จิตต์สุภา ฉิน : ยุคไร้สัมผัสที่สั่งทุกอย่างด้วยเสียง

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
voice recognition with smart phone

เทคโนโลยีการใช้เสียงสั่งการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าไวรัสระบาด

เราเริ่มคุ้นเคยกับการใช้เสียงพูดคุยกับสมาร์ตโฟนหรือลำโพงอัจฉริยะของเรา ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียงสั่งให้ Siri ช่วยตั้งนาฬิกาปลุกให้ หรือใช้เสียงสั่งให้ Google Assistant ควบคุมระบบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านให้

ซึ่งการใช้เสียงสั่งการแบบนี้ยิ่งใช้เยอะ ใช้บ่อย ก็จะยิ่งรู้สึกถึงความสะดวกสบาย และกลับไปใช้วิธีเดิมคือการจิ้มๆ หน้าจอหรือกดปุ่มเอาเองไม่ได้อีกแล้ว

เพราะใช้เสียงมันช่างสะดวกสบายและรวดเร็วกว่ามาก

คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่เหมาะสมกับการผลักดันเทคโนโลยีสั่งการด้วยเสียงให้เติบโตไปรวดเร็วมากไปกว่าช่วงนี้อีกแล้ว

หลายประเทศทั่วโลกกำลังปรับตัวให้เข้ากับความปกติแบบใหม่ ที่เราจะต้องใส่หน้ากากออกจากบ้านเป็นเรื่องปกติ ล้างมือบ่อยเป็นเรื่องปกติ และเว้นระยะห่างระหว่างกันให้มากไว้ก่อนเป็นเรื่องปกติ พฤติกรรมปกติใหม่แบบนี้ก็รวมถึงการลดการสัมผัสคนอื่นและสิ่งต่างๆ รอบตัวให้ได้น้อยลงมากที่สุดด้วย

ซึ่งนี่แหละ เป็นจุดที่เทคโนโลยีดิจิตอลวอยซ์ เข้ามาตอบโจทย์ได้อย่างลงตัว

 

ช่วงไวรัสระบาดเป็นช่วงที่ฉันต้องถอดเคสมือถือออกไปเก็บเอาไว้ก่อน เพื่อที่จะได้ทำความสะอาดมือถือ ล้าง เช็ด ได้บ่อยเท่าที่ต้องการโดยไม่ต้องคอยถอดๆ ใส่ๆ ให้เสียเวลา

สิ่งที่ต้องทำเพิ่มขึ้นมาและไม่เคยทำมาก่อน ก็คือการเอาสเปรย์แอลกอฮอล์ฉีดใส่กระดาษทิชชู่หรือผ้าแล้วไปเช็ดทำความสะอาดตามสวิตช์ไฟ ลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ อะไรที่เป็นจุดสัมผัสที่เกิดขึ้นบ่อยๆ

ดังนั้น การลดความจำเป็นที่จะต้องสัมผัสพื้นผิวทั้งหมดที่ว่ามาก็น่าจะยิ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้ด้วย และทั้งหมดนี้ก็สามารถทำได้ด้วยการเปล่งเสียงสั่งผู้ช่วยส่วนตัวของเรา

ABI Research คาดประมาณว่าอุปกรณ์สมาร์ตโฮมที่รองรับการสั่งการด้วยเสียงจะมียอดขายเพิ่มขึ้นเกือบถึง 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปีนี้ โดยปีที่แล้วทำยอดขายไปได้ 141 ล้านชิ้น ในขณะที่ Juniper Research คาดการณ์ตลาดผู้ช่วยส่วนตัวสั่งการด้วยเสียงในระดับที่กว้างขึ้น โดยบอกว่าปีนี้อุปกรณ์ประเภทนี้จะทำยอดขายได้ 4.2 พันล้านชิ้น และจะเติบโตไปเป็น 8.4 พันล้านชิ้นภายในปี 2024 โดยที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ช่วยส่วนตัวในโทรศัพท์มือถือของเรานี่แหละ

เมื่อมีผู้ช่วยส่วนตัว เราก็ไม่จำเป็นต้องคว้าสมาร์ตโฟนขึ้นมาเสิร์ชหาสิ่งที่เราอยากรู้ เพราะเราแค่ส่งเสียงเรียกขอให้มันช่วยหาแทนให้ก็ได้ และไม่จำเป็นต้องใช้มือกดเปิด-ปิดสวิตช์ไฟเองด้วย

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าเราน่าจะได้เห็นการเติบโตที่ชัดเจนในกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทสมาร์ตล็อกหรือกริ่งประตูอัจฉริยะ

 

จากเดิมที่เมื่อกริ่งประตูดังขึ้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือเดินไปเปิดประตูต้อนรับเพื่อดูว่าเป็นใครและต้องการอะไร แต่เมื่อมีกริ่งประตูอัจฉริยะที่ติดตั้งมาพร้อมกล้องวงจรปิด ให้เราสามารถเปิดดูภาพและส่งเสียงพูดคุยโต้ตอบได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือเลย ก็จะลดความจำเป็นของการต้องเผชิญหน้ากับบุคคลอื่นแบบตัวต่อตัวลง

