วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /สำนักงานถาวร พร้อมที่ปรึกษา

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

สำนักงานถาวร พร้อมที่ปรึกษา

 

หนังสือพิมพ์มติชนเติบโตมาด้วยข่าวสารการเมืองและการทำ “ความจริงให้ปรากฏ”

ระหว่างเหตุการณ์ทางการเมืองผันผวนแต่เหมือนปักหลักแห่งความเป็นประชาธิปไตยได้ดีระดับหนึ่งจากคำสั่งที่ 66/23 ในยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่มีนายทหารประชาธิปไตยเคียงข้างหลายคน อย่างน้อย พ.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ คือคนหนึ่งในขณะนั้น

การเติบโตของ “มติชน” ทางหนึ่ง คือเพิ่มจำนวนหนังสือออกมาอีกหลายเล่ม นอกจากประชาชาติธุรกิจที่เป็นหนังสือเศรษฐกิจธุรกิจฉบับแรกราย 3 วัน พิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์ที่ออกมาก่อนมติชนรายวันไม่นาน มีนิตยสารรายเดือน “พาที” ที่ออกมาก่อนหน้านั้น

และเรื่องหนึ่งที่ขรรค์ชัย บุนปาน กับพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ร่วมกันคิดทุกวันขณะนั้นคือการขยายที่ทางทำการบริษัท มติชน จำกัด ให้เป็นของตัวเอง และมั่นคงกว่านี้

ระหว่างที่กองบรรณาธิการเติบโตขึ้น มีจำนวนเพื่อนร่วมงานเพิ่มขึ้น มีกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ถึง 3 กองบรรณาธิการคือ มติชนรายวัน ประชาชาติธุรกิจ ราย 3 วัน และมติชนสุดสัปดาห์ รายสัปดาห์ รวมกองงานอื่น ทำให้สำนักงานตึกแถว 4 ห้อง 3 ชั้น บนถนนเฟื่องนครไม่เพียงพอ

วันหนึ่งต้นปี 2527 ทั้งสองเรียกประชุมเพื่อนร่วมงานระดับหัวหน้างานเพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะย้ายบริษัทไปอยู่หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 ไกลถึงถนนประชาชื่น หลังเรือนจำลาดยาว ถนนงามวงศ์วานโน่น

จะมีสักกี่คนที่รู้จักหมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 คงมีผมคนหนึ่งละที่รู้จัก เนื่องจากบ้านพี่สาวอยู่ในหมู่บ้านปูนซิเมนต์ไทย ใกล้กับหมูบ้านประชานิเวศน์ 1 เพียงเดินลัดถนนริมคลองประปาบางซื่อก็ถึงแล้ว

“แต่คงยังไม่ย้ายวันนี้พรุ่งนี้” เป็นสำนวนที่ใช้พูดกัน ทั้งสองบอกกับพวกเราที่ยังก้มหน้าก้มตาทำงานหนังสือพิมพ์รายวันมติชนวันต่อวัน จนกว่าสถานการณ์จะเป็นจริง

 

จากวันนั้นไม่นาน กองงานที่เป็นแนวหน้าทะลวงฟันต้องย้ายไปก่อนคือ “ฝ่ายจัดจำหน่าย” มียงยุทธ สฤษฎิ์วานิช เป็นผู้จัดการ กับเพื่อนร่วมงานธุรการ สายส่ง และแผนกจัดส่ง “เหมือนไปอยู่ท้ายไร่ปลายนา” ไม่มีผิด เพราะจะเรียกว่ากันดารก็ไม่ถูก แต่ค่อนข้างเปล่าเปลี่ยว ต้องเดินทางไกล และขาดแคลนอาหารการกินมื้อเที่ยงมื้อเย็น ไม่เหมือนกับอยู่ที่เฟื่องนครมีอาหารการกินทั้งวันตั้งแต่เช้ายันดึก

ขณะนั้นเครื่องพิมพ์ยังคงอยู่ที่หน้าวัดราชบพิธฯ ต้องวิ่งประสานงานด้วยมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ทั้งสั่งยอดและฝ่ายจัดส่งหนังสือพิมพ์ต้องมารับหนังสือพิมพ์ที่หน้าวัดราชบพิธฯ ตามเดิม

แล้วกำหนดย้ายสำนักงานครั้งที่สองก็มาถึง มีผมกับไพโรจน์ ปรีชา เป็นผู้สั่งการย้ายอุปกรณ์การทำงานทั้งหมด มีทวีพร พิชัย เป็นเลขานุการสนาม ที่เป็นกองบรรณาธิการให้แต่ละคนเก็บข้าวของต้นฉบับให้เรียบร้อย ย้ายโต๊ะ เก้าอี้ ตู้ และสรรพสิ่ง ยกเว้นโต๊ะที่ต่อเป็นโต๊ะข่าวต่างประเทศ กีฬา ในประเทศ

เช่นเดียวกับระบบการพิมพ์ต้นฉบับที่ไพโรจน์ ปรีชา เป็นผู้ดูแล ซึ่งต้องไปวางระบบ เดินสายไฟและสายอะไรต่อมิอะไรผมไม่ทราบให้เสร็จทันภายใน 18 ชั่วโมง

วันที่ย้ายเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้ทุกคนไปปฏิบัติหน้าที่ได้ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2528

