แมลงวันในไร่ส้ม/ โควิดหลัง ‘ฉุกเฉิน’ โอนอำนาจให้บิ๊กตู่ นำทัพสู้ ‘ศึกไวรัส’

แมลงวันในไร่ส้ม

โควิดหลัง ‘ฉุกเฉิน’

โอนอำนาจให้บิ๊กตู่

นำทัพสู้ ‘ศึกไวรัส’

สถานการณ์ COVID-19 ในไทย เป็นข่าวใหญ่มาตั้งแต่ปลายกุมภาพันธ์ และมีแนวโน้มจะยาวออกไปอีกหลายเดือน

ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 มีผู้เสียชีวิตเป็นรายที่ 10 และติดเชื้อทะลุ 1.5 พันรายจาก 60 จังหวัดทั่วประเทศ

ปัญหาไวรัสโควิด-19 เริ่มรุนแรงมาตั้งแต่ต้นเดือน ด้วยเหตุการณ์ใหญ่ๆ ได้แก่ การจัดมวยที่ลุมพินี ราชดำเนิน และที่นนทบุรี การสังสรรค์ที่ผับย่านทองหล่อ และการเดินทางออกต่างจังหวัด หลังจาก กทม.ประกาศปิดสถานที่เสี่ยง 26 แห่ง มีผล 22 มีนาคม

หลังจากจดๆ จ้องๆ มาพักใหญ่ รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีผลวันที่ 26 มีนาคม

ตามมาด้วยการประกาศเยียวยาสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบประกันสังคม รายละ 1.5 หมื่นบาท แบ่งจ่ายเดือนละ 5 พัน 3 เดือน

ปรากฏว่า มีผู้เข้าลงทะเบียนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม อย่างถล่มทลาย รวมยอดแล้วกว่า 18 ล้านราย

ขณะที่กระทรวงการคลังยืนยันว่า แม้เคยระบุว่าจะจ่ายให้ 3 ล้านราย แต่เมื่อลงทะเบียนเข้ามาเกิน ทางกระทรวงจะจ่ายทุกรายที่เข้าหลักเกณฑ์

พร้อมกันนี้ เริ่มเกิดกระแสให้รัฐบาลจัดหาเงินมาต่อสู้ และฟื้นฟูผลจากวิกฤตโควิด

โดยรัฐบาลเตรียมตัดงบฯ จากกระทรวงต่างๆ และเตรียมกู้เงินโดยมีภาคเอกชนเสนอว่า ควรจะกู้ถึง 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10% ของ GDP หรือ 1.7 ล้านล้านบาท

ก่อนการประชุม ครม. 31 มีนาคม ปรากฏข่าวว่ากระทรวงกลาโหมเตรียมขออนุมัติให้กองทัพเรือซื้อเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำระยะที่ 1 จำนวน 1 ลำ

ใช้งบประมาณกว่า 6,100 ล้านบาท

กลายเป็นกระแสโจมตีรัฐบาล เพราะเป็นที่ทราบกันว่า การทำงานต่อสู้โควิดยังขาดแคลนอุปกรณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจ จนภาคเอกชนต้องเข้ามาช่วยบริจาค

หน้ากาก แอลกอฮอล์ ชุดกันเชื้อของแพทย์ยังไม่ครบ ขณะที่เชื้อแพร่กระจายไปต่างจังหวัดอย่างกว้างขวาง และต้องการอุปกรณ์การแพทย์จำนวนมาก

ก่อนที่กระทรวงกลาโหมตัดสินใจถอนวาระดังกล่าวออกไป

 

ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ประกาศใช้ มีผล 26 มีนาคม ถึง 30 เมษายน แล้วค่อยประเมินสถานการณ์เพื่อต่ออายุเป็นคราวๆ ไป

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาแถลงรายละเอียดว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กฎหมายได้กำหนดเบื้องต้นไปว่า สามารถที่จะโอนอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมายใดก็ได้มาเป็นของนายกรัฐมนตรี

ซึ่งขณะนี้นายกรัฐมนตรีก็ได้รับข้อเสนอจากกระทรวงต่างๆ และได้ออกคำสั่งให้โอนอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามพระราชบัญญัติ 40 ฉบับในเบื้องต้น มาเป็นของนายกรัฐมนตรี

