จิตต์สุภา ฉิน : แชร์เคล็ดลับ จากมือโปรแห่งการกักตัว

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

นับตั้งแต่ทางการประกาศขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้านให้ได้มากที่สุดเพื่อระงับการแพร่ระบาดของไวรัส เราก็ได้เห็นการถกเถียงในหลายมิติเกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียของไทย

หลักๆ ก็คือการชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนที่สามารถขังตัวเองอยู่ในบ้านได้โดยที่ไม่อดตายนั้นคือชนชั้นที่มีอภิสิทธิ์แล้ว

เทียบกับกลุ่มคนที่แม้จะกลัวติดไวรัสแค่ไหน แต่ก็ยังจำเป็นต้องออกไปทำมาหากินทุกวันเพราะไม่รู้ว่าถ้าขังตัวเองอยู่ในบ้านแล้วจะเอาอะไรมากิน

ในขณะเดียวกัน ฉันก็เข้าใจดีว่าการขังตัวเองอยู่บ้านทั้งวันนั้นแม้จะเป็นอภิสิทธิ์ แต่มันก็ไม่ได้มาพร้อมกับความสนุก

จากเดิมที่แต่ละวันของเราถูกแบ่งออกเป็นชั่วโมง หรือใครตารางยุ่งกว่านั้นหน่อยก็อาจจะถี่ยิบเป็นรายนาที

ตอนนี้เราต้องมาอยู่กับที่และพบว่าเอาเข้าจริงๆ เวลาก็ผ่านไปช้าเหมือนกัน

ช่วงที่ผ่านมาฉันจึงพยายามนำเสนอเนื้อหาให้เป็นไอเดียสำหรับการกักตัว

โดยเนื้อหาที่ฉันชอบมากที่สุดก็คือการแชร์เคล็ดลับการต้องกักตัวอยู่ในที่แคบๆ จากคนที่ผ่านการกักตัวมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนการระบาดของไวรัสเสียอีก

คนกลุ่มแรกคือนักบินอวกาศ

 

ฉันว่านักบินอวกาศน่าจะเป็นหนึ่งในอาชีพที่โดดเดี่ยวและเคว้งคว้างที่สุด เพราะนอกจากจะมองออกไปไม่เห็นสีเขียวของต้นไม้ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้ฉันรู้สึกสดชื่นในแต่ละวันได้แล้ว ก็ยังต้องลอยไปลอยมาอยู่กับเพื่อนนักบินอวกาศไม่กี่คนในพื้นที่แคบๆ

รูปแบบการกิน การนอน การขับถ่าย ก็เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ติดต่อสื่อสารกับใครไม่ได้ทันอกทันใจ ไม่มีสติ๊กเกอร์ไลน์ให้ส่ง

ดังนั้น นักบินอวกาศนี่แหละที่น่าจะเป็นกลุ่มอาชีพที่เชี่ยวชาญกับการต้องอยู่ในที่แคบๆ เป็นระยะเวลานานๆ

ที่ผ่านมาก็มีนักบินอวกาศหลายคนออกมาแบ่งปันเคล็ดลับ อย่าง Scott Kelly นักบินอวกาศ NASA ที่เกษียณอายุแล้วและเคยใช้เวลาเกือบปีอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ก็ให้คำแนะนำว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องจัดการกับความคาดหวังของตัวเองก่อน

เนื่องจากเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าการระบาดของไวรัสจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน เขาจึงแนะนำว่าเราจะต้องเริ่มต้นด้วยวิธีคิดที่เปลี่ยนไป

คือจะต้องคิดเลยว่าเราจะอยู่แบบนักบินอวกาศแบบนี้ไปอีกเป็นปี

พอเริ่มจัดการความคิดได้แล้ว ก็ต้องตามมาด้วยความเข้าใจว่า แม้จะอยู่บ้าน แต่ก็ยังต้องมีตารางชีวิตเหมือนเดิม

จะต้องตื่นตามเวลาปกติ และเข้านอนตามเวลาปกติ

ต้องแบ่งตารางให้สำหรับการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายนี่แหละจะเพิ่มความเข้มแข็งให้ทั้งร่างกายและจิตใจ

เขาบอกว่า บ้านใครมีสวน ก็ออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ที่สวน แต่ใครอยู่ในห้องแคบๆ ก็ยังจำเป็นที่จะต้องเปิดม่าน เปิดหน้าต่าง ยื่นหัวออกไปข้างนอก ทำแบบนี้ให้ได้ทุกวัน

 

คราวนี้ไปดูอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดไม่แพ้นักบินอวกาศ ซึ่งก็คือคนที่ประจำการอยู่ในเรือดำน้ำนั่นเอง

Vincent Larnaudie-Eiffel อดีตผู้บังคับบัญชาการในเรือดำน้ำนิวเคลียร์บอกว่า เคล็ดลับที่เขาอยากจะแบ่งปันก็คือการต้องหา “พันธกิจ” ของตัวเองให้เจอ

