กู้ค่ะ หนูชื่อ “กู้” มากับ “ต้น” และมากับ “ดอก” (เบี้ย) / ฉบับประจำวันที่ 10-16 เมษายน 2563

ลุ้นกันหนักเหมือนกัน
ว่าการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มหึมา 1.9 ล้านล้านบาท
ของ 3 แกนนำสำคัญ นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
จะเรียกรอยยิ้มอย่างมีความหวัง
เหมือนอย่างที่ชาวบ้านชาวเมืองยิ้มรับเชื้อไวรัล จากเพลงทีม ซุปเปอร์วาเลนไทน์ “เจน นุ่น โบว์” หรือไม่
ดูเหมือนรัฐบาลจะถอนหายใจอย่างโล่งอกได้ไม่น้อย
เพราะหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจ วันที่ 7 เมษายน 2563
ปรากฏว่า ตลาดหุ้นซึ่งถือเป็นดัชนีวัดความพอใจหรือไม่พอใจ แบบฉับพลันนั้น
ขานรับ ด้วยการปรับเพิ่มขึ้นถึง 76.11 จุด หรือ 6.68%
หุ้นจึงเขียวพรืดทั้งกระดาน
แน่นอนย่อมทำให้รัฐบาลและ ธปท.โล่งใจ ที่ “เริ่มต้น” ได้ดี

กระนั้นแม้กระแสด้านหนึ่งจะขานรับ และมีปฏิกิริยาเป็นบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจข้างต้น
แต่วันเดียวกันที่ ครม.มีมติ
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรองผู้ว่าการ ธปท. และอดีตรัฐมนตรีคลัง ได้ทำจดหมายในเชิงสัญลักษณ์ถึงนายเข้ม เย็นยิ่ง ผ่านเฟชบุ๊กของนายธีระชัย
ค้านการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ
ด้วยเพราะแผนการใช้เงินส่วนใหญ่ไม่รีบด่วน ควรตราเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาอย่างรอบคอบ
มิเช่นนั้นอาจทำให้ประชาชนกังวลว่าส่อพิรุธ หรือน่าสงสัยว่าประสงค์จะปิดปากสมาชิกรัฐสภามิให้ทำหน้าที่สอบถาม เป็นพฤติกรรมที่ขาดความโปร่งใสหรือไม่
ในกรณีที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเกินกว่างบประมาณที่มีอยู่ และจำเป็นต้องใช้เงินกู้นั้น
วิธีปฏิบัติปกติ รัฐบาลจะเสนอให้มีการออกพระราชบัญญัติงบประมาณกลางปี เพื่อสมาชิกรัฐสภาจะสามารถพิจารณา ตั้งข้อสังเกต และเสนอประเด็นเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้
สมาชิกรัฐสภาสามารถช่วยกันพิจารณาวิธีการสงวนและโยกย้ายงบประมาณให้ประหยัดอย่างเต็มที่เสียก่อนที่จะหันไปใช้การกู้เงิน
“ประชาชนไม่สามารถพึ่งพาลำพังพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เนื่องจากในวงเงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น เป็นจำนวนเงินมหาศาล ที่มากพอที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะสามารถไปทำข้อตกลงเพื่อแจกจ่ายผลประโยชน์ส่วนตนให้เกิดขึ้นแก่สมาชิกรัฐสภาได้อย่างทั่วถึง ถ้าหากสมมุติเกิดมีจิตไม่บริสุทธ์ อันอาจเป็นการซื้อเสียงในสภาเหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือไม่ ส่วนสมาชิกวุฒิสภานั้น เนื่องจากกลุ่มบุคคลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้คัดเลือก ประชาชนจึงไม่สามารถฝากความหวังได้อยู่แล้ว” นายธีระชัยระบุ

เช่นเดียวกับนายกรณ์ จาติกวณิช ผู้ก่อตั้งพรรคกล้า ได้แนะนำรัฐบาลให้ใช้เงินกู้ในงบประมาณที่เหลืออยู่ 3 แสนล้านบาทก่อนพิจารณาออก พ.ร.ก.กู้ฉุกเฉิน
เพราะพ.ร.ก.ควรใช้ในกรณีเร่งด่วนทันทีเท่านั้น
ส่วนที่เหลือควรเป็นการใช้เงินในงบประมาณปี 2564 ซึ่งต้องมีการรื้อใหม่ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ด้านพ.ร.ก.สินเชื่อ SME ธปท.ควรจะมีระบบประเมินความยุติธรรมในการเข้าถึงวงเงินจากแบงก์ชาติอย่างไร ให้ถึงผู้เดือดร้อนจริง ไม่ใช่เพียงลูกค้าเดิมของธนาคาร
ขณะที่ พ.ร.ก.ให้แบงก์ชาติรับซื้อพันธบัตรเอกชนไทย กฎหมายนี้น่าจะสุ่มเสี่ยงที่สุดเพราะไม่เคยมีมาตรการนี้ในประเทศไทยมาก่อน
คำถามคือ ธปท.จะซื้อในราคาเท่าไร
ผู้ถือหุ้นและธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้จะร่วมรับผิดชอบอย่างไร
ผู้ประกอบการ SME ที่ระดับเครดิตตํ่ากว่าเกรดที่แบงก์ชาติพร้อมรับ จะได้รับการช่วยเหลืออย่างไรหรือไม่

ขณะเดียวกัน นายวีรพงษ์ รางมากูร อดีตรัฐมนตรีการคลัง ก็ได้เสนอถึงปัญหาของการจัดการ
กล่าวคือ เมื่อตั้งเป้าจะใช้เงินงบประมาณ 1.9 ล้านล้านบาทพยุงเศรษฐกิจแล้ว
ต้องตอบคำถามคือ
จะใช้เงินอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
จะใช้อย่างไรเพื่อเป็นการลงทุนที่จะ “มีของ” เหลือเป็นโครงสร้างพื้นฐานต่อไปในอนาคต
จะใช้จ่ายอย่างไรให้ถึงมือของครัวเรือน ให้ครัวเรือนเป็นผู้ใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ ตามแต่เขาจะเห็นว่าสิ่งใดจะเป็นประโยชน์กับเขามากที่สุด

ถือว่าเป็นเสียงท้วงติงและเสนอแนะจาก 3 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่รัฐบาลคงต้องรับฟัง รวมถึงข้อเสนอจากกลุ่มอื่นๆ อย่างรอบด้าน
และรอบคอบ
เนื่องเพราะเกี่ยวพันถึงเงินที่มากถึง 1.9 ล้านล้าน
ซึ่งเป็นเงินกู้
เงินกู้ที่อาจพึมพำให้เข้าสมัย “เจน นุ่น โบว์” เสียหน่อยก็ได้
โดยแปลงเป็นข้อเตือนใจ ประดับรอยยิ้ม ว่า
กู้ค่ะ หนูชื่อ “กู้”
มากับ “ต้น”
และมากับ “ดอก” (เบี้ย) อันมหาศาล!!
————————————