วรศักดิ์ มหัทธโนบล : พินิจโครงสร้างบริหารด้านคลัง-ตุลาการของต้าถัง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

การปกครองของจักรวรรดิสุย-ถัง (ต่อ)
ระบบตรวจสอบและตุลาการ

นอกจากระบบข้าหลวงผู้ตรวจการแล้ว สุย-ถังยังมีระบบตรวจสอบภายในระหว่างกันอีกด้วย คือเป็นการตรวจสอบการทำงานของข้าราชการพลเรือนและทหาร การตรวจสอบนี้มีทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น

จากเหตุนี้ หน่วยงานที่ตรวจสอบจึงมีสองหน่วยงานแยกกันทำหน้าที่ในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น แต่ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบจักรพรรดิ หน่วยงานที่มีอำนาจในการตรวจสอบจักรพรรดิเรียกว่าอำมาตย์ทูลเตือน (เจี้ยนกวาน)

กล่าวกันว่า หน่วยงานนี้มีมาตั้งแต่สมัยฉินแล้ว แต่มีความสำคัญน้อย และเริ่มมีฐานะที่สูงขึ้นในสมัยเว่ย-จิ้น ครั้นถึงสมัยถังจึงมีความสำคัญมากขึ้น อำมาตย์ทูลเตือนนี้มีหน้าที่ถวายความเห็นเมื่อเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องของจักรพรรดิ

เช่น การใช้ราชทรัพย์มากเกินไป ลงโทษเกินควร หรือใช้กำลังทางการทหารไปทำศึกตามอำเภอใจ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าอำมาตย์ทูลเตือนจะมีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์จึงขึ้นอยู่กับจักรพรรดิ ว่าจักรพรรดิมีจิตใจที่เปิดกว้างหรือไม่ ดังจะเห็นได้จากกรณีถังไท่จงที่ทรงมีจิตใจที่เปิดกว้างรับฟังคำทูลเตือน ราชวงศ์จึงรุ่งเรือง

แต่พอถึงปลายยุคถังจักรพรรดิกลับไม่ฟังคำทูลเตือน ราชวงศ์จึงล่มสลายในที่สุด

 

นอกจากระบบตรวจสอบข้างต้นแล้วก็ยังมีระบบที่ใช้กับท้องถิ่นเช่นกัน โดยในสมัยสุยมีการส่งขุนนางไปตรวจสอบหน่วยงานในท้องถิ่นในเดือนกุมภาพันธ์ แล้วรายงานกลับมาในเดือนตุลาคม

โดยประเด็นที่ตรวจสอบคือ การปฏิบัติงานของข้าราชการ การฉ้อฉล การกดขี่ข่มเหงราษฎร การสำรวจสภาพธรรมชาติ (ปริมาณน้ำ ความแห้งแล้ง หรือกีฏภัย เป็นต้น) การแสวงหาบุคคลที่มีคุณธรรมเพื่อให้การยกย่อง และการก่ออาชญากรรมทั่วไป

ครั้นถึงสมัยถังก็ยังคงสืบทอดระบบนี้เอาไว้ แต่ไม่ได้ระบุจำนวนขุนนางที่ทำหน้าที่นี้ได้ชัดเจนเท่าสมัยสุย

เฉพาะในสมัยอู่เจ๋อเทียนนั้น ประเด็นที่สำรวจมีความแตกต่างไปจากเดิม โดยมักเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับคุณงามความดีและการกระทำผิดของขุนนาง การสำรวจสำมะโนประชากร การบริหารการเกษตรและยุ้งฉาง การสำรวจคุณธรรม ความกตัญญู และความรู้ความสามารถของบุคคล หรือการใช้อำนาจที่มิชอบของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

การตรวจสอบจากที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นว่า ประเด็นในการตรวจสอบค่อนข้างครอบคลุมในเรื่องที่สำคัญพอสมควร

ดังนั้น ผลจะออกมาดีหรือไม่ดีอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับขุนนางที่ทำหน้าที่นี้

 

ส่วนระบบตุลาการในยุคสุย-ถังก็มีพัฒนาการใหม่ๆ เช่นกัน โดยมีการยกเลิกบทลงโทษที่ป่าเถื่อน แต่ในขณะเดียวกันกลับให้สิทธิพิเศษในการลดหย่อนโทษแก่ชนชั้นสูง ส่วนหน่วยงานตุลาการต่างๆ ยังคงสืบทอดจากยุคก่อนหน้านี้

