จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 8-14 พฤษภาคม 2563

จดหมาย

 

0 อาจารย์โควิด

เมื่อความศิวิไลซ์ก้าวล้ำนำสมัยแห่งเทคโนโลยี

ปลุกเร้าให้มนุษย์โลกกระโจนเข้าสู่กระแสการประชันขันแข่ง

การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันอย่างล้ำเส้นเกินพิกัด

โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะติดตามมาเป็นปัญหา (ลูกโซ่)

ต่อความเป็นอยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อม

ความตรมตรอมจึงบังเกิดให้เดือดเนื้อร้อนใจ

อยู่ไม่เป็นสุขกันไปทั่วทุกหัวระแหง

ดังบทเรียนราคาแพงที่เรากำลังผจญกรรมกับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กันอยู่ทั้งโลก ณ เวลาขณะนี้

วิกฤตเนื่องด้วย (อาจารย์) โควิด-19 จึงน่าจะเป็นทั้งคำตอบ

และการย้ำเตือนให้พลโลกทั้งหลายได้ตระหนักและเตือนใจตน

ว่าการเอาชนะคะคานกันด้วยอวิชชา

ความโลภ ความโกธร ความหลง และมุ่งทำลายล้างกันเพื่อความโดดเด่น เหนือกว่ายิ่งใหญ่กว่าของตนนั้น

ไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้องเหมาะสมในการดำรงอยู่ร่วมกันของมวลมนุษยชาติ

…มันเป็นบาป-เป็นเหตุให้เกิดทุกข์อันเนื่องด้วยจิตใจไม่สงบจากความร้อนรุ่มที่คุกรุ่นอยู่ภายในจิตใจอันอิจฉาริษยาอาฆาตแค้น

การแข่งขันที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม

และชัยชนะที่ยิ่งใหญ่จึงน่าจะเป็นการแข่งขันกับตนตัวด้วยการเอาชนะใจตนเอง ประพฤติตน-ปฏิบัติตามคติคำสอนแห่งศาสนา

ดำรงอยู่อย่างเจียมตัวเจียมใจ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เอื้ออาทรต่อกัน

ไม่สร้างภาระ-เป็นปัญหาให้ผู้อื่น

ซึ่งน่าจะเป็นรูปแบบชีวิตที่น่ายกย่องสรรเสริญเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง

เพราะหากว่าคนเรายังคงต่อสู้ห้ำหั่นเชือดเฉือนกันอย่างไม่ลดละ, ไม่อินังขังขอบต่อทรัพยากรธรณี-ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ดังที่ผ่านๆ มาแล้วละก็ เชื่อได้ว่าไวรัสสารพัดประเภทสายพันธุ์ต่างๆ จะดาหน้ากันมา

มลาย-มล้างมนุษย์โลกเราอย่างไร้ความปรานี

ไม่หยุดหย่อนด้วยเหตุแห่งพวกเรานั้นไม่หยุดยั้งการทำลายตัวของเราเอง

ด้วยความเคารพและนับถือ

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

หลายปีที่ผ่านมา “สงกรานต์ บ้านป่าอักษร”

จะมาทักทายช่วงสงกรานต์

แต่พอปีนี้เป็นเทศกาลต้องห้าม

“สงกรานต์ บ้านป่าอักษร” ก็พลอยหายไปด้วย

นึกเป็นห่วง เกรงจะแพ้ภัยไวรัสไปด้วย

แต่ก็ดีใจ ที่ “สงกรานต์ บ้านป่าอักษร” กลับมา

ไม่กลับมาเปล่า

ยังได้ “อาจารย์โควิด” มาย้อนสอนใจด้วย

 

0 อาจารย์ “เศียร”

พ.ศ.นี้ วัย 83 ของผม

ยามเย็นคงหมดโอกาสได้นั่งเปลือยอารมณ์ ในสโมสรของกองบิน 1 (ดอนเมือง) เหมือนเมื่อ 40 ปีก่อน

