ในประเทศ : เมื่อ “นักเลือกตั้ง” เจอ “ข้าศึกไร้ตัวตน” “โควิด” ระบาด “นักการเมือง” ทำอะไร?

ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 กระทบกับอาชีพ “นักการเมือง” เช่นกัน ที่ต้องออกมารับมือเชื้อไวรัสนี้

หากปล่อยประชาชนเผชิญชะตากรรม รอความช่วยเหลือจากรัฐบาลส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ย่อมถูกทวงถามหน้าที่ “การเป็นผู้แทนราษฎร”

อีกทั้งทวงถึง “เงินเดือน ส.ส.” ที่ได้รับด้วย เพราะมาจากภาษีประชาชนทั้งสิ้น

รวมทั้งต้องรักษาฐานเสียงของตนเองและพรรคในทางการเมืองไว้ ทำให้บรรดานักการเมืองทั้งที่อยู่ในสภาหรือสอบตกต้องลงพื้นที่เป็นการด่วน

รวมทั้งตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งการลงพื้นที่ของนักการเมืองแต่ละคนก็จะ “เล่นใหญ่” ต่างกัน ตามสถานะในพื้นที่

หากถามถึง “คนเล่นใหญ่” ที่มาแต่ไก่โห่ คือ “เนวิน ชิดชอบ” พ่อเมือง จ.บุรีรัมย์ ตัวจริงเสียงจริง ที่ขานรับนโยบายนายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 โดยเพจ “ลุงเนวิน” ของนายเนวิน ได้โพสต์ว่า “แถลงการณ์ชาวบุรีรัมย์ GU สู้ COVID ปิดเมือง เพื่อความปลอดภัยหยุดกิจกรรม เพื่อป้องกันการระบาด คนป่วย แยกรักษา เจ็บแต่จบ บ้าน GU ต้องปลอดภัย ใครไม่ทำ GU ทำ บุรีรัมย์ สู้!” ประกาศปิดจังหวัดก่อนใครเพื่อน ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และก่อนที่กรุงเทพฯ จะ “ล็อกดาวน์” ในระดับหนึ่งเสียด้วยซ้ำ เรียกได้ว่า “ข้ามหน้า” กระทรวงมหาดไทยไปเลย

ทว่างานนี้ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก็ไม่ได้ออกมาคำรามใส่แต่อย่างใด โดย พล.อ.อนุพงษ์ให้เหตุผลว่า ผู้ว่าฯ มีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด จึงมีอำนาจเต็มที่ จะทำอย่างไรไม่ให้มีการระบาดในพื้นที่ โดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ เป็นอำนาจที่ทำได้ตามกฎหมายโดยไม่ต้องขอคำปรึกษาจากรัฐบาล เพราะได้มอบอำนาจให้ไปแล้ว

กลายเป็น “โมเดล” ไปยังจังหวัดอื่นๆ ทันที

 

หนึ่งในนั้นคือ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ที่สถานะเหมือน “เนวิน” ที่เป็น “พ่อเมือง” ตัวจริง โดยมีนายณรงค์ รักร้อย เป็นผู้ว่าฯ อุทัยธานี ที่มีคำสั่งตั้งด่านสกัดตรวจวัดทุกทางที่จะเข้า จ.อุทัยธานี พร้อมขอความร่วมมืองดการจัดงานเลี้ยงไว้ก่อน

ซึ่งในการเมืองระดับชาติ “ชาดา” คือพี่ชายของ “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รมช.เกษตรและสหกรณ์ นั่นเอง

ส่วนเพจตระกูลนักการเมืองที่น่าสนใจ คือ “ครอบครัวรัตนเศรษฐ” ที่มีนักการเมืองระดับชาติคือ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาล และ “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” รมช.คมนาคม จากพรรคพลังประชารัฐ ก็ร่วมลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา กับครอบครัวที่เป็น ส.ส.ในพื้นที่หลายเขต แจกแอลกอฮอล์และช่วยชาวบ้านเรื่องปากท้อง