แต่ที่โดดเด่นคือบทบาทของหน่วยงานตุลาการที่เรียกว่าหออภิสดมภ์ (ต้าหลี่ซื่อ)1 ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่ตัดสินคดีแล้วก็ยังทำหน้าที่สืบสวนคดีอีกด้วย บทบาทของหออภิสดมภ์ที่ได้รับการกล่าวขานก็คือในยุคที่ตี๋เหญินเจี๋ยประจำอยู่ที่หอนี้

ส่วนที่ว่ามีการยกเลิกบทลงโทษที่ป่าเถื่อนก็คือ การยกเลิกโทษการใช้แส้เฆี่ยนตี หรือโทษห้าอาชาแยกร่าง เป็นต้น คงเหลือแต่โทษจากเบาไปหาหนักคือ การตีด้วยไม้ไผ่ การตีด้วยไม้ การบังคับใช้แรงงาน การเนรเทศ หรือการประหารชีวิต

สำหรับระบบการฟ้องร้องคดีจะเริ่มจากระดับอำเภอขึ้นไปจนถึงระดับเมือง แต่หากเป็นโทษประหารแล้วเมืองจะส่งเรื่องขึ้นไปให้ส่วนกลางพิจารณา และในกรณีที่ราษฎรรู้สึกตนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้เช่นกัน

 

ในยุคถัง คดีในท้องถิ่นจะเริ่มจากอำเภอ ซึ่งหากเป็นโทษสถานเบา เช่น การตีด้วยท่อนไม้หรือการบังคับใช้แรงงานก็สามารถตัดสินได้ แต่หากเป็นการเนรเทศหรือประหารชีวิตจะส่งต่อให้ส่วนกลางพิจารณา และเฉพาะโทษประหารนั้นจักรพรรดิจะเป็นผู้ตัดสิน

นอกจากนี้ ในยุคนี้ยังมีการกำหนดการกระทำผิดที่เป็นภัยต่อศักดินาอีกด้วย การกระทำผิดนี้มีอยู่สิบประการคือ วางแผนล้มล้างจักรพรรดิและระบอบการปกครอง ทำลายพระราชวัง สุสานหลวง และศาลบรรพชนของจักรพรรดิ ทรยศต่อราชวงศ์หรือจำนนต่อข้าศึก

ทำร้ายหรือฆ่าบุพการี ฆ่าผู้อื่น ไม่เคารพจักรพรรดิ อกตัญญูหรือฟ้องร้องบุพการี ทำร้ายหรือฆ่าญาติที่มีความดีความชอบ ทำร้ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และเป็นชู้กับภรรยาของญาติ

ในเวลาเดียวกันก็ยังได้กำหนดสิทธิพิเศษในการลดหย่อนโทษให้แก่ชนชั้นสูงอีกด้วย ชนชั้นสูงเหล่านี้ได้แก่ วงศานุวงศ์ของจักรพรรดิ พระสหายของจักรพรรดิ เจ้าที่ดินศักดินา บุคคลที่มีความสามารถ บุคคลที่มีคุณงามความดี เสนามาตย์ชั้นสูง บุคคลที่ขยันขันแข็งเพื่อจักรวรรดิ และลูกหลานของทหารในรัชกาลก่อน

สิทธิพิเศษนี้มีความอ่อนไหวในหลายกลุ่ม ว่าถ้าหากกลุ่มบุคคลเหล่านี้ไปก่อกรรมทำเข็ญขึ้นมาและได้รับการลดหย่อนโทษแล้ว สิทธิพิเศษนี้ก็จะไม่ต่างกับอภิสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ไม่สู้จะเป็นธรรมนัก

ดังนั้น สิทธิพิเศษนี้จึงน่าที่จะกำหนดขึ้นบนพื้นฐานที่มีความคาดหวังสูงต่อบุคคลเหล่านี้ คือคาดหวังว่าจะไม่ไปก่อกรรมทำเข็ญให้เป็นที่แปดเปื้อนยุคลบาทของจักรพรรดิ ถึงแม้จะไม่มีความคาดหวังใดในโลกที่จะสมบูรณ์ก็ตาม

 

ระบบการคลังและงบประมาณ

ในยุคสุยและถังตอนต้นนั้น งานด้านการคลังมีหน้าที่ในการบริหารที่นา การสำรวจสำมะโนประชากร และงบประมาณ โดยมีการตรวจสอบบัญชีควบคู่กันไปด้วย แต่นับแต่ช่วงครึ่งหลังของถังไปแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงคือ มีการแบ่งหน่วยงานที่ดูแลด้านการค้าและการจัดเก็บภาษีเกลือกับเหล็ก การเกณฑ์แรงงาน และการหล่อเหรียญกษาปณ์ออกจากกัน

