ลุกลาม! ดราม่า “จีนเดียว” จากศึกบนทวิต สู่สถานทูตจีนตอบโต้ และ “พันธมิตรชานม” ถือกำเนิด

นับได้กว่าเป็นดราม่าที่กำลังยกระดับเข้าสู่สงครามไซเบอร์บนโลกออนไลน์ อันเกิดขึ้นจากปัญหาการปะทะคารมณ์ออนไลน์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต จีน กับไทย จากปัญหาเรื่องดาราในซีรีย์แนววาย และประเด็นการเรียกฮ่องกง ว่าเป็นประเทศ จนสร้างความไม่พอใจให้กับชาวจีนรักชาติที่ออกมาประณามก่อนถูกชาวทวิตเตอร์ไทยตอบโต้อย่างสร้างสรรค์และแสบสัน จนทำให้ประเทศรอบข้างที่ติดตามประเด็นนี้โดยเฉพาะไต้หวันและฮ่องกงออกมาชื่นชนและร่วมศึกครั้งนี้ด้วย

ล่าสุดโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวนมาก ต่างโพสต์ข้อความ พร้อมติด แฮชแท็ก #ชานมข้นกว่าเลือด และ #MilkTeaAlliance นับตั้งแต่ค่ำวันที่ 14 เม.ย. จนถึงเช้าวันที่ 15 เม.ย. โดยมีนัยยะแสดงการรวมตัวกันของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย ไต้หวัน และฮ่องกง ที่นิยมดื่มชานม อันเป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวกันไม่เห็นด้วยกับยโยบายรัฐบาลจีน

แฮชแท็กดังกล่าวเป็นที่นิยมจนขึ้นเทรด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 และเพื่อตอบโต้แถลงการณ์ของสถานทูตจีนในไทยถูกเผยแพร่ออกไป ผู้ใช้ทวิตเตอร์ของไทยต่างแสดงความไม่พอใจต่อแถลงการณ์ดังกล่าวอย่างมาก มีการโพสต์คัดค้านต่อแถลงการณ์ดังกล่าวในเพจสถานทูตจีนจำนวนมาก จนถึงช่วงสายของวันนี้ (15 เม.ย.) ตามเวลาไทย มีผู้ติดแฮชแท็กนี้ในทวิตเตอร์ เกือบ 5 แสนครั้ง

สำหรับแถลงดังกล่าวได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กแฟนเพจ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยเมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมาว่า

กรณีสงครามออนไลน์ในครั้งนี้ว่า จีนยืนยัน “หลักการจีนเดียว” และมีคนบางฝ่ายเท่านั้นที่ไม่รู้และคิดอคติ “วางแผนมุ่งร้าย ยุแยงเพื่อทำให้ผู้คนผิดใจกัน”

“ฝ่ายจีนยืนหยัดคัดค้านบุคคลใดที่แสดงความคิดเห็นที่ผิดพลาดต่อหลักการจีนเดียวไม่ว่าจะสถานการณ์ใดก็ตาม ในขณะเดียวกัน ขอชี้ให้เห็นว่า หลักการจีนเดียว เป็นจุดยืนที่รัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยยึดมั่นมาเป็นเวลานาน

ความคิดเห็นส่วนบุคคลบนโลกออนไลน์สามารถสะท้อนอคติและความไม่รู้ของตนเท่านั้น” โฆษกหญิงของสถานทูตระบุในแถลงการณ์ และบอกว่าความคิดเห็นเหล่านี้ไม่สามารถแสดงถึงจุดยืนที่มั่นคงของรัฐบาลไทยและความคิดเห็นกระแสหลักของประชาชนชาวไทยได้

แถลงการณ์สถานทูตจีนยังบอกอีกว่า “คนบางกลุ่มบนโลกออนไลน์ใช้โอกาสนี้ทำให้เรื่องขยายใหญ่โตลุกลามออกไป พยายามวางแผนมุ่งร้าย ยุแยงเพื่อทำให้ผู้คนผิดใจกัน ซึ่งความคิดนี้จะไม่มีทางประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน”

