มุกดา สุวรรณชาติ : การเมือง…งบประมาณ เมื่อชาวบ้านถูกล็อกดาวน์

มุกดา สุวรรณชาติ

แจกเงินไม่ดีเท่ามีงานทำ

ต้องอดทน ไม่ยอมแพ้ ไม่ฆ่าตัวตาย แม้ยากลำบากแต่มันก็จะผ่านไป

ใครจะอยู่เป็น หรืออยู่ไม่เป็น ในสถานการณ์ Covid-19 ไม่ว่าใครจะเคยอยู่แบบไหนก็กระทบไปทุกคน และดูเหมือนว่าจะไม่มีทางเลือกที่ราบเรียบไว้ให้เดิน

ผลกระทบครั้งนี้สะเทือนไปทั้งโลก ในยุคที่การสื่อสารก้าวหน้ายิ่งส่งผลทางจิตวิทยาต่อคนได้อย่างรวดเร็ว มาตรการล็อกดาวน์ที่ใช้สู้ไวรัส ส่งผลลบทางเศรษฐกิจ การเดินทางหยุด การค้าทรุด การท่องเที่ยวพัง อุตสาหกรรมแย่ มีคนตกงานมากมาย

ทุกเส้นทางบังคับให้คนส่วนใหญ่ต้องยอมเสียบางอย่างเพื่อมีชีวิตอยู่ในโลกใหม่ให้ได้ ซึ่งต่อไปอาจไม่มีเพียงแค่ Covid-19 แต่อาจมี Virus 21, 23 ตามมาอีกหลายตัว

จากนี้ไปจะอยู่กันยังไง? Covid-19 มันจะเบาลงเมื่อไร? หรือจะมีรอบสอง

แจกเงินหมดแล้ว เอาอะไรกิน? รัฐบาลจะแก้ไขเศรษฐกิจอย่างไร? รัฐบาลจะไปต่อได้นานเท่าไร?

ทุกเรื่องประเมินระยะยาวลำบาก เพราะมีความสัมพันธ์กับสถานการณ์โดยรวมของทั้งโลก แต่ถ้าประเมินระยะสั้นประมาณ 3 เดือน ก็พอประเมินได้บ้าง แต่ก็ไม่ง่ายนักเพราะสถานการณ์ในวันนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ

ในขณะที่มีตัวเลขบ่งบอกว่าเชื้อโควิดอาจจะหายไปในบางพื้นที่ และบางที่เหลือน้อย แต่ก็ไม่ได้หายขาด

ในขณะเดียวกัน ท่าทีของรัฐบาลยังไม่แน่นอน ว่าจะคลายการล็อกดาวน์มากน้อยแค่ไหน

ถ้าร้าน 7-11 และห้างสรรพสินค้าที่ติดแอร์เปิดได้ ที่อื่นๆ ที่ติดแอร์และคนน้อยกว่าก็น่าจะเปิดได้หมด คาดว่า โดยแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ เราจะเห็นการคลี่คลายที่เกิดจากการเรียกร้องของผู้คน บีบให้รัฐบาลต้องปรับแผนตาม คือทำตามหลังคำแนะนำของชาวบ้านประมาณ 15-30 วัน

รัฐบาลยังคงใช้ภาวะฉุกฉินและเคอร์ฟิวเป็นเครื่องมือ แต่ไม่ควรใช้ทั้งประเทศ

เมื่อชาวบ้านเดือดร้อน นี่คือการสร้างศัตรู รัฐบาลต้องร้อนแน่ โดยเฉพาะเมื่อเงินที่แจกหมดแล้ว

สถานการณ์ในเดือนพฤษภาคมนี้จะเป็นเรื่องของการจ่ายเงินเยียวยาและมาตรการที่จะช่วย SME

แต่ความวุ่นวายคงจะมีไม่น้อยเพราะจะมีคนที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาจำนวนมาก รัฐบาลคงจะต้องวุ่นวายกับการแก้ไขเรื่องนี้

ในเดือนนี้เงินที่ออกมาช่วยเหลือก็จะช่วยประคองความลำบากของคนยากคนจนได้จำนวนหนึ่ง แต่ไม่ถึงสิ้นเดือนคนที่ได้รับเงินและคนที่มีเงินเก็บอยู่ก็จะใช้หมด ความยากลำบากกำลังจะตามมา และจะเปลี่ยนเป็นความวุ่นวายสองเท่า

ไม่มีใครอยากขอเขากิน คนอยากทำงานเพื่อมีกิน มีใช้ มีศักดิ์ศรี

 