จึงให้ความร่วมมือกับฝ่ายบริหารจัดการประเทศได้เต็มกำลัง

ด้วยการกิน แล้วนอน อยู่กับบ้าน

ทีวีจอแบนใหญ่ที่ลูกสาวให้ก็ไม่ดู เพราะเบื่อเรื่องหม้อไห เครื่องบด เครื่องปั่น ของใช้ในครัว และไม้ถูพื้น

เพราะมีครบอยู่ในสภาพใช้ได้ดี

เลยหยิบกระดาษปากกา มาออกกำลังมือ

ตามคำแนะนำของ บ.ก. ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 2068

มุ่งไปที่บทความพิเศษของเสฐียรพงษ์ วรรณปก เพื่อความสุขทางใจ (บ้าง)

เนื่องจากคุณเสฐียรพงษ์ ท่านคือสุดยอดของบัณฑิตทางพุทธศาสนา

รู้หมดทุกตรอกซอกมุมของเมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี ฯลฯ

ซึ่งเป็นเมืองสมัย 2500 ปีต้นๆ ร่วมสมัยกับกำแพงเมืองจีนนั้น

ภาพประกอบบทความฉบับนั้น เป็นภาพพระพุทธองค์ ท่ามกลางสาวก

แปลกใจว่า ทำไม กระหม่อม (น. ส่วนสูงสุดของศีรษะตอนกลาง) ของพระพุทธองค์ จึงไม่ตุง

เพราะผมทราบว่า ตลอดระยะเวลาถึง 6 ปีที่ทรงบำเพ็ญเพียรด้วยการอดอาหาร จนผอมกระหม่องตุง

แต่ก็ไม่พบประสบความสำเร็จ จึงกลับมารับประทานอาหารใหม่

ร่างกายสมบูรณ์ จึงเห็นธรรมอันประเสริฐคืออริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

แต่กระหม่อมที่ตุงไม่ยอมยุบกลับเข้าที่

ภาพวาดของจิตรกร เหม เวชกร เกี่ยวกับพุทธประวัตินั้นสวยและสมบูรณ์นัก

ผมบวชพรรษาเดียวยังติดใจ

จึงใคร่เรียนถาม บ.ก. ที่รักและนับถือว่า เรื่องที่ผม (เสือก) รู้มาจริงมั้ยล่ะเนี่ย

ขอแสดงความนับถือ

เรืออากาศตรีฉลวย ราหุละ

 

บ.ก.อยู่ค่อนข้างไกลวัด

ยากจะตอบ จริงหรือไม่จริง

เจอ อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก จะลองถามไถ่ให้

ว่าสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องศีรษะ ตั้งแต่ทรงผม หมวก รวมไปถึงอนาโตมี

อย่างเรืออากาศตรีฉลวยตั้งข้อสังเกตมา จริงหรือเปล่า

แต่ถ้าตอบแบบเอาความรู้สึกเข้าว่า

ตอนที่พระพุทธเจ้าอยู่ เทคโนโลยีภาพถ่ายยังไม่มี

ภาพของพระองค์จึงเป็นจินตนาการที่ต่างคนต่างถ่ายทอดมา

แถมมีเรื่องพุทธศิลป์ เพื่อสะท้อนความงาม ความศรัทธาเข้ามาเกี่ยวข้อง

ภาพของพุทธเจ้าจึงเน้นที่ความสง่างาม

มากกว่ามุ่งสะท้อน “ภาพจริง”

เรื่องกระหม่อม (ซึ่งจริง-ไม่จริงก็ไม่มีใครยืนยันเช่นกัน) จึงอาจไม่ได้สะท้อนออกมา

ขอบคุณที่เขียนจดหมายตามคำเชื้อเชิญ

ทำให้มีเรื่องคุยในสัปดาห์วิสาขบูชา

อนึ่ง ที่เรืออากาศตรีฉลวยใช้ปากกาเติมแต่งภาพ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ มิใช่การลบหลู่ใดๆ ทั้งสิ้น