ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

สุทธิชัย หยุ่น ชวนจิบ “กาแฟดำ” ที่หน้า 105

ลดความ “ขื่น” ด้วยเสียงเพลง Imagine ของจอห์น เลนนอน

ให้เข้าบรรยากาศ

“75 ปีหลังสงคราม, เบบี้ บูมเมอร์ และเพลง Imagine”

ทำไม?

 

สงครามที่ว่า หมายถึงสงครามโลกครั้งที่ 2

ส่วน 75 ปี สื่อถึงวันครบรอบ 75 ปีของ VE Day (Victory in Europe Day) แห่งการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง (วันที่ 8-9 พฤษภาคม)

ด้านเบบี้ บูมเมอร์ เป็นคนรุ่นที่เกิดหลังสงครามคือตั้งแต่ปี 1946 ถึง 1964

เป็น generation ที่ว่า “สนุก, โหด, ท้าทายและเท่ที่สุด”

โดยเกิดมาพร้อมกับการยุติของสงครามด้วยความหวังว่าจะเข้าสู่สันติภาพ

เพลง Imagine ของ John Lennon ที่แสวงหาอุดมคติทั้งการเมือง, สังคมและวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในนั้น

ด้วยความฝันที่อยากเห็นโลกเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่แบ่งพรมแดน, ศาสนา, ความเชื่อทางการเมืองและวัฒนธรรม

เป็น Utopia โลกพระศรีอาริย์ รัฐในอุดมคติ

หลังโลกผ่านสงครามโหดเหี้ยม 6 ปี

คร่าชีวิตไม่น้อยกว่า 75 ล้านคน (เป็นทหาร 25 ล้าน และพลเรือน 50 ล้าน)

 

จากวันนั้นมาถึงวันนี้

เบบี้ บูมเมอร์ ยังไม่เคยสัมผัส Utopia อันแท้จริงเลย

ตรงกันข้าม กลับเผชิญกับสงครามในรูปแบบต่างๆ หลายครั้ง

ไม่ว่าสงครามเย็น

สงครามเวียดนาม

สงครามอ่าวเปอร์เซีย

สงครามการค้า

สงครามไซเบอร์

และวันนี้กำลังเผชิญกับสงครามไวรัส

แม้มิใช่สงครามโลก

แต่ก็เป็นสงครามโรค อันรุนแรงไม่แพ้กัน

 

อนึ่ง สุรชาติ บำรุงสุข แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เขียนบทความไว้ในมติชนออนไลน์

เรื่อง “75 ปีสงครามโลกครั้งที่ 2 : จากสงครามโลกสู่สงครามโควิด!”

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563

เติมเต็มข้อมูลประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวไว้อย่างสมบูรณ์

อ่านได้ที่ https://www.matichon.co.th/columnists/news_2178716

โดยเฉพาะชะตากรรมของมหาอำนาจโลก ณ 75 ปีที่แล้ว และ 75 ปีนี้

 

ย้อนกลับไปสู่อดีตของสงครามโลกครั้งที่ 2

16 เมษายน 1945 นายพลชูคอฟ (Gen. Zhukov) ตัดสินใจเปิด “การรุกครั้งสุดท้าย” ทะลวงใจกลางของอำนาจรัฐนาซี ด้วยการบุกเบอร์ลิน

เป็นการรุกทางทหารขนาดใหญ่ในแบบที่โลกแทบไม่เคยเห็นมาก่อน

กำลังพลของรัสเซียไม่ต่ำกว่าครึ่งล้านนาย เปิดการรุกจากโปแลนด์ เข้าตีออสเตรีย มุ่งไปสู่การยึดเบอร์ลิน

ขณะที่อีกด้านของพื้นที่การรบที่รัวร์ (the Ruhr) ทหารเยอรมันมากกว่า 3 แสนนายกำลังตกอยู่ภายใต้วงล้อมของกองทัพสหรัฐที่กระชับแน่นขึ้น

ขณะที่กองทัพอังกฤษก็เปิดการรุกในแนวรบด้านเบรเมิน (Bremen) เพื่อมุ่งสู่เบอร์ลิน

วันที่ 26 เมษายน กำลังส่วนหน้าของกองทัพแดงของรัสเซีย เข้าถึงชานกรุงเบอร์ลินเป็นชาติแรกก่อนกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตร

และเคลื่อนเข้าใกล้บังเกอร์ของท่านผู้นำมากขึ้นเรื่อยๆ

กำลังรบบางส่วนของเยอรมันเริ่มวางอาวุธ

วันที่ 30 เมษายน ฮิตเลอร์ก็ตัดสินใจปลิดชีพตนเอง ท่ามกลางการสู้รบอย่างรุนแรง

ทหารรัสเซียสามารถปีนขึ้นไปปักธงค้อนเคียวและดาวแดงที่อาคารนี้ กลายเป็นหนึ่งในภาพสำคัญของสงครามโลกครั้งที่ 2

และเป็นภาพที่เป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดของระบอบการปกครองของนาซีด้วย

 

รัสเซียภูมิใจกับปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้อย่างสูง

แม้ว่าวันที่ 7 พฤษภาคม ผู้แทนของกองทัพเยอรมันได้เดินทางไปยังกองบัญชาการสัมพันธมิตรของนายพลไอเซนฮาวร์เพื่อลงนามการยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข

แต่ผู้นำรัสเซียคือสตาลินขอให้ไอเซนฮาวร์เลื่อนการลงนามอย่างเป็นทางการไปอีกหนึ่งวัน เพื่อที่จะจัดให้มีการฉลองที่เบอร์ลิน เพื่อรอรับการลงนามของฝ่ายรัสเซียด้วย

แต่ชาติตะวันตก ในนามกลุ่มสัมพันธมิตร ถือเอาวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 เป็นวันแห่งชัยชนะของสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกว่า “VE Day” (Victory in Europe Day)

ส่วนของสหภาพโซเวียตจะฉลองในวันที่ 9 พฤษภาคม กระทั่งทุกวันนี้

 

วันนี้ ที่ทั้งรัสเซีย ชาติยุโรป และสหรัฐ ที่แม้จะมีการเฉลิมฉลอง “ชัยชนะ” อยู่บ้าง

แต่ส่วนใหญ่กลับเต็มไปด้วยความเงียบเหงา

เมื่อผู้ชนะและแพ้ในสงครามวันนั้น

ต่างเผชิญ “สงครามโรค” ที่มองไม่เห็นศัตรู อย่างรุนแรง

ทั้งในแง่ผู้บาดเจ็บ (ป่วย) และผู้เสียชีวิต

และยังไม่รู้ว่าจะได้ฉลองวันแห่งชัยชนะเมื่อใด!