ผู้จัดการกองงานทุกคนต้องไปตรวจดูสถานที่และการจัดโต๊ะ-เก้าอี้ให้เข้าที่เข้าทาง

อาคารเป็นตึก 3 ชั้น มีบันไดขึ้น-ลงตรงกลาง เดิมคือโรงเรียนนิเวศน์วิทยา มีชั้นประถมปีที่ 5 ถึงมัธยมปีที่ 4 (ป.5-ม.4) เนื้อที่หย่อน 5 ไร่ ไป 34 ตารางวา อยู่ในหมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 ติดกับสนามกีฬาของหมู่บ้าน

การซื้อ-ขายเป็นเรื่องของกรรมการผู้จัดการและบรรณาธิการอำนวยการ ขรรค์ชัย บุนปาน พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร และเจ้าของโรงเรียน คุณส้มเช้า ยุวบูรณ์ ผู้จัดการโรงเรียน คุณหวานเย็น เกษมกิจ (น้องสาว)

รายละเอียดเป็นอย่างไร ขอสารภาพว่า ตัวเองถนัดงานโยธา ธุรการและงานบรรณาธิการ ไม่ถนัดเรื่องธุรกิจการค้า ซื้อ-ขาย ด้วยความสัตย์จริงทุกประการ

สาบานด้วยยังได้

 

ประมาณ 10 โมงเช้าวันนั้น ผมเชิญขรรค์ชัยกับพงษ์ศักดิ์กล่าวกับเพื่อนร่วมงานซึ่งมีประมาณ 100 คน เข้าแถวบนพื้นซีเมนต์สนามบาสเกตบอล หน้าตึกทำงานเตรียมรับฟัง “ปฐมบทนิเทศน์” ของทั้งสองคน ก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานใหม่อันเป็นที่ทางถาวรของบริษัท มติชน จำกัด

ตึก 3 ชั้น บันไดขึ้น-ลงตรงกลาง ชั้นสามด้านซ้าย เป็นห้องบัญชี สุจรรยา วุฒิพงศ์ชัยกิจ สมุห์บัญชี และห้องกรรมการผู้จัดการ กับห้องรับแขก สร้างห้องน้ำบนกันสาดด้านหลังห้อง เช่นเดียวกับด้านขวา เป็นห้องบรรณาธิการอำนวยการ และฝ่ายโฆษณา ณรงค์ จุนเจือศุภฤกษ์ เป็นผู้อำนวยการฝ่าย

ชั้นสองซ้ายมือ เป็นกองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ ชลิต กิติญาณทรัพย์ เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ขวามือ เป็นกองบรรณาธิการมติชนรายวัน เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา

ชั้นล่างซ้ายมือ เป็นฝ่ายจัดจำหน่าย ซึ่งย้ายมาอยู่ก่อนหน้านี้ประมาณปีเศษ และห้องประชุมสัมมนา ขวามือ เป็นศูนย์ข้อมูล หรือห้องสมุด มีวิจิตรา บุญพรหม เป็นบรรณารักษ์

ด้วยโรงเรียนมีทั้งสนามบาสเกตบอลและสนามหญ้ากว้าง ยามเย็นจึงเป็นวงตะกร้อลอดบ่วงที่ขรรค์ชัยร่วมวงเตะกับผู้ที่นิยมกีฬาประเภทนี้ กี่คนตามแต่ใครจะแทรกเข้ามาได้ช่องไหน สำหรับออกกำลังกายยามเย็นที่ได้เหงื่อโชกร่างไปทุกคน ก่อนกลับบ้าน หรือไปร่วมวงเฮฮาประสาคนหนังสือพิมพ์

เช่นผมผู้เขียนเรื่องนี้ ไม่ค่อยชำนาญ เตะถูกเตะผิดยังเคยแทรกเข้าประดับวงกับเขา

 

เมื่อมีที่ทางเป็นเรื่องเป็นราว แม้จะยังเป็นอาคารเดียว แต่สามารถบรรจุเพื่อนร่วมงานทั้งดั้งเดิมและที่รับเข้ามาใหม่อีกจำนวนไม่น้อย ถึงกับพูดกันว่ามีที่ทางเพียงพอคงไม่ต้องย้ายไปไหนอีก

ส่วนที่สำคัญ ขรรค์ชัยยังเชิญนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ทั้งมาเป็นที่ปรึกษา เป็นนักเขียนมติชนรายวัน มติชนสุดสัปดาห์ พบปะสังสรรค์ทุกบ่ายวันศุกร์นั่งพูดคุยกันในห้องข้างห้องขรรค์ชัย มีประตูด้านข้างเปิดถึงกัน

นักเขียนและที่ปรึกษาพร้อมหน้าพร้อมตา ตั้งแต่ เสนีย์ เสาวพงศ์ (ศักดิชัย บำรุงพงศ์) ประธานที่ปรึกษา กรุณา กุศลาศัย ทวีป วรดิลก คำสิงห์ ศรีนอก มานิตย์ สังวาลย์เพ็ชร อุดม ศรีสุวรรณ สุธน ธีรพงศ์ เสริมศรี เอกชัย สุจินต์ อัครสมิต ธรรมเกียรติ กันอริ เสถียร จันทิมาธร เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ และขรรค์ชัย บุนปาน

นอกจากนั้นยังมี สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ไพฑูรย์ เนติโพธิ์ รวมทั้งรองประธานที่ปรึกษา พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร

ทำให้พวกเราชาวมติชนหลายรุ่นได้รับความรู้และประสบการณ์ทั้งการทำงานในอดีต การต่อสู้กับรัฐบาล ความคิดเห็นทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันจากท่านเหล่านั้นทุกครั้งที่ร่วมวงสนทนา