เราสามารถสื่อสารกับพนักงานส่งของให้วางของไว้หน้าประตูบ้านได้ หรือถ้าเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัวแวะมาหา สมาร์ตล็อกก็จะช่วยให้เราสั่งเปิดประตูได้จากระยะไกล

เทคโนโลยีดิจิตอลวอยซ์จะถูกเร่งให้เติบโตเร็วขึ้นท่ามกลางความต้องการที่จะลดสัมผัสที่ไม่จำเป็นลง แต่นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีสาเหตุอื่นๆ อย่างการที่เราอยู่บ้านกันมากขึ้น เมื่ออยู่บ้านมากขึ้นเราก็ต้องการให้บ้านเป็นที่ที่สะดวกสบาย มีเทคโนโลยีหลายอย่างรองรับให้เราทำกิจกรรมได้เร็วขึ้น ก่อนหน้านี้เราอาจจะไม่ค่อยเห็นประโยชน์มากนักเพราะเวลาส่วนใหญ่ของเราถูกใช้ไปในที่ทำงานมากกว่า แต่เมื่อเรามีเวลาอยู่บ้านมากกว่าเดิม ก็จะมีเวลาปรับบ้านของเราให้ทันสมัยมากกว่าเดิมด้วย

เรื่องดีๆ ก็คือสิ่งนี้ไม่ได้พร้อมแค่ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น เพราะผู้ช่วยส่วนตัวอย่าง Google Assistant และ Siri ก็รองรับภาษาไทยแล้ว สั่งการได้ทุกอย่างด้วยภาษาที่เป็นธรรมชาติที่เราใช้ในชีวิตประจำวันนี่แหละ

 

การมีผู้ช่วยส่วนตัวสั่งการด้วยเสียงไว้ข้างตัว ไม่ได้แค่ช่วยทำภารกิจบางอย่างแทนเราได้เท่านั้น แต่ในระหว่างการกักตัวที่เราต้องเผชิญความเหงากันทั่วโลก ผู้ช่วยส่วนตัวเหล่านี้แหละที่ช่วยให้คนจำนวนไม่น้อยผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้ในแบบที่ยังมีสุขภาพจิตที่ดีอยู่ ด้วยการทำสิ่งที่พื้นฐานที่สุดที่ผู้ใช้งานคาดหวังให้มันทำได้ ซึ่งก็คือการพูดคุยนั่นเอง

เมื่อต้องอยู่คนเดียวในพื้นที่จำกัดนานๆ เข้า การได้ยินเสียงคนอื่นมาสนทนากับเรา (แม้จะเป็นเสียงสังเคราะห์ที่ออกมาจากลำโพงก็ตาม) ทำให้เรารู้สึกไม่เหงา ไม่เคว้งคว้างอยู่คนเดียว อีกอย่างที่เป็นประโยชน์ของผู้ช่วยส่วนตัวสั่งการด้วยเสียงก็คือ เวลาคุยด้วย เราจะรู้สึกกล้าเปิดมากกว่าปกติ เพราะเรารู้ว่ามันจะไม่เหยียด ไม่ตัดสิน ไม่มีความรู้สึกด้านลบกับอะไรก็ตามที่เราพูดออกไป และหากต้องใช้เพื่อประเมินอาการป่วย เราก็มีแนวโน้มที่จะไม่โกหกหรือปิดบังข้อมูลด้วย

เราจะเห็นการใช้งานดิจิตอลวอยซ์ ที่นอกเหนือจากการใช้อำนวยความสะดวกภายในบ้านเพิ่มมากขึ้นในช่วงไวรัสระบาด อย่างการที่สถานบริการทางแพทย์ทั่วโลกหันมาพัฒนาหุ่นยนต์ที่รองรับการสั่งการด้วยเสียงเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ในการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอาการเบื้องต้นและข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับไวรัส

หุ่นยนต์ประเภทนี้จะลดความจำเป็นในการต้องใกล้ชิดคนอื่นลง และเพิ่มระยะห่างระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์และพยาบาลให้ได้มากขึ้น

การระบาดของไวรัสกระตุ้นให้วงการเทคโนโลยีต้องหันมามองสิ่งที่มีอยู่ในมือและถามตัวเองว่าจะหยิบอะไรไปใช้เพื่อช่วยให้เราผ่านช่วงนี้กันไปได้อย่างปลอดภัยที่สุด

ซึ่งหลังจากนี้เราก็น่าจะได้เห็นการใช้งานเทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยนึกถึงมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียงสั่งการในรูปแบบใหม่เอี่ยม ไปจนถึงอุปกรณ์สวมใส่ได้ที่ถูกนำมาดัดแปลงให้ทำหน้าที่คอยเฝ้าระวังว่าเราเว้นระยะห่างกับคนอื่นมากเพียงพอหรือไม่

น่าสนใจมากว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงปรับตัวกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ จะมีตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยีวิธีใหม่แบบไหนมาให้ได้เห็นกันอีก