หากต้องขังตัวเองอยู่ในห้องอพาร์ตเมนต์ เราต้องรู้อยู่แก่ใจเสมอว่าเรากำลังมีพันธกิจร่วมกับคนอื่นๆ ก็คือการปกป้องกันและกันและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์

และอย่าลืมหาอะไรทำ อย่างเขากับลูกเรือก็ต่อโมเดลบ้าง ปลูกต้นไม้กับแสงเทียมใต้น้ำบ้าง ถึงจะต้องอยู่ด้วยกันในพื้นที่แคบๆ กับคนอื่น แต่ทุกคนก็ควรจะมีพื้นที่เป็นของตัวเองสักเล็กน้อยก็ยังดี

 

นักแล่นเรือใบ Isabelle Autissier ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่แล่นเรือใบทั่วโลกตามลำพังบอกว่า เธอไม่เคยเหงาเลยเพราะเธอเลือกที่จะออกไปอยู่กับตัวเองคนเดียว แต่สำหรับใครก็ตามที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ก็อย่าลืมลองอะไรใหม่ๆ อ่านหนังสือ ฟังเพลงใหม่ๆ ถ่ายรูป วาดภาพ

สิ่งที่ต้องไม่ทำคือ อย่าไปนับวันนับคืนและคิดย้ำๆ ซ้ำๆ ว่าเมื่อไหร่มันจะจบลงเสียที

Cyprien Verseux นักชีวดาราศาสตร์ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในพ็อดแคบๆ กับอาสาสมัครอีก 5 คนเป็นเวลา 1 ปี ในโครงการจำลองการใช้ชีวิตบนดาวอังคารบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดามากที่จะรู้สึกว่าขวัญและกำลังใจฝ่อ ซึ่งนั่นไม่ได้เป็นสัญญาณของความอ่อนแอแต่อย่างใด ดังนั้น อย่าไปมัวแต่รู้สึกผิด

ถึงแม้ว่า Cyprien จะไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกเลยตลอดช่วงระยะเวลานั้น แต่สำหรับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีข้อจำกัดแบบเดียวกัน การคงไว้ซึ่งปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องไม่ละเลย แม้ว่าจะต้องเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นผ่านอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม

วิดีโอคอลล์หาครอบครัว เพื่อน คนรัก โทร.หาปู่ ย่า ตา ยาย บ่อยๆ โทร.หาพวกเขาเวลาเดิมทุกวันเพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเขามีอะไรที่จะตั้งหน้าตั้งตาคอยในแต่ละวันได้

และอย่าลืม กลุ่มคนสุดท้ายที่น่าจะมีข้อคิดที่น่ารับฟังไม่แพ้กัน ก็คือผู้ต้องขังในเรือนจำ

 

Bo Kyi นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเมียนมานาน 8 ปี โดยต้องอยู่ในห้องขังเดี่ยวแคบๆ ขนาด 2.5 x 3.5 เมตร นาน 1 ปี และในห้องมีเพียงแค่ถ้วย โถส้วม และเสื่อเท่านั้น ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเล่าประสบการณ์ว่าเขาผ่านช่วงเวลานั้นมาได้อย่างไร

เคล็ดลับของเขาง่ายๆ สั้นๆ คือ “ทำอะไรบางอย่าง” ตัวเขาเองอุทิศเวลาในห้องขังให้กับการเรียนภาษาอังกฤษ โดยให้ผู้คุมแอบส่งพจนานุกรมภาษาอังกฤษให้วันละหน้า เขาจะท่องทุกคำที่อยู่บนนั้น และกินมันเข้าไปเพื่อทำลายหลักฐาน

เขาบอกว่าการยอมรับความเป็นจริงและหลีกเลี่ยงข่าวด้านลบนี่แหละที่ทำให้เขาผ่านพ้นช่วงเวลาในคุกมาได้ อ้อ และมีอีกอย่างคือ การทำสมาธิ และเดินให้ได้ครบ 6,000 ก้าวต่อวันด้วย

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ไอเดียจากคนที่เคยผ่านการอยู่ในที่แคบๆ เป็นระยะเวลานานๆ มาก่อน

การกักตัวเองคงไม่มีสูตรตายตัว ใครสบายใจแบบไหนก็ทำแบบนั้น

ฉันว่าเราต้องไม่กดดันตัวเองด้วยการแข่งกันว่าใครจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มากกว่ากันเพราะนี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ

เลือกทำอะไรที่ทำแล้วรู้สึกว่าช่วยให้การกักตัวผ่านพ้นไปได้ง่ายดายขึ้นจะดีกว่า

ถ้าทุกคนทั้งหมดที่เล่ามาผ่านพ้นมาได้ เราก็จะต้องผ่านไปได้เหมือนกัน