหาร และอื่นๆ แค่นึกว่า ถ้าไม่มีถุงแบบนี้ช่วยรวมขยะ บ้านเมืองเราจะสกปรก เละเทะ มีเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากขนาดไหน

ที่จริงถุงรวมขยะประเภทนี้ เมื่อนำไปฝังกลบ ยังโดนข้อหาย่อยสลายยาก อยู่เป็นล้านปีไปโน่น ทั้งๆ ที่แค่ปล่อยให้เวลาผ่านไป เศษอาหาร พืชผัก ผลไม้ในถุงเน่าเสีย ย่อยสลายไปบ้างแล้ว

ขยะที่เหลือในถุงในดิน ยังเป็นที่ต้องการของโรงงานผลิตซีเมนต์ เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงราคาถูก เพียงแต่ว่า ระบบโลจิสติกส์ยังไม่ดี ระบบการจัดการยังไม่ดี เลยไม่เป็นที่รู้กัน

เอาเป็นว่า เวลาพูดถึงขยะพลาสติก อย่าเหมารวมกันง่ายๆ เพราะมีมากมายหลายชนิด อีกทั้งมีการใช้ซ้ำ reuse กันในระดับบ้านเรือนทั่วไป มีการ recycle ใช้หมุนเวียนผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ หลายครั้งในระบบอุตสาหกรรม ไปจนถึงการขุดซากขึ้นมาเป็นเชื้อเพลิงได้อีกด้วย