ฐากูร บุนปาน | สังคมใดที่ความจริงและความยุติธรรมไม่ปรากฏ สังคมนั้นไม่มีทางหาความสงบ-สันติสุขได้

แล้วสังคมไทยก็ผ่านวาระ 10 ปีของการเข่นฆ่าสังหารประชาชนด้วยอาวุธสงครามกลางกรุง และ 6 ปีของการรัฐประหาร

ไปอย่างมึนๆ งงๆ เหมือนทุกปีที่ผ่านมา

เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด “ความจริง” ก็ไม่เคยปรากฏชัดเจนต่อหน้าสาธารณะ

การตามหาความจริงกลายเป็นอาชญากรรม กลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ (สำหรับผู้มีอำนาจและคนกลุ่มหนึ่ง)

และด้วยความอึมครึม อึดอัด นี่เอง

ที่ทำให้สังคมไทยยังหาความสมานฉันท์ ความปรองดองหรืออะไรดีๆ ที่อยากเห็นกันไม่ได้

อย่าว่าแต่เหยื่อผู้ประสบเคราะห์กรรมจากเหตุการณ์ ญาติสนิทมิตรสหายของคนเหล่านั้นเลย

ผู้รักความเป็นธรรมในส่วนอื่นๆ แม้กระทั่งคนในเครื่องแบบด้วยกันก็มีคำถาม

ขออนุญาตขายของเก่า เอาเรื่องบางส่วนที่ พล.อ.อดุล อุบล อดีตเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก เคยเขียนไว้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554

และตีพิมพ์ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับประจำวันที่ 7-13 มีนาคม 2557

มาย้อนรำลึกในวันนี้

“…ทั้งพี่และน้องเหล่านั้นพูดเหมือนกันว่า “มันเป็นทหารกันหรือเปล่าวะ” สามารถออกคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้อาวุธสงครามที่จัดหามาจากภาษีอากรของประชาชน สังหารประชาชนมือเปล่า

แล้วยังมีหน้ามาวิเคราะห์บทเรียนจากการปฏิบัติการนั้นว่าสำเร็จอย่างเลอเลิศสรรเสริญและชื่นชมกันราวกับ “วีรบุรุษสงคราม” ผู้พิชิตชัยชนะในสงครามเต็มรูปแบบกับประชาชน ภายในชาติของตนเองที่มีแต่มือเปล่า และเต็มไปด้วยเด็ก ผู้หญิง และคนแก่

…ผมอยากจะถามว่า พวกท่านมีความรู้สึกเป็นวีรบุรุษและมีความภาคภูมิใจมากนักหรือกับความเป็นจริงเหล่านี้

1. ท่านใช้กำลังทหาร 4 กองพล ซึ่งเท่ากับ 1 กองทัพน้อยที่กองทัพ US ใช้เป็น Main effort ในการขับไล่กองทัพอิรักออกจากการยึดครองประเทศคูเวต แต่พวกท่านเอามาใช้ล้อมปราบประชาชนที่ไม่มีอาวุธ และเต็มไปด้วยเด็ก ผู้หญิง และคนแก่

2. ท่านใช้พลซุ่มยิงทั้งกองทัพ รุมยิงเป้าหมายผู้ชุมนุมที่ถูกล้อมอยู่ ดุจดังยิงนกในกรง

3. ท่านประกาศว่าเป็นการทำสงครามเต็มรูปแบบกับประชาชนภายในชาติด้วยกำลังรบผสมเหล่า ทั้งทหารราบ ทหารม้ายานเกราะ หน่วยบิน พลซุ่มยิง หน่วยรบพิเศษ หน่วยส่งกำลังทางอากาศ ขาดแต่อาวุธปืนใหญ่ นี่ยังไม่นับหน่วยข่าวกรองอีกจำนวนมาก

4. ท่านมีความภาคภูมิใจว่ามีการวางแผนประณีต มีการซักซ้อมกันมาเป็นอย่างดี

5. ท่านให้ข้อมูลที่ทำให้แน่ใจได้ว่ามีการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายทหาร เพราะทั้งรัฐบาลและกองทัพมีความเป็นเอกภาพ มีการสั่งและควบคุมการปฏิบัติการอย่างสมบูรณ์แบบตามลำดับสายการบังคับบัญชา (Chain of Command)

6. ท่านชี้ให้เห็นถึงการใช้กระสุนจริงเป็นผลดีต่อขวัญและกำลังใจของทหาร โดยเฉพาะมีการประกาศเขตใช้กระสุนจริงใน down town ของ กทม.”

…ผมเชื่อว่าทุกคนเข้าใจที่มาที่ไปของเหตุการณ์มีนาคม-พฤษภาคม 2553 และรู้ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมากมายปานใด มันส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือในสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม สถาบันการเมืองการปกครอง และสถาบันความมั่นคงของประเทศ (ทหาร, ตำรวจ) อย่างไร

และที่สำคัญที่สุดคือ ความแตกแยกของพลเมือง (country men) ทุกหัวระแหงอย่างที่ผมไม่เคยพบมาก่อนในชีวิต จนกระทั่งวันนี้ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าจะกลับไปเหมือนเดิมได้อีกหรือไม่

…เพราะเหตุว่าในท้ายที่สุดแล้ว มันจะไม่มีฝ่ายใดชนะ มันจะมีแต่ความพ่ายแพ้ของทุกฝ่ายอย่างถาวร

เมื่อนำทหารถืออาวุธออกมา ความตึงเครียดของทุกฝ่ายย่อมทวีขึ้นแน่นอน

เมื่อเกิดความสูญเสียขึ้นจะส่งผลสำคัญให้ฝ่ายที่สูญเสียโกรธ เกลียด ชิงชัง เคียดแค้น

ความต้องการหาความยุติธรรมให้ฝ่ายตนด้วยการแก้แค้นทุกวิถีทางก็จะเกิดขึ้น

พล.อ.อดุลท่านทิ้งท้ายเอาไว้ว่า

…ทหารในกองทัพชาติจะต้องเป็นสุภาพบุรุษ เป็นผู้ดี เป็นที่พึ่งของชนในชาติ ไม่มีวันที่พวกเขาจะโกหกพี่น้องร่วมชาติเพื่อความชอบธรรมได้

พวกเขาจึงจะสามารถประทับอยู่กลางใจมหาชน

ไม่ใช่ตายไปแล้วจากหัวใจของประชาชนเหมือนบางคนทุกวันนี้

ขอเรียนว่านี่ไม่ใช่การฟื้นฝอยหาตะเข็บ หรือจะหาเรื่องใครเป็นการส่วนตัว

แต่ด้วยความเชื่ออย่างจริงใจว่า

ในสังคมใดก็ตาม ที่ความจริงและความยุติธรรมไม่ปรากฏ

สังคมนั้นไม่มีทางใฝ่ฝันหาความสงบ-สันติสุขได้

ความเป็นจริงตรงหน้าชี้ให้เห็นชัดเจนอยู่แล้ว


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่