โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญพิมพ์งูใหญ่-งูเล็ก หลวงพ่อโอภาสีผู้บูชาไฟ อาศรมบางมดวัดพุทธบูชา

หลวงพ่อโอภาสี

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญพิมพ์งูใหญ่-งูเล็ก

หลวงพ่อโอภาสีผู้บูชาไฟ

อาศรมบางมดวัดพุทธบูชา

 

หลวงพ่อโอภาสี อาศรมบางมด (วัดพุทธบูชา) เขตบางมด กรุงเทพฯ ผู้มีวัตรปฏิบัติที่แตกต่างจากพระเกจิอาจารย์รูปอื่น ได้รับสมญาว่า “ผู้บูชาไฟ เป็นพุทธบูชา”

สร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังมากมาย ล้วนปรากฏพุทธคุณประจักษ์ จึงเป็นที่นิยมและเสาะแสวงหา

สำหรับเหรียญหลวงพ่อโอภาสี รุ่น 2 จัดสร้างในปี พ.ศ.2496 มีด้วยกัน 2 พิมพ์ คือ พิมพ์งูใหญ่ หรือพญานาคใหญ่ และพิมพ์งูเล็ก หรือพญานาคเล็ก

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม มีหูในตัว ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือน หันหน้าตรง ข้างบนเป็นรูปงู หรือพญานาคคู่ ด้านล่างใต้รูปเหมือน เขียนคำว่า “โอภาสี”

ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์ ข้างบนจารึกตัว “อ” รัศมี ย่อมาจากชื่อของหลวงพ่อโอภาสี และมีรูปงู หรือพญานาคคู่ ด้านล่างใต้ยันต์ เขียนตัวเลขไทยว่า “๒๔๙๖” ซึ่งเป็นปีที่จัดสร้างเหรียญรุ่นนี้

จัดสร้างด้วยกัน 4 เนื้อ ได้แก่ เหรียญเนื้อทองคำ, เหรียญเนื้อนาก, เหรียญเนื้อเงิน และเหรียญเนื้อทองแดง

เป็นเหรียญที่สร้างจำนวนน้อย และมักพบในย่านบางมดเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชาวสวนรุ่นเก่า นิยมคล้องเหรียญรุ่นดังกล่าวกันมาก มีพุทธคุณป้องกันเขี้ยวจากงูพิษ ร่ำลือกันว่ามีผู้ถูกงูพิษกัดแต่ไม่เข้า

วัตถุมงคลทุกอย่างของท่านได้รับความนิยมสูงมาก นับเป็นเหรียญที่มีลักษณะงดงามและมากด้วยพุทธคุณ สมกับที่ได้รับการยกย่อง

 

หลวงพ่อโอภาสี หรือพระมหาชวน โอภาสี เดิมชื่อ ชวน มะลิพันธ์ เกิดที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2441 บรรพชาที่วัดโพธิ์ ในเมืองนครศรีธรรมราช

เล่าเรียนปริยัติด้วยความขยันขันแข็งเป็นที่พอใจเจ้าสำนักบาลีเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับออกปากว่าสิ้นประโยคนักธรรมในวัดแล้วจะส่งมาเรียนในกรุงเทพฯ ให้ถึงที่สุด ก่อนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และฝากตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนกระทั่งอายุครบ จึงอุปสมบท โดยทรงเป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค

มีความใฝ่ใจและมุ่งมั่นศึกษาด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน สามารถเจริญกัมมัฏฐานโดยเพ่งพินิจกองกูณฑ์หรือเจริญกสิณเตโชธาตุ และยังได้ฝากตัวเข้าศึกษาวิทยาคมกับหลวงพ่อกบ ถ้ำเขาสาริกา พระเกจิผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้นด้วย

ราวปี พ.ศ.2484 เริ่มออกธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างเคร่งครัด ฉันภัตตาหารเพียงมื้อเดียว คราหนึ่งท่านเดินทางปักกลดที่บางมด อ.บางขุนเทียน ฝั่งธนบุรี เมื่อชาวบ้านทราบข่าวจึงนำข้าวของเครื่องใช้และปัจจัยมาถวาย แต่ท่านก็นำไปเผาไฟจนหมด