เป็นการโอนอำนาจในการสั่งการเสมือนว่านายกรัฐมนตรีเป็นเจ้ากระทรวง แต่ในความเป็นจริงรัฐมนตรีแต่ละท่านก็ยังเป็นเจ้ากระทรวงอยู่อย่างเดิม ไม่ได้หมายความว่าปลดรัฐมนตรีหรือให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ต้องให้รับผิดชอบ

เพราะรัฐมนตรียังต้องรับผิดชอบในกระทรวงและตามพระราชบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่อำนาจโอนมาเป็นของนายกฯ บางมาตรา หรือบางมาตรการ ซึ่งการโอนอำนาจนี้ก็ได้มีข้อความเขียนไว้ท้ายคำสั่งแล้วว่า ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้เข้าไปสวมอำนาจและสั่งการเป็นอย่างอื่น รัฐมนตรีที่มีอำนาจอย่างเดิมยังคงปฏิบัติหน้าที่และเจ้าหน้าที่ทั้งหลายยังปฏิบัติตามคำสั่งเดิมทุกอย่าง

เพียงแต่นายกรัฐมนตรีจะเข้าไปสวมอำนาจนั้นเมื่อไหร่ก็ได้ ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเท่านั้นเอง

นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้อำนวยการสถานการณ์ทั่วประเทศ รองนายกฯ ทุกคนเป็นผู้ช่วยในการรักษาราชการแทนนายกฯ เรียงตามลำดับ

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบด้านสาธารณสุขทั่วราชอาณาจักร ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านการปกครองเกี่ยวกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านการควบคุมสินค้าไม่ให้เกิดความขาดแคลน ไม่ให้เกิดการขายเกินราคา หรือปลอมแปลง

ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคง ดูแลทหาร ตำรวจ กอ.รมน.

นอกจากนั้น ยังมีหัวหน้าผู้รับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับด้านการประสานงานคือ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

เหตุที่ตั้งปลัดกระทรวงมาเป็นหัวหน้า เพราะในพระราชกำหนดฉุกเฉิน กำหนดว่า จะต้องมีหัวหน้าผู้รับผิดชอบโดยแต่งตั้งจากข้าราชการประจำ ซึ่งมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี เพื่อประสานงานบูรณาการกับข้าราชการทั่วประเทศ และสามารถสั่งการข้ามกระทรวงได้

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีประจำกระทรวงยังมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ทุกประการ

 

จากนั้นเป็นการตั้งศูนย์หรือหน่วยบริหาร คือ ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

และออกมาตรการต่างๆ ที่เรียกว่า ข้อกำหนด ซึ่งรัฐบาลออกมา 17 ข้อ แยกเป็น 3 ประเภท คือประเภทห้ามทำ ประเภทให้ทำ และประเภทควรทำ

หลักๆ เพื่อลดการเดินทาง การรวมตัว ตามหลักโซเชียลดิสแทนซิ่ง

สำหรับหน่วยบริหารที่นายวิษณุกล่าวไว้ ต่อมามีการจัดตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” หรือ ศบค.

มีการแถลงความคืบหน้าต่างๆ ทุกวันที่กระทรวงสาธารณสุข ก่อนย้ายไปทำเนียบรัฐบาล

โดยเปิดให้ผู้สื่อข่าวไปทำข่าวได้ ก่อนที่จะขอความร่วมมือให้ทำข่าวจากการไลฟ์สตรีมมิ่งทางเฟซบุ๊กและสื่ออื่น ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับมีข่าวว่า เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่มาช่วยงานทำเนียบ ติดเชื้อโควิด

สำหรับสถานการณ์ ณ ปลายเดือนมีนาคม ยังเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาการระบาดที่ขยายตัวออกไป

วงการแพทย์พยากรณ์ว่า ด้วยมาตรการที่ใช้อยู่ในขณะนี้ แม้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่การสกัดการเดินทาง สร้างระยะห่างทางสังคมหรือโซเชียลดิสแทนซิ่ง ยังไม่เกิดขึ้นตามเป้าหมาย มีแนวโน้มว่าในเวลาอันใกล้ อาจจะมีตัวเลขที่วิกฤตมากกว่าในขณะนี้

ขณะที่ประเทศทางตะวันตก ทั้งยุโรป และโดยเฉพาะสหรัฐ กำลังมีปัญหารุนแรงมากขึ้น

เดือนเมษายน จึงเป็นห้วงเวลาที่น่าจับตาสำหรับข่าวการแพร่ระบาดที่กระทบไปทั้งโลก