ทั้งนี้ ตลอดยุคถังนั้นงานการคลังมีความสำคัญยิ่ง กล่าวคือ ยามใดที่สินค้าเกษตรล้นตลาด ทางการจะรับซื้อสินค้าที่ล้นตลาดในราคายุติธรรมเพื่อเก็บไว้ในคลังเสบียง และหากยามใดที่เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงหรือสินค้าขาดตลาด ทางการก็จะนำสินค้าในคลังเสบียงมาจำหน่ายให้แก่ราษฎรด้วยราคาที่ยุติธรรมเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คลังเสบียงดังกล่าวยังถูกนำมาใช้ในกรณีอื่นๆ อีกด้วย คือใช้ในการบริโภคในราชสำนัก แทนเป็นเงินเดือนของข้าราชการในเมืองหลวง นำไปให้กับขุนนางและผู้ใช้แรงงานต่างๆ หรือใช้ในการจัดเลี้ยงทหารในวาระต่างๆ เป็นต้น

สำหรับพื้นที่ชายแดนจะมีคลังดังกล่าวตั้งไว้เป็นการเฉพาะ

ส่วนระบบงบประมาณนั้น สุย-ถังได้สืบทอดระบบบัญชีรายรับและสำมะโนประชากรจากราชวงศ์โจวเหนือ พอถึงต้นยุคถังจึงกำหนดให้เมืองและอำเภอจัดทำงบประมาณรายปีเพื่อส่งให้ส่วนกลาง ซึ่งมีทั้งงบประมาณรายรับและรายจ่าย โดยรายรับจะมาจากการจัดเก็บธัญพืช ภาษีเกลือ เหล็ก ใบชา และค่าธรรมเนียมการผ่านด่าน ส่วนรายจ่ายคือด้านการทหาร เงินเดือนของข้าราชการ

โดยมีรายจ่ายของราชสำนักเป็นรายจ่ายสูงสุด

 

การศึกษากับเส้นทางสู่ขุนนาง

ระบบขุนนางในยุคสุย-ถังมีความแตกต่างจากยุคก่อนหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ที่ดำเนินควบคู่ไปกับระบบการศึกษา ซึ่งในยุคสุยได้ให้ความสำคัญกับการสอบบัณฑิตเพื่อเป็นขุนนางเป็นอย่างมาก

ครั้นถึงสมัยถังระบบการศึกษากับการได้มาซึ่งขุนนางก็หลากหลายขึ้น ซึ่งอาจแยกได้เป็นสามประเภทคือ การศึกษาลัทธิขงจื่อ การศึกษาในเชิงวิชาชีพ (เช่น การแพทย์ทั่วไป สัตวแพทย์ ดาราศาสตร์ หรือไสยศาสตร์ เป็นต้น) และการศึกษาสำหรับชนชั้นสูง

ในประเภทแรกที่เป็นการศึกษาลัทธิขงจื่อนั้น หมายถึง ผู้สอบบัณฑิตจะต้องสอบผ่านความรู้ในลัทธิขงจื่อ และหากสอบผ่านก็จะได้รับการบรรจุเป็นขุนนาง ตอนที่เริ่มมีขึ้นในสมัยสุยนั้นจะเรียกว่าจิ้นซื่อเคอ พอถึงสมัยถังจะเรียกว่า เคอจี่ว์จื้อ ทั้งสองคำนี้ล้วนมีความหมายที่สื่อถึงการสอบคัดเลือกบัณฑิตเพื่อเป็นขุนนาง

คำเรียกการสอบบัณฑิตดังกล่าวได้เปลี่ยนไปเป็นคำเรียกอื่นในสมัยหลังๆ ต่อมา แต่สำหรับไทยเราแล้วมักจะรู้จักในคำว่า การสอบจอหงวน

————————————————————————————————————————-
1คำว่า หลี่ ในคำว่าต้าหลี่ซื่อ หากให้ความหมายอย่างสั้นกระชับจะหมายถึงหลักการ แต่ในแง่ที่ลึกซึ้งของคำนี้จะเกี่ยวพันกับปรัชญาขงจื่อ โดยหลักการที่ว่านี้จะมีปฏิสัมพันธ์กับหลักคิดเรื่องรีต (หลี่, rite หลี่คำนี้มีตัวเขียนคนละตัวกับหลี่ที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้) ซึ่งจะมีปฏิสัมพันธ์กับหลักการปกครองอีกชั้นหนึ่ง ในที่นี้จึงแปลคำนี้เป็นไทยว่าสดมภ์ ซึ่งหมายถึงหลัก คือเป็นหลักที่ใช้สำหรับยึดถือ