ประชา สุวีรานนท์ : ‘Westworld’ กำเนิดจิตสำนึก (จบ)

 

ทฤษฎี Bicameral Mind บอกว่าสมองไม่ได้ทำงานแบบเดียวกับเมื่อสองสามพันปีที่แล้ว ในยุคก่อน มนุษย์ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าจิตสำนึกและระบบประสาทที่จะใช้ทำการทบทวนสิ่งต่างๆ

ซึ่งระบบนั้นก็คือการใช้ภาษาแบบอุปลักษณ์หรือ metaphorical language นั่นเอง

พูดอีกอย่าง มนุษย์พัฒนาและกลายเป็นปัจเจกบุคคลในทุกวันนี้ได้ เพราะเริ่มอ่านและเขียนหนังสือ

Westworld จึงต่างจากฉบับเดิม ในแง่ที่หุ่นยนต์ไม่ได้อาละวาดเพราะมีไวรัสหรือถูกแก้โปรแกรม มันเริ่มทำตัว “ผิดปกติ” เพราะถูกเขียนโค้ดไว้ให้พัฒนาตัวเองได้เหมือนมนุษย์ ซึ่งใช้ภาษามากขึ้นเรื่อยๆ

หุ่นยนต์เริ่มสงสัยว่าบ้านเมืองตลอดจนชีวิตของตนเองนั้นเป็นของเทียม ที่น่าสนใจคือ สะท้อนการกดขี่ทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งพื้นที่อย่างสวนสนุกหรือทั้งสังคมอาจจะหลอกลวงหรือล้างสมองของเราได้

ในฉบับเดิมของ ไมเคิล ไครก์ตัน การออกฆ่าคนของชายชุดดำมีนัยยะทางการเมือง นั่นคือสัญลักษณ์ของการกบฏ เมื่อมาเป็นซีรี่ส์ เรื่องของทาสหรือคนที่ถูกบังคับให้ยอมสงบปากสงบคำก็ยังอยู่ครบ

ต่างกันตรงที่เทความเห็นอกเห็นใจให้หุ่นยนต์ และมีความซับซ้อนกว่าคนที่เป็นนักท่องเที่ยวหรือพนักงานสวนสนุก

เราจะพบว่า จากทาสที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นทาส หรือเชื่อว่าตนมีหน้าที่เพียงเป็นโคบาล สาวบาร์ ชาวไร่ อีกทั้งมีไว้ให้คนที่มาเที่ยวระเบิดความเกลียดชังเข้าใส่ ไม่ว่าจะในซาลองหรือท้องทุ่ง

หุ่นยนต์เริ่มจะสงสัยใน “บทบาท” ของตัวเอง

จุดเด่นของซีรี่ส์คือ เปลี่ยนบทของชายชุดดำซึ่งเคยเป็นของ ยูล บรินเนอร์ มาเป็น เอ็ด แฮริส ซึ่งนอกจากจะเป็นมนุษย์แล้ว ยังเล่นกับการฆ่าเหมือนเป็นเกมแบบ Virtual Reality

ที่สำคัญ ในโลกที่เหมือนกับกะลาใบเล็กๆ แห่งนี้ เขาพยายามค้นหาที่มาของจิตสำนึก บางฉากสะใจมาก เช่น เมื่อชายชุดดำถลกหนังหัว (ที่มีรูปเขาวงกต) ของหุ่นยนต์ตัวหนึ่งและใช้มันเป็นเครื่องนำทาง

ในแง่นี้ หนังน่าจะใช้แนวคิดแบบซ้ายเรื่องจิตสำนึกปลอม (false consciousness) ซึ่งหมายความว่า ความทรงจำย่อมลบได้ นิสัยย่อมอัพเดตได้ และตัวตนย่อมกำหนดได้ ทุกอย่างถูกควบคุมได้ด้วยศรัทธาและการโฆษณาชวนเชื่อ ทุกวัน หุ่นยนต์จะลืมเรื่องที่ผ่านมาเพราะถูกสั่งหรือตั้งโปรแกรมใหม่ได้เสมอ

เรามักจะเชื่อว่าความทรงจําหมายถึงความจริง

เรานึกว่าความหลังของตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปไหน ลึกเพียงใด จะเป็นข้อมูลที่ลบทิ้งหรือเขียนขึ้นใหม่ไม่ได้ง่ายๆ

แต่ความจำนั้นปลอมได้ การลบความทรงจำมีในหนังไซ-ไฟหลายเรื่อง เช่น Total Recall, Eternal Sunshine of the Spotless Mind และ Ex Machina ทุกตอนของ Westworld จะมีฉากหุ่นยนต์ขณะตื่นจากหลับ ออกไปเพื่อถูกข่มขืน ฆ่า และทรมาน แต่พอตกกลางคืนก็จะลืมทุกอย่างและเริ่มเช้าวันใหม่อย่างสดใสเหมือนเดิม

