ทางออกของโรคโควิด-19 / ทำไมไทยยังไม่ตรวจเชิงรุก ? ไขคำตอบกับอาจารย์หมอ “รอง ปธ.กมธ.สธ. วุฒิสภา”

ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข วุฒิสภา ฉายภาพสถานการณ์การควบคุมโรคโควิด-19 ณ ปัจจุบันในประเทศไทย กับข้อสงสัยว่า ทำไมเราไม่เริ่มตรวจเชิงรุก?

อาจารย์เริ่มปูพื้นให้เราเข้าใจก่อนว่า โคโรนาไวรัส เราเคยรู้จักมาแล้ว 6 ชนิด 6 สายพันธุ์ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 เป็นไวรัสลำดับที่ 7 เป็นไวรัสใหม่ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่เราจะพูดต่อไปนี้ มีฐานหลักมาจากไวรัส 6 พี่น้องเดิม ด้วยความที่เป็นสายพันธุ์ตระกูลเดียวกันก็พอจะประมาณหรืออนุโลมได้ว่าเวลามีเชื้อไวรัสระบาดในประชากรหมู่มาก

สมมุติว่ามีผู้รับเชื้อไป 100 คน จะมีผู้แสดงอาการประมาณ 20 คน (20%) ในผู้ที่ติดเชื้อนี้จะเป็นผู้ที่แสดงอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง 16 คนหรือ 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มีอาการ

แล้วจะมี 4 คนที่มีอาการหนักจนจะต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล

ตรงนี้เองทำให้ 16 คนจาก 20 สามารถที่จะอยู่ดูแลตัวเองที่บ้านได้ เพราะว่ายังไม่ต้องให้ออกซิเจนเครื่องช่วยหายใจ มีเพียง 4 คนจาก 20 ที่มีอาการจะต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลและต้องเข้า ICU บางคนก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

และในจำนวนนี้ก็จะนับรวมถึงผู้ที่เสียชีวิตด้วยเช่นกัน

เมื่อสภาพเป็นอย่างนี้ ต้องคำนึงต่อว่า โรงพยาบาลจะรับผู้ป่วยใหม่แล้วจะเพียงพอหรือไม่ โรงพยาบาลควรจะต้องรับผู้ป่วย 4 คนที่มีอาการมาก จาก 20 แล้วให้ 16 คนนั้นกักตัวเอง หรือจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม หรืออาคารที่พักอะไรก็ได้ เป็นโรงแรมหรือเป็นหอพักก็ได้ เช่นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังทำ เราเรียกว่าโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์

ถ้าระบบทั้งหมดเป็นเช่นนี้ จะสัมพันธ์กับการตรวจ หมายความว่าถ้าเราเริ่มระดมการตรวจผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด เราก็จะมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นดังที่เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาเจอ เพราะเขาเร่งตรวจมาก เร่งตรวจมากก็จะยิ่งเจอมาก

ยิ่งตรวจมากเท่าไหร่เราจะยิ่งพบผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ซึ่งก็ควรกักตัวเอง

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการ ก็จะต้องไปอยู่โรงพยาบาลสนาม

ส่วนน้อยก็จะเข้าโรงพยาบาล

สำหรับการตรวจมี 2 แบบ คือการตรวจหาไวรัสโดยตรง ซึ่งจะแม่นยำ และเป็นการตรวจหาตัวไวรัสจริงๆ แต่มีข้อด้อยคือ มีค่าใช้จ่ายมากเป็นหลักพัน ใช้เวลาการตรวจสำหรับแต่ละคน 4-6 ชั่วโมง แล้วก็ต้องไปต่อคิว แล้วก็จะทราบผลรวมๆ ใช้เวลา 2-3 วัน เมื่อมีคนไข้เยอะ

อีกวิธีหนึ่ง ไม่ใช่การตรวจหาไวรัสโดยตรง แต่เป็นการตรวจหาภูมิต้านทานของไวรัส เพราะว่าภูมิต้านทานมีลักษณะจำเพาะ ตรวจได้เร็วไม่ถึง 15 นาทีทราบผลและราคาถูก อยู่ในหลัก 300-500 บาท

แต่ภูมิต้านทานร่างกายของคนเรากว่าจะสร้างขึ้นมาใช้เวลาหลายวัน เพราะฉะนั้น ในช่วงแรกที่มีการติดเชื้อไวรัสถ้าเราตรวจหาภูมิต้านทานและยังตรวจหาไม่เจอและผลจะออกมาเป็นลบ นี่คือข้อด้อยที่จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดีว่าถ้าตรวจแบบว่องไวหรือ rapid Test ต้องทราบว่า การตรวจครั้งแรกถ้ายังไม่เจอเชื้อ ผลออกมาเป็นลบก็ยังสรุปไม่ได้ว่าท่านไม่ติดเชื้อไปแล้ว เพราะภูมิต้านทานยังขึ้นไม่สูงพอที่จะตรวจ