การเมืองเรื่องของการใช้อำนาจ และเงินงบประมาณ

ในทางการเมืองก็จะมีการเปิดประชุมสภาซึ่งถูกเรียกร้องให้เปิดสมัยวิสามัญตั้งนานแล้ว รัฐบาลคงไม่ยอม และผลจากการไม่ยอม ทำให้คนสงสัยว่า ทำไมเรื่องราวใหญ่โตขนาดนี้ถึงไม่ร่วมกันแก้ไข เมื่อไปเปิดตามสมัยประชุมปกติ ความเดือดร้อนของคนที่สะสมมาจากเดือนมีนาคม-เมษายน จากโควิดและจากมาตรการล็อกดาวน์ ก็จะทำให้ปัญหาหลั่งไหลเข้าสู่สภาแบบท่วมท้น

เรื่องสำคัญเรื่องแรกก็คือ ต้องทำให้มีการวางมาตรการการควบคุม เพื่อดูแลการใช้จ่ายเงิน 1.9 ล้านล้านให้ตรงตามเป้าหมายไม่ให้รั่วไหลหรือชักช้า ในที่ประชุมสภา คาดว่าคงไม่มีใครคัดค้านที่จะให้ช่วยเหลือประชาชนด้วยเงินจำนวนมากขนาดนี้ และนี่คงจะเป็นการช่วยเหลือแบบทุ่มครั้งเดียวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย แต่ที่จะถกเถียงกันคงเป็นเรื่องรายละเอียดของงบประมาณความช่วยเหลือตามโครงการต่างๆ ที่ให้ในแต่ละกลุ่ม ว่าถูกต้องเหมาะสมอย่างไร ควรมีวิธีการปฏิบัติอย่างไร

กรณีแรกที่จะกลายเป็นการเมืองแน่ๆ คือมาตรการการช่วยเหลือเงินเยียวยาด้วยเงินเดือนละ 5,000 บาท แม้จนถึงเดือนพฤษภาคมก็จะยังมีปัญหาที่มีคนไม่ได้รับเงินเยียวยาทั้งๆ ที่สมควรได้ ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับรายละเอียดวิธีการให้เหมาะสมและเข้าถึงคนที่ลำบากยากจนมากกว่าเดิม เพราะคาดว่าจะมีผู้เข้าไปเรียกร้องทวงสิทธิ์เป็นจำนวนมาก

อีกกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่ม SME ที่รอความช่วยเหลือแม้จะได้รับการผ่อนผันให้หยุดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นกับธนาคารเจ้าหนี้ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการให้กู้เงิน Soft Loan เพื่อไปประคองธุรกิจให้ดำเนินต่อโดยไม่ต้องเลิกจ้างพนักงานและคนงาน เพราะตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เนื่องจากรัฐให้เงินดอกเบี้ยต่ำมากกับธนาคารพาณิชย์ แต่คนตัดสินใจให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากซอฟต์โลนก้อนนี้คือธนาคารเจ้าหนี้ ซึ่งคงมีปัญหากับลูกหนี้บ้าง แต่ยิ่งช้าโอกาสที่จะปิดกิจการก็ยิ่งมีมาก และคนจะตกงานเพิ่มทุกวัน

เรื่องสำคัญที่ 2 คืองบประมาณ 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้าน ต้องปรับรายละเอียดรับโควิด ซึ่งจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 วันที่ 27-28 พฤษภาคม 2563

พอสรุปได้ว่าขณะนี้และนับต่อไปอีกปีกว่า จะมีการใช้เงินงบประมาณซ้อนอยู่ 3 ก้อนใหญ่

คืองบประมาณของปี 2563 เพิ่งจะเริ่มใช้ 3.2 ล้านล้าน

งบประมาณสำหรับช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 1.9 ล้านล้าน

งบประมาณปี 2564 3.3 ล้านล้าน

 

งบประมาณ
ส่งเสริมเศรษฐกิจพื้นฐานในท้องถิ่น
400,000 ล้าน
ชาวบ้านจะได้อะไร

สําหรับนักการเมืองที่ดี ก็คงจะต้องตามเรื่องเงินเยียวยาและงบประมาณ 2563 และ 2564 ว่าจะจัดให้สอดคล้องกับสถานการณ์การฟื้นฟูประเทศอย่างไร งบประมาณใหม่นี้คงไม่สามารถจัดไปใช้ในโครงการใหญ่ๆ ที่มีลักษณะฟุ่มเฟือยได้ แต่ถ้าจะหาเงิน หาเสียง ก็ต้องรู้จักหาโครงการ