โฆษกยังบอกอีกว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” มิตรภาพระหว่างจีน-ไทยมีมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย หรือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในวันนี้ก็ตาม จีน-ไทยและประชาชนทั้งสองประเทศต่างก็ดูแลและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมฟันฝ่าความทุกข์ยากนี้ไปด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม คำแถลงของจากสถานทูตกลับถูกมองจากโลกออนไลน์ว่าเป็นการสาดน้ำมันเข้ากองไฟ ด้วยถ้อยคำที่แข็งกร้าว ตำหนิและดูถูก และไม่พูดถึงปัญหาโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นจากจีน ทำให้เสียงวิจารณ์และการล้อเลียนมีมากขึ้น บวกกับในช่วงวันเดียวกันนี้ สื่อต่างชาติอย่างนิวยอร์กไทม์ส และบีบีซีไทยซึ่งอ้างการรายงานข่าวข้างต้น รายงานถึงผลการศึกษาภาวะแล้งในแม่น้ำโขงและจากการเก็บข้อมูลแผนที่ดาวเทียมแสดงความชุ่มชื้นในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ทอดตามแนวเขื่อนบนแผ่นดินจีน ทำให้คาดว่าเขื่อนจีนได้ปิดกั้นน้ำไม่ให้ไหลลงสู่ประเทศริมแม่น้ำโขงจนปรากฎพื้นที่ที่แสดงถึงความแห้งแล้งจากน้อยไปมาก ทำให้ชาวทวิตได้โพสต์ประณามความเห็นแก่ตัวของจีนในการกักน้ำไว้ในเขื่อนและเรียกร้องให้ปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำโขง

รวมถึงมีประโยคเชิงเสียดสีล้อเลียน ความสัมพันธ์ที่จีนอ้างว่ากับไทยนั้น เป็นพี่น้องกัน โดยเฉพาะในไทยที่นำมาเทียบกับตัวละครในละครหลังข่าวเช่น เรื่อง กลิ่นกาสะลอง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของกาสะลองและซ้องปีบ ที่เป็นพี่น้องในสายเลือดกลับไม่มีความรักต่อกัน นอกจากการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นหรือกดทับอีกฝ่ายให้เสียเปรียบ

ต่อมาทวิตเตอร์ของประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ทวีตข้อความวันที่ 14 เม.ย.ในช่วงราว 22.30 น. ว่า “ขออวยพรให้มิตรสหายชาวไทยในไต้หวันทุกท่าน มีความสุขในวันสงกรานต์ค่ะ ถึงแม้ว่าในปีนี้พี่น้องชาวไทยบางท่านจะไม่สามารถกลับไทยไปร่วมเฉลิมฉลองได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 อย่างไรก็ตามดิฉันขออวยพรให้ทุกท่านมีชีวิตที่เปี่ยมด้วยความหวังและความสุขตลอดปีค่ะ” แม้ไม่ได้แสดงจุดยืนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรง แต่ก็ถูกตั้งสังเกตถึงจังหวะเวลาในการทวิตดังกล่าว และทวีตด้วยภาษาไทยชัดเจน

และจากท่าทีของสถานทูตจีนและการระดมโจมตีจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวจีนที่มีจุดยืนปกป้องความเป็นชาติของจีนเดียวหรือจีนแผ่นดินใหญ่ จนมีการพาดพิงว่าชานมไต้หวันไม่อร่อย นั้นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดแฮชแท็กที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วอย่าง #ชานมข้นกว่าเลือด #MilkTeaAlliance ขึ้นมา

จีนไม่เข้าใจกระแสไม่นิยม-มองดราม่าคับแคบ

ทั้งนี้ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นถึงท่าทีของทางการจีนที่เข้าร่วมประเด็นดราม่าบนโซเชียลว่า

น่าสงสารมาก ศึกทวิตเตอร์ทำเอาสถานทูตจีนต้องลงมาคลุกฝุ่นเอง แยกเรื่องของรัฐกับรัฐ กับเรื่องของประชาชนกับประชาชนไม่ออกเอาเสียเลย พอเห็นชาวทวิตไทยไม่ยอมลงให้ จึงทำท่าตั่วเฮียเที่ยวติเตียนสั่งสอนพลเมืองของประเทศอื่นเสียเลย