เพราะฉะนั้น จำเป็นจะต้องตรวจครั้งที่ 2 อาจจะใช้เวลาห่างกันถึง 7-10 วัน ถ้าไม่เจอจริงๆ ก็จะยืนยันได้ว่าเป็นลบ

ในบ้านเราถ้าสามารถหาชุดทดสอบได้ ผมก็เห็นด้วยนะครับที่เราจะเริ่มขยายทำเชิงรุกไปถึงประชาชนจำนวนมาก ออกไปบริการตรวจให้ตามหมู่บ้านได้ ก็จะทำให้อัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และทำให้ระบบสุขภาพดูแลผู้ป่วยหนักได้อย่างดี ลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้

เมื่อเราจัดระบบความคิดแบบนี้ทั้งระบบให้เข้าใจร่วมกัน จะทำให้โรงพยาบาลอยู่ในสภาวะที่รองรับผู้ป่วยหนักไหว จะทำให้แพทย์-พยาบาลมีเวลาดูแลผู้ป่วยหนัก ทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำ บ้านเราอัตราการเสียชีวิตของประเทศไทยต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลย

ในขณะที่อิตาลี สเปน มากกว่า 10%

คนติดเชื้อหายไปเองได้หรือไม่?

คนส่วนใหญ่จะหายไปเอง ผมยกตัวอย่างคนเป็นไวรัสตับอักเสบจนกระทั่งดีซ่านตัวเหลืองอย่างที่หลายคนรู้จักกันดี

พอมี 1 คนในชุมชนเป็นดีซ่านตัวเหลืองมีอาการคนเดียว แต่พอเราไปตรวจเลือดของคนที่อยู่ในหมู่บ้านนั้นหรือเพื่อนบ้านแล้วจะเจอคนอีกจำนวนมากเขามีภูมิต้านทานของไวรัสตับอักเสบได้โดยไม่เคยเป็นดีซ่าน ซึ่งจะมีจำนวนมากกว่าคนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการด้วยซ้ำ

ฉันใดก็ฉันนั้น ไวรัสโคโรนา ผู้ที่ติดเชื้อ 100 คนแสดงอาการ 20 คน อีก 80 คนเขาไม่มีอาการอะไรเลย แล้วจะหายจากการติดเชื้อไปได้ เขามีภูมิต้านทานทางธรรมชาติ อันนี้แหละครับเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ภูมิคุ้มกันหมู่”

ที่ในช่วงแรกของการระบาดที่อังกฤษได้ลองใช้วิธีนี้ดู คือปล่อยให้คนติดเชื้อตามธรรมชาติแล้วจะมีคนจำนวนมากที่ไม่มีอาการ จากนั้นจะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้โรคหยุดระบาดในประเทศนั้นๆ ได้

อันนี้เป็นหลักของไวรัสวิทยาและระบาดวิทยาจริง ที่ได้รับเชื้อมาแล้วไม่มีอาการก็หายไปตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้

แต่เหตุที่ต้องถอยทัพกลับไปก็เพราะว่าถ้าเลือกใช้วิธีนี้ กว่าจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ ประชาชนครึ่งประเทศต้องติดเชื้อให้หมดเสียก่อน คือประมาณ 70 ล้านต้องติดเชื้อ 35 ล้าน แล้วแสดงอาการประมาณ 1 ใน 5 ซึ่งจะมีประมาณ 1 ล้านคนที่อาการหนัก แล้วถึงขั้นเสียชีวิตอีกประมาณแสนคน

ทำให้อังกฤษต้องถอยวิธีนี้

ทางออกคืออะไรสำหรับโรคนี้

แนวทางที่ 1 คือการปล่อยให้การระบาดเป็นไปตามธรรมชาติแล้วรอให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

อังกฤษกับเนเธอร์แลนด์เคยเสนอว่าเราจะรอรักษาผู้ป่วยเอาแล้วกัน คนที่ติดส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อย แต่ถ้าไปคำนวณดีๆ ถ้าใช้วิธีนี้ก็ที่กล่าวไปจะมีผู้เสียชีวิตหลักแสน แล้วถ้าทั้งโลกใช้วิธีนี้จะเสียชีวิต 10-70 ล้านคน เช่นกรณีไข้หวัดใหญ่สเปนที่เคยระบาด สมัยนั้นคนเสียชีวิตหลัก 50 ล้านคน แล้วก็จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และโรคนี้ก็จะสงบไป

เมื่อวิธีการนี้เสร็จสิ้นอาจจะใช้เวลาประมาณสัก 6-9 เดือน

หมายความว่าให้ทุกคนไปใช้ชีวิตปกติเต็มที่ ดูคอนเสิร์ตได้ ไปเตะบอล ไปเที่ยวชายทะเล ใช้ชีวิตตามธรรมดา