แต่ที่จะถกเถียงกันและร่วมกันในวันนี้ ตั้งแต่รัฐสภา จนถึงท้องถิ่น คือเงิน 400,000 ล้านที่บอกว่าจะนำมาช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจพื้นฐานในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 เราอยากเรียกเงินนี้ว่าเงินผัน เหมือนกับสมัยรัฐบาล ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ปี 2518

หรือโครงการมิยาซาวาของ ปชป. ที่กู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น 53,000 ล้านบาทเมื่อเมษายน 2542 ทำโครงการระยะสั้น 6 เดือน เจตนากระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยกำหนดให้จ้างแรงงานราษฎรร้อยละ 35 แต่พบทุจริตมากมาย เช่น ชาวบ้านไม่ได้มารับจ้างจริง แต่ใช้เครื่องจักรทำแทนบ้าง

ผู้รับเหมาในท้องที่ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ในสมัยรัฐบาล คสช.ก็เคยทำโครงการแบบนี้ เรียกว่า “ตำบลละ 5 ล้าน” อนุมัติ 3.8 หมื่นล้านไปตั้งแต่ปี 2558 ครั้งนี้หวังว่าจะดีกว่า

แต่เงิน 400,000 ล้านครั้งนี้จำนวนมหาศาล จะดึงทุกฝ่ายมาเกี่ยวข้อง ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ข้าราชการทุกชั้น ทุกสี นักการเมืองท้องถิ่น คงจะต้องดูอีกพักหนึ่งถึงจะเห็นรายละเอียด ว่าจะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจพื้นฐานในท้องถิ่นต่างๆ อย่างไร

ยังนึกภาพโครงการไม่ชัดเจนจนกว่าจะเห็นโครงการจริงๆ

เข้าใจว่าแบบนี้โครงการก็จะต้องผ่านกระทรวงมหาดไทย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดโดยไปร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

แต่ละจังหวัดฟังดูแล้วน่าจะมีข้าราชการร่วมในโครงการนี้มากพอสมควร

แต่สุดท้ายคนทำจริงน่าจะเป็นผู้รับเหมา

ถ้ามองตัวเลขคร่าวๆ ไม่ใช่แค่ตำบลละ 5 ล้าน แต่เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า เพราะลองเฉลี่ยก็จะได้จังหวัดละประมาณ 3,000-7,000 ล้าน ตามขนาดจังหวัดใหญ่ เล็ก หรืออำนาจบารมีของ ส.ส.และรัฐมนตรี นี่เป็นเงินไม่น้อยทีเดียว และเนื่องจากเป็นเงินที่ไม่ได้จ่ายประชาชนโดยตรงจึงอาจรั่วไหลไปในระหว่างทำโครงการได้

จังหวัดที่ได้เงิน 5,000 ล้านสามารถทำโครงการขนาดใหญ่ได้ แต่ถ้าต้องการกระจายรายได้เพื่อเสริมเศรษฐกิจของคนในจังหวัด และให้เป็นโครงการที่ชาวบ้านได้ประโยชน์ คงเป็นโครงการขนาดเล็ก จะหวังประโยชน์จากการจัดซื้อหรือจัดสร้างใช้ในระยะยาวและกระจายรายได้ พร้อมทั้ง 2 อย่างไม่ใช่เรื่องที่คิดทำได้ง่ายๆ

การทำตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบลหรือเทศบาลจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด และความขัดแย้งก็จะมีตั้งแต่ในระดับรัฐสภา พรรคการเมือง จนไปถึงระดับสภาตำบล หรือเทศบาล คนที่จะได้ประโยชน์อย่างแน่นอนคือผู้รับเหมา โอกาสที่จะมีเงินทอนก็อยู่ตามโครงการเหล่านี้นี่แหละ

แต่เงินก้อนนี้ก็จะกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่ง ที่จะต้องเก็บภาษีจากประชาชนไปชดใช้คืนนานนับ 10 ปี

 

ทำไมเกิดกระแสข่าว
เรื่องการช่วงชิงการนำ
ในพรรค พปชร.

