สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร / ฉุกเฉิน ยาวๆยืดๆ

สถานีคิดเลขที่ 12 / สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

————————–

ฉุกเฉิน ยาวๆยืดๆ

————————-

การผ่อนคลาย การควบคุมการระบาดไวรัส โควิด-19 ชุดใหญ่ออกมาแล้ว

แต่ถามว่าจะคลายถึง ขนาดไม่ต่ออายุพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ฉุกเฉิม เพื่อควบคุมการระบาดฯ ที่จะสิ้นสุดลง วันที่ 31 พฤษภาคมเลยหรือไม่

ตามข่าวบอกว่าอยู่แค่ให้”ศึกษา”

ดังนั้นพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ น่าจะอยู่ต่อไป

เหตุผลหลักก็คงเป็นความห่วงการระบาดไวรัส โควิด-19 รอบที่ 2

ยังจำเป็นต้องคงเครื่องมืออันทรงอำนาจไว้

ทำเนียบจึงจำเป็นที่จะเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจต่อไป

ด้านหนึ่งก็เพื่อเหตุผลข้างต้น คือต้องมีความฉับไวต่อการแก้ปัญหาหากวิกฤตไวรัสกลับมาอีก

อีกด้านหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงได้ภาพเปรียบเทียบแล้วว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนพรรคร่วม

แตกต่างกับนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจ”พิเศษ”อยู่ในมืออย่างไร

ยิ่งสิ่งที่จะต้องเผชิญ ใน ยกต่อไปคือ วิกฤษเศรษฐกิจ

ที่ว่ากันว่าหนักหนากว่า วิกฤตเชื้อโรค อย่างแน่นอน

เพราะเชื้อโรค ใช้วิธีการ”ปิด” มิดชิดเท่าไหร่ก็ยิ่งสามารถคุมวิกฤตได้มากขึ้นเท่านั้น

ตรงกันข้าม สงครามเศรษฐกิจ ปิดไม่ได้ ต้องเปิดกว้างและเสรีให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ถึงจะดี

แต่การเปิดนั่น จำต้องลดทอน การใช้อำนาจควบคุมลดลง

การ “รวมศูนย์อำนาจ” ต้องผ่อนคลายคง

และแน่นอน สิ่งที่จะโผล่ขึ้นมาท้าทายก็มากยิ่งขึ้นด้วย

ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาการเมือง ทั้งในและทั้งนอก รัฐบาล ก็เริ่มปรากฏตัวให้เห็นแล้ว

ยิ่งหลังจากเปิดสภา ในวันที่ 22 พฤษภาคม ที่อยู่ภายใต้เคอร์ฟิวส์ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยแล้ว ยิ่งดูประดักประเดิด

ทุกผลกระทบ จากการคงอยู่เพื่อรักษาการรวมศูนย์อำนาจ เป็นเรื่องใหญ่แน่

และยิ่ง กรณี อันแหลมคม #ความจริงต้องปรากฏ ของกลุ่มการเมืองนอกสภา หากถูกอำนาจพิเศษ จากพ.ร.ก.ฉุนเฉินฯเข้าไปจัดการ

โอกาสที่จะเกิดเหตุบานปลายก็มีสูงยิ่ง

ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาภายในรัฐบาลผสม

ทั้งความไม่เป็นเอกภาพในพรรคร่วมเอง

รวมไปถึงปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ที่การแย่งชิงอำนาจ ไม่ยุติ อย่างน่าประหลาดใจ

ทั้งที่ ผู้ที่สั่งเบรค คือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีอำนาจการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) แต่ กระแสกดดันให้การปรับครม.ก็ยังมีต่อไป

รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ ประกาศไม่รับหัวหน้าพรรค แต่กระแสผลักดันให้เป็นหัวหน้าพรรคก็ไม่เคยสร่างซา

จน เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตุว่า หรือนี่คือ “การเมืองมิหน่ายเล่ห์”

นั่นคือ พูดอย่าง แต่กลับไปทำอีกอย่าง

บอกไม่ปรับครม. แต่เอาเข้าจริงก็แค่จะบอกว่าไม่ใช่ตอนนี้ แต่วันข้างหน้าไม่แน่

ที่ไม่ปรับตอนนี้ก็อาจเพราะไม่อยากเพิ่มวิกฤต

แต่วันข้างหน้าที่ต้องลุยวิกฤตเศรษฐกิจ อาจต้องมีดรีมทีมเศรษฐกิจชุดใหม่

ตอนนี้ ก็เริ่มแว่วๆว่าผู้นำรัฐบาลอาจจะพึงบริการคนนอกเข้ามาช่วย?

นั่นเองทำให้ กระแสเปลี่ยนหัวหน้าพรรคไม่ยอมหยุด

เพราะถ้า พล.อ.ประวิตรเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค ทีมชุดเดิมก็ต้องไป

และไม่ได้ไปแค่ในพรรค อาจต้องหมายรวมถึงการไปจากตำแหน่งในครม.ด้วย

นั่นก็หมายถึงการต้องมีทีมเศรษฐกิจใหม่โดยปริยาย

พล.อ.ประยุทธ์ก็จะลอยตัวสบายๆและไม่ต้องอธิบายให้เหนื่อยว่าทำไมทิ้งเพื่อน

แถมยังทำให้กลยุทธ์ “พี่คุมพรรค น้องคุมทำเนียบ”เป็นจริงขึ้นมาด้วย

แต่ก่อนจะถึงตอนนั้น

ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ขอยืนให้มั่นๆ

โดยมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯที่ยืดออกไปให้ยาวๆ เป็นเสาค้ำยันให้

————–