ผ่านมาราว 1 สัปดาห์ ครม.ถึงได้เห็นชอบการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัดในทุกเส้นทางเพื่อทำการควบคุมโรคผ่านด่านตรวจโรค

ในส่วนของนักการเมืองก็ใช้เวลานี้ลงพื้นที่เท่าที่มีอำนาจและกำลัง เช่น การทำหน้ากากผ้าแจกจ่าย การนำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ปฏิบัติการล้างเมืองฆ่าเชื้อต่างๆ ที่ไม่ต่างจากการฉีดฆ่ายุง แต่เปลี่ยนมาฉีดฆ่าเชื้อไวรัสตามสถานที่สาธารณะแทน

หลังจากงานในสภาลดลงไป หลังปิดสมัยประชุมไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อีกทั้งคณะกรรมาธิการต่างๆ ในช่วงที่ไวรัสระบาดก็ลดหรืองดการประชุมไป โดยจะประชุมแต่ในเรื่องที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับสถานการณ์เป็นหลัก

เช่น การประชุมสัปดาห์เว้นสัปดาห์ และลดจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม ที่เน้นให้ครบองค์ประชุมเพื่อทำการเปิดประชุมได้เท่านั้น อีกทั้งใช้ห้องประชุมที่กว้างและนั่งเว้นระยะตามมาตรการ Social Distancing

 

ส่วนนักการเมืองที่สอบตกหลายคนก็ลงพื้นที่หรือวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลในการรับมือไวรัส เช่น “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาเสนอไอเดียให้รัฐบาลรับมือกับไวรัส โดย “หญิงหน่อย” ได้เครดิตอย่างมากกับข้อเสนอเพราะมีดีกรีเป็นอดีต รมว.สาธารณสุข ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องเผชิญกับโรคซาร์สและไข้หวัดนกมาก่อน

ซึ่งภาพรวมของพรรคเพื่อไทยก็มีท่าทีที่พร้อมหนุนการทำงานของรัฐบาล โดย “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ที่อีกสถานะก็คือ ส.ส.เชียงใหม่ ก็พร้อมหนุนรัฐบาลในการปรับงบประมาณปี 2563 การออกกฎหมายเร่งด่วน แก้ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

แต่อีกด้านก็ห่วงการออก พ.ร.ก.กู้เงินของรัฐบาล หากไม่มีการจัดการที่มีคุณภาพก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการนำเงินเก็บก้อนใหญ่ของประเทศในอนาคตมาใช้อย่างขาดหลักประกัน

 

ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล งานนี้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ถึงกับขู่คาดโทษ ส.ส.พรรคที่ไม่ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้าน จะมีผลต่อการพิจารณาลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคสมัยหน้า

แต่ในเวลาเช่นนี้ก็มีนักการเมืองที่เปิดศึกใส่กัน ทั้งศึกในค่ายเดียวกันและข้ามค่าย เช่น ศึกในค่ายเดียวกันพรรคพลังประชารัฐ ระหว่าง “สิระ เจนจาคะ” ส.ส.กทม. กับ “ไผ่ ลิกค์” ส.ส.กำแพงเพชร ที่มีเรื่องค้างคามาตั้งแต่ในกรุ๊ปไลน์พรรค กรณีข้อเสนอให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ลาออกจากตำแหน่ง จากกรณีคนติดตามถูกพาดพิงเกี่ยวข้องกับปมหน้ากากอนามัย

ล่าสุดคือกรณีสมาคมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านได้ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อขอเพิ่มเงินเดือน 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล และ อสม. เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ที่มีความเสี่ยง

ซึ่ง “สิระ” ไม่เห็นด้วย แต่ไม่ขัดข้องหากจะร้องขออุปกรณ์ป้องกันตนเองในการปฏิบัติหน้าที่

