เต่าไทยเริ่มออกจากกระดองแล้ว ทำยังไงจะไม่ให้ตกหลุมโควิด ขอตัวช่วยหน่อย

หลังจากจำนวนรายงานการติดเชื้อภายในประเทศลดลงตามลำดับ ทั้งประชาชนและรัฐบาลไทยก็เห็นด้วยกันว่าเราควรจะต้องผ่อนปรนให้มีกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น

สังคมไทยตอนนี้เหมือนคนไข้เริ่มฟื้นแต่ยังไม่หายสนิท อยากกลับบ้าน อยากลุกจากเตียงผู้ป่วยออกไปหายใจหายคอ คุณหมอท่านก็เห็นด้วย ให้นักกายภาพบำบัดกำหนดโปรแกรมกิจกรรม หวังว่าจะไม่ไข้กลับ หกล้มหัวฟาดพื้น

เรื่องการปลดล็อคกิจกรรมประชาชนนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีทางเลือก ถ้าเป็นงานวิจัยน่าจะไม่ใช่การทดลอง เป็นงานวิจัยแบบสังเกต (observational study) เท่านั้น แต่การวิจัยแบบสังเกตก็พอจะให้ข้อสรุปได้ ถึงแม้ไม่ดีเท่าการทดลอง ที่สำคัญต้องมีคำถาม มีวิธีเก็บข้อมูล และวิธีวิเคราะห์ที่ดี

ควรจะมีคำถามอะไรบ้าง ประการแรก ปลดล็อกไปแล้ว โรคเริ่มกลับมาระบาดหรือเปล่า คำถามนี้ไม่ต้องอาศัยนักวิจัยครับ คนทั่วไปก็ตอบได้ เดี๋ยว ศบค. ก็รายงานให้เรารู้เอง

คำถามที่ผมคิดว่าควรจะถาม คือ เมื่อปลดล็อกไปแล้ว มีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งหาที่มาของการติดเชื้อจากการสืบสวนโรคหาผู้สัมผัส ที่เรียกว่า contact investigation ไม่ได้ เราจะวิจัยได้อย่างไรว่าปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถเก็บข้อมูลจาก contact investigation คืออะไร

ถ้ามีเบาะแสเรื่องปัจจัยเสี่ยงนี้ชัดเจน เราจะได้จัดการแก้ไขลดปัจจัยเสี่ยงนั้น ๆ ในกลุ่มประชากร ส่วนที่ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงเราก็ไม่ต้องทำอะไร

 

ปัจจัยเสี่ยงที่รู้อยู่แล้ว เช่น สัมผัสกับคนที่มีเชื้อ ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นหัวข้อสำคัญของการวิจัย เพราะเรื่องนี้รู้อยู่แล้ว ปัจจัยที่ยังไม่รู้แน่ว่าเพิ่มความเสี่ยงเท่าไร เช่น การโดยสารรถไฟฟ้า รถแท็กซี่ มอเตอร์ไชด์รับจ้าง การเข้าโรงยิม การไปตรวจที่คลินิกหรือโรงพยาบาล การออกกำลังกายกลางแจ้งในที่สาธารณะ การใช้สระว่ายน้ำ การกินอาหารในร้านอาหารหรือภัตราคารชนิดต่าง ๆ การเรียนพิเศษของเด็ก ๆ การเดินทางออกต่างจังหวัด ฯลฯ

ถ้ารู้ว่าทำในสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นแล้วเสี่ยงเพิ่มกี่เท่า เราก็จะได้ตัดสินใจถูกว่าจะใช้เวลาในเรื่องนั้น ๆ มากน้อยเพียงไร อย่างไร รัฐบาลก็จะได้ปรับประเภทสีของกิจกรรมตามหลักฐานของการวิจัยบางอย่างผ่อนคลายได้มากขึ้น บางอย่างเข้มงวดขึ้น

เวลามีผู้ป่วยติดเชื้อมาโรงพยาบาล เราถามคำถามเหล่านี้ได้ไหมครับ ได้ครับ ส่วนหนึ่งคุณหมอนักสอบสวนโรคก็ถามอยู่แล้ว ปัญหามีสองประการ คือ เขาจะให้ข้อมูลจริงหรือเปล่า อย่าลืมว่าหลายกรณีที่ผ่านมาผู้ป่วยจงใจโกหกว่าไม่ได้สัมผัสกับคนแพร่เชื้อ จนทำให้หมอพยาบาลส่วนหนึ่งเสี่ยงต่อการรับเชื้อและต้องหยุดงานกักตัว 14 วัน ถ้าเป็นคำถามรายการที่ผมยกตัวอย่างไป ก็อาจจะโกหก และ ตอบผิดเพราะจำไม่ได้