แต่วิธีนี้โลกของเราไม่มีใครยอมรับเท่าไหร่ มีอังกฤษที่เคยเสนอไปก็พับไปแล้ว

วิธีที่ 2 คือวิธีการปิดบ้าน เป็นวิธีเข้มที่สุดอย่างประเทศจีนใช้ วิธีนี้ไม่ใช่แค่การปิดเมืองนะ แล้วยังไปมาหาสู่ระหว่างบ้านได้อยู่ วิธีปิดบ้านให้ปิดบ้านจริง ทุกคนไม่ออกจากบ้าน คนที่ต้องออกมาซื้ออาหารและยาที่จำเป็นก็จะคัดคนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดประมาณสัปดาห์หนึ่งเพียง 1-2 ครั้ง ออกมาสั้นๆ ใช้เวลาไม่ถึง 30 นาที จะเข้าบ้านก็ต้องล้างมือทำความสะอาดให้ดี เปลี่ยนชุดให้หมด

ทางที่ดีเราก็ต้องเทสต์คนที่จะออกจากบ้านด้วยว่าต้องไม่มีเชื้อเลย ต้องเป็นคนที่เทสต์ซ้ำๆ

วิธีนี้จีนใช้ได้ผลอยู่บ้าง เกือบ 100% ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน และข้อด้อยของวิธีนี้คือกิจกรรมการใช้ชีวิตทุกอย่างต้องยุติหมด ไม่ใช่เหมือนไทยเราในตอนนี้ เขาเข้มกว่าอีกมาก และผลกระทบทางเศรษฐกิจชีวิตผู้คนจะสูงอย่างมาก

คนจะมีความเครียด คนส่วนน้อยที่ไม่มีความเข้าใจก็มีความรู้สึกต่อต้าน และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องเข้าไปจัดการอย่างเข้มงวด อาจจะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง

ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและประชาชนมีวินัยต่ำจะยุ่งยากมากในการใช้วิธีนี้ ซึ่งประเทศจีนเขามีอำนาจทางกฎหมาย ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

แต่ข้อเสียคือ การจะเปิดประเทศใหม่นั้นทำไม่ได้ เพราะว่าประเทศจีนจะขาดภูมิคุ้มกันหมู่ ประชากรทั้งหมด 1,400 ล้านคน จะมีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคนไม่มีภูมิคุ้มกันเพราะไม่เคยติดเชื้อเลย เพราะว่าเขาทำดีเกินจนไม่มีใครติดเชื้อเลย

แต่ก็ถามว่าเขาทำทำไม ก็เพราะเขารอวัคซีนออกมาเมื่อไหร่เขาก็ต้องไล่ฉีดประชากร 1,400 ล้านให้ครบทุกคนถึงจะเปิดประเทศได้

อันนี้หลายคนไม่ได้ทราบ ไม่ได้คำนึงถึง เพราะคิดว่ากัดฟันแล้วปิดประเทศปิดบ้านไม่ยอมไปไหนกันเลย 3 เดือนแล้วเรื่องจะจบ มันจะจบเฉพาะประเทศตัวเอง หลังจากนั้นคนจะออกนอกประเทศแม้แต่คนเดียวก็ไม่ได้ นักท่องเที่ยวแม้แต่คนเดียวจะเข้ามาก็ไม่ได้ ไม่เช่นนั้น มันก็จะเกิดการระบาดใหม่รอบที่ 2 ได้

มาสู่แนวทางที่ 3 ซึ่งเป็นแนวทางที่ทั่วโลกใช้อยู่และไทยก็ใช้ด้วย คือการผ่อนสั้นผ่อนยาว ผ่อนหนักผ่อนเบาไปตามสถานการณ์

ถ้าช่วงไหนมีการติดเชื้อค่อนข้างสูงมากเท่าไหร่ มาตรการก็จะเข้มขึ้น

ถ้าช่วงไหนมีการติดเชื้อน้อย ประชาชนมีวินัยสูง ร่วมมือกันกับรัฐ มาตรการทุกอย่างก็จะผ่อนคลายลง

ยกตัวอย่าง อย่างเราบอกว่าอย่าออกมากินข้าวร่วมกัน อย่าออกมาเที่ยว คนไทยส่วนใหญ่ก็ร่วมมือ แต่ก็จะมีเพียงส่วนน้อยที่ยังไปสังสรรค์กันอยู่ริมชายหาดหรือไปขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยว อันนี้ก็จะทำให้มาตรการจำเป็นต้องเข้มข้นขึ้น

วิธีการนี้กว่าจะมีการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 12 เดือน

สิ่งที่จะเป็นความหวังก็คือการคิดค้นวัคซีนให้ได้โดยเร็ว ถ้าวัคซีนมาเร็วเท่าไหร่ มาตรการ 1, 2, 3 จะถูกยกเลิกทั้งหมด

แล้วก็ฉีดวัคซีนให้ครบประชากร 50 เปอร์เซ็นต์ การระบาดก็จะไม่เกิดขึ้นแล้ววัคซีนจะเป็นความหวังสูงสุด

ส่วนมาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการชะลอผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพื่อให้วัคซีนถูกพัฒนาขึ้น นี่คือทางออกและทางรอดของโรคนี้จากความรู้ จากประสบการณ์ที่เรามีจากโคโรนาสายพันธุ์ 1-6 เราก็ต้องฉีดวัคซีน (ไข้หวัดใหญ่) ทุกปี

ซึ่งมันก็จะมีลักษณะกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