ท่านกล่าวว่า “ความร้อนของมนุษย์นั้น ถูกเผาผลาญด้วยโลภะ โมหะ ภคะ อวิชชาฯ การที่ท่านนำของถวายไปเผานั้น เพื่อเป็นพุทธบูชาสักการะแด่อำนาจพุทธานุภาพ, อนุพุทธะปัจเจกพุทธะ อันเป็นที่สักการบูชาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ดลบันดาลให้อานุภาพเหล่านี้มาช่วยดับร้อนผ่อนคลายจิตใจมนุษย์ให้บรรเทาลงด้วยอำนาจแห่งความมืดมน เพื่อเป็นการดับกิเลสทั้งหลายให้หมดไป”

สร้างความศรัทธาแก่สาธุชนทั้งหลาย กิตติศัพท์และอภินิหารของท่านปรากฏให้ชาวบ้านพบเห็นเรื่อยมา

จึงได้ร่วมกันปลูกสร้างอาศรมให้พำนักเรียก “อาศรมบางมด”

เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อโอภาสี รุ่น 2 ปี 2496

 

ในเวลาต่อมา การก่อไฟของหลวงพ่อ กลายมาเป็นการเผาจตุปัจจัยสิ่งของต่างๆ ที่ประชาชนนำมาถวาย เป็นต้นว่า ผ้าที่ประชาชนนำมาทอด เครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องกระป๋อง หรือแม้แต่เครื่องประดับต่างๆ ก็โยนเข้ากองเพลิงทั้งสิ้น

เหล่าชาวบ้านที่รู้จุดประสงค์ของท่าน ต่างนำน้ำมันก๊าดไปถวายเพื่อใช้ในการเผาปัจจัยต่างๆ นั่นเอง

ธรรมะที่หลวงพ่อโอภาสีแนะนำสั่งสอน ท่านจะเน้นให้ตัดทุกสิ่งทุกอย่าง ให้ปล่อยวาง อย่ายึดถือ โดยเฉพาะศัตรูสำคัญคือ ขันธ์ 5 ให้พิจารณาแยกออกเป็นธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้เห็นแจ้งชัด ละอุปาทานที่มีอยู่

เมื่อพิจารณาเห็นจริงดังกล่าวแล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มีอยู่จะเบาบางไป

 

สมัยสงครามอินโดจีน พระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายรูป ต่างเป็นที่พึ่งทางกายและใจของบรรดาทหารหาญและชาวบ้าน ดังนั้น วัตถุมงคล-เครื่องรางของขลังของพระเกจิในยุคนั้น จึงโด่งดังมาจนทุกวันนี้ และมีมูลค่าในการเช่าหาที่ค่อนข้างสูง

“ผ้าประเจียด” ของหลวงพ่อโอภาสี เป็นเครื่องรางอย่างหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนสมัยนั้น ด้วยคุณอันวิเศษยิ่ง

จัดพิธีปลุกเสกที่วัดบวรนิเวศฯ โดยอาราธนาพระเถระผู้ทรงวิทยาคมมาร่วมพิธีด้วย 3 รูปคือ หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง จ.นนทบุรี, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา และหลวงพ่อจาด วัดบางกะเบา จ.ปราจีนบุรี เมื่อทหารนำไปใช้ปฏิบัติการในสมรภูมิ

ปรากฏว่าสร้างประสบการณ์ให้ผู้คนร่ำลือมากมาย

 

มรณภาพเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2498 สิริอายุ 57 ปี พรรษา 37

สังขารไม่เน่าเปื่อยเป็นที่อัศจรรย์

ลูกศิษย์จึงนำบรรจุในโลงแก้ว ประดิษฐานในพระมหาเจดีย์ ในสวนอาศรมบางมด

ปัจจุบันคือ “วัดหลวงพ่อโอภาสี” หรือ “วัดพุทธบูชา”

ผู้ศรัทธาและประชาชนยังพากันไปกราบสักการะเนืองนิตย์