ข้อจำกัดประการที่สอง คือ ต้องมีข้อมูลในกลุ่มประชากรหรือกลุ่มควบคุม (control group) กิจกรรมที่ผู้ป่วยเคยทำ อาจจะเป็นกิจกรรมที่คนส่วนใหญ่ก็ทำเป็นประจำอยู่แล้ว ถ้าสัดส่วนของคนทำกิจกรรมนั้นในผู้ป่วยกับในประชากรเท่ากัน สิ่งนั้นถึงจะพบบ่อยในผู้ป่วยก็ไม่น่าจะใช่ปัจจัยเสี่ยง

นักระบาดวิทยาต้องการข้อมูลที่แน่นอนให้ผู้ป่วย ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่แน่นอนในกลุ่มประชากรที่ไม่ป่วย หรืออย่างน้อยก็ต้องเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ถ้าปัจจัยใดพบมากในผู้ป่วยก่อนที่เขาจะป่วย และพบน้อยในหมู่ประชากร และกลุ่มควบคุม นักระบาดวิทยาก็ถือว่าสิ่งนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยง (risk factor)

ปัจจัยเสี่ยงคือปัจจัยที่ถ้าใครมีจะเสี่ยงสูงขึ้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่สาเหตุ และส่วนใหญ่ก็แก้ไม่ได้ เช่น อายุวัยแรงงานติดเชื้อมากกว่าวัยอื่น ๆ ผู้ชายติดเชื้อมากกว่าผู้หญิง เราไปเปลี่ยนอายุและเปลี่ยนเพศของประชากรไม่ได้ อย่างมากก็เตือนให้คนกลุ่มอายุและ เพศนั้น ๆ ระวังตัวให้ดีหน่อย

เราต้องพยายามทดสอบหาปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้ ตัวอย่างเช่น ลูกศิษย์ของผมที่เป็นนักระบาดวิทยาชาวจีนในกว่างซี ทำวิจัยพบว่าการไปเล่นในสนามเด็กเล่น เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคมือ-เท้า-ปาก (hand-foot-mouth disease) และปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัดในอายุน้อย ๆ ต่ำกว่า 8 เดือน คือการไปโรงพยาบาล

ข้อสรุปสำหรับการแก้ไขก็คือ เวลามีโรคมือ-เท้า-ปากระบาด ปิดโรงเรียนอย่างเดียวไม่พอ ควรปิดสนามเด็กเล่นด้วย และเมื่อมีโรคหัดระบาดไม่ควรนำเด็กเล็ก ๆ ไปโรงพยาบาล กิจกรรมฉีดวัคซีนต้องแยกออกจากโรงพยาบาลหรือคลินิกที่มีเด็กป่วย เพราะโรคหัดติดต่อง่ายมาก (ยิ่งกว่าโควิดซะอีก)

 

ข้อมูลจากงานวิจัยสองเรื่องนี้มาจากการสอบถามคนดูแลผู้ป่วยกับคนดูแลเด็กปรกติในอายุเดียวกัน การตอบแบบสอบถามอาจจะได้ข้อมูลผิดเพี้ยนไปบ้าง เนื่องจากผู้ตอบอาจจะจำผิด ถ้าเรามี Big Data ช่วย เราจะได้ข้อมูลที่ผิดพลาดน้อยลง

ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่รู้ว่าใครไปไหนบ้าง ณ เวลาเท่าไร ถ้าบริษัทเทคโนโลยีเหล่านั้น เช่น เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ บริษัทที่ติดตามข้อมูลบุคคลอัตโนมัติ เช่น Google , Facebook, Line, Garmin แต่นักระบาดวิทยาเข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านี้ ถ้ารัฐบาลและ/หรือบริษัทเหล่านั้นสามารถจัดให้เหล่านักระบาดวิทยาทำงานร่วมกันกับบริษัท การหาปัจจัยเสี่ยงจะทำได้ง่ายถูกต้องและรวดเร็วขึ้น สังคมไทยก็จะได้เรียนรู้มากขึ้น

เต่าไทยที่โผล่หัวออกนอกกระดองเริ่มเดินเตาะแตะแล้ว ก็จะมีทิศทางเดินหลีกเลี่ยงการตกหลุมโควิดได้ดีขึ้นครับ การจะวิเคราะห์ให้เห็นหลุมปัจจัยเสี่ยงที่เลี่ยงได้ ต้องขอตัวช่วยคือเทคโนโลยี Big Data ให้ทีมระบาดวิทยาสมองเต่าได้ใช้ด้วย ขอมาตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดจนโรคเริ่มจบยกแรกแล้ว ยังไม่มีคำตอบจากสวรรค์เลยครับ