จีนอ้างใหญ่แบบเกินเลยว่า “หลักการจีนเดียว เป็นจุดยืนที่รัฐบาลไทยและประชาชนไทยยึดมั่นมาเป็นเวลานาน ความคิดเห็นส่วนบุคคลบนโลกออนไลน์สามารถสะท้อนอคติและความไม่รู้ของตนเท่านั้น แต่ไม่สามารถแสดงถึงจุดยืนที่มั่นคงของรัฐบาลไทยและความคิดเห็นกระแสหลักของประชาชนชาวไทยได้”

จริงอยู่ว่าจีนสามารถกดดันให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ยอมรับนโยบายจีนเดียวเพื่อแลกกับผลประโยชน์ตอบแทนที่จีนให้ได้มากกว่าไต้หวัน แต่ไม่ได้แปลว่าจะสามารถบังคับประชาชนของประเทศเหล่านั้นให้ต้องยอมรับและทำตามรัฐบาลของตนได้ จีนสามารถกำหนดว่ารัฐบาลของประเทศอื่นต้องไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ ที่แสดงการยอมรับอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน เช่น ตัวแทนรัฐบาลไทยต้องไม่ไปเยือนไต้หวัน และไม่เชิญตัวแทนรัฐบาลไต้หวันมาประเทศของตน แต่จีนไม่สามารถห้ามพลเมืองของไทยไม่ให้ไปเยือนไต้หวัน และหากใครเกิดหลงรักประธานาธิบดีหญิงคนเก่งของไต้หวันขึ้นมา จนเอารูปของเธอไปติดไว้ในห้องทำงานหรือที่บ้าน ก็เป็นสิทธิที่ย่อมทำได้ จะติดธงไต้หวันไว้ในบ้านของตัวเอง ในเฟซบุ๊คของตัวเอง ก็ทำได้ จีนจะทำอะไรเขางั้นหรือ

รัฐบาลไทยยังบังคับให้คนไทยทุกกลุ่มยอมรับพวกเขาไม่ได้เลย ที่ยอมกันอยู่นี่ก็เพราะอีกฝ่ายมีอำนาจปืนกับกฎหมายอันอยุติธรรมในมือเท่านั้นหรอก กระนั้น เสียงก่นด่าก็ดังสนั่นมากขึ้นทุกวัน

การที่สถานทูตจีนตำหนิชาวทวิตไทยที่กำลังต่อกรกับชาวทวิตจีน ว่าเป็นเพราะอคติและความไม่รู้ (ก็คือโง่นั่นเอง) สะท้อนความไม่เข้าใจกระแสอารมณ์ความรู้สึกของพลเมืองในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกที่ไม่นิยมจีนมากขึ้นเรื่อยๆ จีนไม่เข้าใจอารมณ์ของคนรุ่นใหม่ไทยที่ไม่เคยอินกับความเป็นจีนเอาเสียเลย ท่าทีแบบนี้จึงมีแต่จะเป็นผลเสียกับจีนมากกว่า

หลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไปกับการสร้างอำนาจโน้มนำ (Soft power) แต่นี่กลับเป็นอำนาจอันอ่อนแอที่สุดของจีนก็ว่าได้ จีนสามารถซื้อผู้นำอำนาจนิยมของประเทศกำลังพัฒนาได้ แต่กลับสร้างความรู้สึกแปลกแยก-ไม่พอใจให้กับประชาชนมากขึ้น นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยด้วย

สุดท้าย ประเด็นที่แย่ที่สุดในแถลงการณ์ของสถานทูตจีนคือ มองสงครามทวิตเตอร์เป็นเรื่องของแผนการสมคบคิดของ “คนบางกลุ่มบนโลกออนไลน์ใช้โอกาสนี้ทำให้เรื่องขยายใหญ่โตลุกลามออกไป พยายามวางแผนมุ่งร้าย ยุแยงเพื่อทำให้ผู้คนผิดใจกัน ซึ่งความคิดนี้ไม่มีทางประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน”

เฮ้อออออ วิธีคิดของตั่วเฮียกับโซ้ยตี๋ในกะลาแลนด์นี่ช่างไม่ต่างกันเสียเลย