บางครั้ง หนังอาจจะคล้าย Groundhog Day เพียงแต่มีเซ็กซ์และความรุนแรงมากกว่า

ในสวนสนุกแห่งนี้ เรื่องเล่า (Narative Line) จึงเป็นสินค้าสำคัญ ถ้ามันคือการเอาเหตุการณ์มาเขียนหรือเรียงลำดับใหม่ให้เป็นพล็อตที่น่าสนใจจนดูเหมือนความจริง

สำหรับนักแสดงที่เป็นหุ่นยนต์ ด้วยลีลาที่เหมือนการเขียนบทหนัง นั่นคือต้องให้ทุกคนมีแบ็กสตอรี่หรือเรื่องราวแต่หนหลัง อีกทั้งต้องยืดหยุ่นพอ แม้จะมีความวุ่นวายและไม่เดินตามบท เช่น ถูกคนยิงตายโดยไม่คาดฝัน แต่เรื่องเล่านั้นก็ยังลงตัว

คำถามในยุคดิจิตอล คือ ถ้าเราเป็นอิสระจากร่างกาย เช่น ไม่ต้องพึ่งพาร่างกายอีกต่อไป ในการเข้าถึงความรู้และข้อมูลชีวิตของเราจะมีเสรีมากขึ้นหรือไม่? คำตอบคือไม่ เพราะถ้าทุกอย่างเป็นไปตามโปรแกรมหรือ “บท” ที่เขียนไว้ เราก็ไม่มีทางจะหนีรอดออกไป

หรือถ้าเชื่อในจิตสำนึกปลอม ก็ต้องถามต่อว่า เมื่อเราถูกล้างสมองแล้ว จะเอาจิตใจที่จะต่อต้านการควบคุมมาจากไหน

22

นี่เป็นปัญหาทั่วไป บางคนอาจจะใช้ปรัชญาตะวันออกเข้าไปตอบ เช่น แท้จริงแล้ว ปัญหาอยู่ที่การยึดมั่นกับตัวตน รวมทั้งความรู้สึกที่ผ่านด้วยผัสสะและความคิดมากเกินไป

มองในแง่นี้ ชีวิตหุ่นยนต์ก็เหมือนอยู่ในวัฏสงสารหรือวงจรแห่งการเกิดแก่เจ็บตาย เช่น การดิ้นรนต่อสู้ล้วนก่อทุกข์ โลกมีแต่บทบาทที่ไม่จริง ตัวตนมีแต่ของปลอม การวิ่งหาสิ่งที่เรียกว่าอิสรภาพ สร้างแต่ความขัดแย้งกับโลกหรือจักรวาล และผลของมันคือการหมกมุ่นกับตัวเอง

ทั้งโดโรเลสและมีฟ ซึ่งล้วนต้องการหลุดพ้นจากความเป็นทาส ต่างก็ไม่มีทางออก สำหรับมีฟ อิสระหมายถึงการหนี ส่วนโดโรเลส หมายถึงการค้นหาอาร์โนลด์

สุดท้าย ก็พบว่าจะบรรลุ “การตื่น” ได้อย่างแท้จริง ต้องไม่ใช้โปรแกรม แต่ด้วยการยอมรับว่าหนีไปไม่พ้น?? เปลี่ยนโลกไม่ได้ และยอมเลิกต่อสู้

22

การเล่าโดยไม่บอกว่าเป็นเรื่องเกิดขึ้นในปัจจุบันหรือไม่ และใช้แฟลชแบ็กบ่อยๆ โดยไม่บอกว่าเป็นสมัยไหนจึงเป็นสิ่งสำคัญ มีไว้เพื่อบอกว่า เรื่องเล่าสามารถสร้างความหมาย แต่ในขณะเดียวกันก็โกหกได้

สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นจริง ในบางประเทศ ที่กำลังขัดแย้งกันอย่างหนัก อาจจะเพราะมีประวัติศาสตร์ ที่ไม่ตรงกันหรือเห็นพ้องต้องกัน

และส่วนมากมักจะเกิดจากการเอาความรักชาติมาฉาบเคลือบมากเกินไป

ในหนัง หลังจากที่หุ่นยนต์ตัวหนึ่งตื่นขึ้นมาบนเตียงผ่าตัด แต่เพราะไม่เคยออกไปจากโลกแคบๆ แม้จะมีอาวุธอยู่ในมือ ก็ถึงกับตัวสั่นงันงกและสับสนกับโลกกว้าง

และเมื่อเดินเข้าไปในโกดังที่มีแต่ศพ ก็เข่าอ่อน หันหลังและเดินกลับเข้าไปสู่โลกเดิม การทำเรื่องเล่าให้เป็นประวัติศาสตร์ก็เช่นกัน ย่อมได้ผลเสมอ

หนังบอกว่าจิตสำนึกจะเกิดขึ้น เมื่อเรากล้าทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง กล้าที่จะปฏิเสธเรื่องเล่าแบบเดิม เลือกที่จะเดินไปสู่ความไม่แน่นอน และเลิกคิดว่าเสียงที่ได้ยินในหัวมาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะมาในรูปของเสียงพระเจ้าหรือผู้มีอำนาจ

และยอมรับว่าเราเป็นผู้กำหนดชีวิตของตนเอง