เรื่องนี้คงมีคนพยายามจะช่วงชิงการนำจริง และการช่วงชิงครั้งนี้มีเป้าหมายที่ตำแหน่งรัฐมนตรีและการควบคุมกระทรวงสำคัญ คือกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย

แต่จะทำสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง งานนี้ทำไม่ได้ก็เสื่อม ถ้าทำได้ก็ขัดใจกัน

ถ้าถามว่าทำไมต้องรีบทำในช่วงนี้ ก็ตอบได้ว่าเป็นเพราะต้องรีบเข้าไปคุมงบประมาณ คุมโครงการ คุมการใช้เงิน

ถ้ามองสถานการณ์การเมืองก่อนเลือกตั้ง ช่วงตั้งรัฐบาลและหลังตั้งรัฐบาลแล้ว มีแต่กระแสการใช้เงินเพื่อบุกเบิกเส้นทางสู่อำนาจการเมืองอย่างเปิดเผย รุนแรง ใช้เงินมหาศาล กระแสซื้อลิง ซื้องูเห่ามาแรงจนมีตัวเลข 8 หลัก

นี่เป็นการชี้ชัดว่าการเมืองยุคนี้ถ้าไม่มีผลงาน ไม่มีคนรักศรัทธามากพอ แต่อยากมีอำนาจต้องใช้เงินช่วย

แต่คนที่เล่นการเมืองแบบนี้ไม่มีเงินของตัวเอง พวกเขาจึงหาเงินมาจากงบประมาณ จากภาษีของประชาชนที่ผ่านโครงการของกระทรวงต่างๆ เมื่อร่วมกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องจะได้รับเงินทอน มีการใช้เงินทอน ที่ได้รับไปสร้างฐานการเมือง เพื่อไต่เต้าขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจ แล้วก็หาเงินจากอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ แล้วแต่จะไปมีอำนาจอยู่ตรงไหน เงินที่ได้ก็วนเวียนมาสร้างกำลังทางการเมืองของกลุ่มตนเอง

ข้าราชการเล็ก นักการเมืองท้องถิ่น ได้บริหารวงเงินขนาดเล็ก

ข้าราชการระดับใหญ่ นักการเมืองระดับประเทศ ก็บริหารโครงการที่มีวงเงินขนาดใหญ่

ผลงานที่ออกมาถึงประชาชนก็พอมีอยู่บ้างแต่ไม่ได้ 100% เพราะจำนวนหนึ่งจะต้องถูกเปลี่ยนไปเป็นเงินทอนที่ต้องจ่ายกลับไปให้ผู้เกี่ยวข้องที่มีอำนาจเล็กและใหญ่

เงินระดับแสนล้านรั่วไหลออกมา 10% ก็เป็นหมื่นล้านแล้ว สามารถมาสร้างบารมีทางการเมืองในหมู่พวกตัวเอง ใช้ซื้อลิง ซื้องูเห่าข้ามพรรคได้

จากวันนี้ไป ถ้าใครได้คุมการใช้งบประมาณปีละเป็นแสนล้านติดต่อกัน 2 ปี ก็จะเป็นผู้มีอำนาจมาก แค่กระจายงบฯ ลงไปพัฒนาจังหวัดละ 3-7 พันล้าน รัศมีก็แทบจะออกจากร่างแล้ว

ดังนั้น ถ้าใครคิดจะช่วงชิงอำนาจก็ต้องทำตอนนี้ ถ้าปล่อยให้คนอื่นทำ อำนาจของผู้ควบคุมงบประมาณ ควบคุมโครงการก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะมาคิดชิงอำนาจในภายหลังก็ไม่มีโอกาสแล้วเพราะเขาจะเสริมบารมีมากขึ้นจนสามารถโค่นฝ่ายที่คิดจะชิงอำนาจ ชิงตำแหน่งลงเสียเอง

ต้องมาดูการเมืองในเดือนพฤษภาคมว่าในแต่ละพรรค จะมีใครกล้าลองของหรือไม่

ส่วนการเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายที่ต้านรัฐบาล คงปะทะกันเล็กน้อย แต่ไม่มีผลอะไร การปะทะทางวาจาและความคิดของ ส.ว.และนักศึกษา คงจะทำให้คนเห็นว่า ใครมีจุดยืนเพื่อชาวบ้าน ส่วนการเมืองใน ปชป.คงยอมสยบกันแล้ว

ศึกใน พปชร.ต้องวัดกำลังขาใหญ่ งานนี้ทำไม่ได้ก็เสื่อมลงไปเรื่อยๆ แต่ถ้าทำได้ก็ขัดใจกัน และถ้าความลำบากยากแค้นแก้ไขไม่ได้ สถานการณ์จะพลิกกลับ…ต้องมีคนถูกชาวบ้านล็อกดาวน์