ด้านฝั่ง “ไผ่ ลิกค์” เห็นด้วยกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน โดยระบุว่าคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงในการลงพื้นที่และการตั้งด่าน

มากันที่ศึกต่างพรรค ระหว่าง “แรมโบ้อีสาน-สุภรณ์ อัตถาวงศ์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กับ “เก่ง-การุณ โหสกุล” ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อดีตเพื่อนรัก ที่กลายเป็น “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” โต้คารมรายวันปมการกักตุนหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ หลังนายกฯ ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

รวมทั้งศึกระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลที่ซัดกันเองรายวันระหว่าง “เทพไท เสนพงศ์” ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กับ “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกพรรคพลังประชารัฐ จากกรณีมาตรการแจกเงินเยียวยาแรงงานนอกระบบ 5,000 บาทของรัฐบาล ที่มีปัญหาเรื่องการลงทะเบียนรับสิทธิ์

ที่น่าชื่นชมคือนักการเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส.ส.ทั้ง 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชาชาติ พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ได้ถอดหัวโขนร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาและป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นที่

โดยทำงานประสานกับ ศอ.บต.และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัด อีกทั้งในพื้นที่จะต้องรองรับแรงงานไทยที่กลับจากประเทศมาเลเซียและกลุ่มดาวะห์หรือคนไทยที่ไปทำกิจกรรมทางศาสนาที่ประเทศอินโดนีเซีย

สําหรับ ส.ส.สมัยแรกอย่างพรรคก้าวไกล ก็ลงพื้นที่ไม่ต่างจากนักการเมืองพรรคอื่นๆ แต่ด้วยพรรคก้าวไกลสามารถยึดพื้นที่โซเชียลได้จึงทำ 2 ทางคู่ขนาน ทั้งลงพื้นที่และการจัดไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการเปิดเว็บ “ทำไมไม่ได้5พัน.com” ขึ้นมา โดยมี “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” โฆษกพรรค เป็นหัวแรงหลัก

สำหรับ “คณะก้าวหน้า” ที่นำโดย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล-พรรณิการ์ วานิช” ก็ใช้ช่องทางสื่อโซเชียลในการแนะแนวทางสู้กับโควิด-19 และวิพากษ์การรับมือของรัฐบาล

โดยเฉพาะ “ปิยบุตร” ที่นิยามไว้ว่า “รัฐประหารโควิด”

ส่วน “ธนาธร” เปิดเผยว่า ตนและทีมงานกำลังเร่งผลิตอุปกรณ์การแพทย์เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศในการรับมือโควิด-19 โดยในสัปดาห์หน้าจะเสร็จสมบูรณ์

หากสถานการณ์หลังโควิด-19 ดีขึ้นและมีการเปิดสมัยประชุมสภาอีกครั้ง รัฐบาลมีเรื่องในสภาจำนวนมากที่ต้องชี้แจง ที่เป็นผลพวงจาก “พิษโควิด-19” หลังมีการประเมินไว้ว่าจะกระทบเศรษฐกิจอย่างน้อย 2-3 ปี โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาต่างๆ ของรัฐบาล แค่เพียงเริ่มต้นก็เกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่มีปัญหาตั้งแต่เริ่มลงทะเบียน แม้จะใช้ระบบเอไอก็ตาม

ซึ่งพรรคก้าวไกลก็เลือกที่จะเตือนรัฐบาลทันที แม้จะถูกโจมตีว่าตีกินทางการเมืองในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งอีกด้านก็เป็นผลดีต่อรัฐบาลที่จะได้แก้ไขและอุดรูรั่วได้ทัน แต่หลายพรรคก็เลือกที่จะนิ่งเงียบเพื่อรอเปิดสภาแล้วเช็กบิลทีเดียว

นี่คือคำตอบบางส่วนว่า “นักการเมือง” ทำอะไรอยู่?