สุรชาติ บำรุงสุข | The Beginning of the End จากทุ่งใหญ่…สู่ทุ่งโควิด!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ด้วยสถานการณ์ในทุ่งใหญ่ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ จึงเสนอขอต่ออายุการทำงานของกระทิงจ่าฝูงเป็นเวลาอีก 1 ปี – สภารักษาความปลอดภัยแห่งชาติกระทิง”

หนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ของชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4 สถาบัน (2516)

หากมองเหตุการณ์การเมืองไทยปัจจุบัน แล้วนำมาเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์การเมืองในอดีตก็อดคิดถึงกรณีการใช้เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2516 ไม่ได้…

กรณีนี้เป็นจุดพลิกผันสำคัญ ที่สุดท้ายแล้วนำไปสู่เหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516

การนำเอากรณีดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับการเมืองปัจจุบันก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าจุดเริ่มต้นของการล้มลงของระบอบทหารในปี 2516 มาจากการหมดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล

จนในที่สุดหมดความชอบธรรม น่าสนใจว่าการรับมือของรัฐบาลปัจจุบันกับการระบาดของเชื้อโรคชี้ให้เห็นว่า

ความชอบธรรมของรัฐบาลกำลังตกต่ำมาก

และจะจบลงเช่นปี 2516 หรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง!

บริบทยุคจอมพลถนอม

การเผชิญกับการเมืองในระบอบรัฐสภาเป็นสิ่งที่ท้าทายความคิดและความอดทนของผู้นำทหารเป็นอย่างยิ่ง

หากตัดตอนการเมืองไทยจากยุครัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สู่ยุคจอมพลถนอม กิตติขจรนั้น เห็นได้ชัดว่าอำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของผู้นำทหารอย่างแทบเบ็ดเสร็จ

แต่เมื่ออยู่กับระบบการเมืองในระบบเปิดด้วยการเลือกตั้งที่เกิดในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 ซึ่งจอมพลถนอมและพรรคสหประชาไทยชนะการเลือกตั้ง แต่ผู้นำทหารกลับไม่สามารถควบคุมรัฐสภาได้ และขณะเดียวกันก็ไม่สามารถคุมพรรคของตัวเองได้ ประกอบกับมีความเปลี่ยนแปลงในระบบระหว่างประเทศที่มีการรับรองจีนแผ่นดินใหญ่เข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลแก่รัฐบาลไทย

ผลจากแรงกดดันเช่นนี้ทำให้สุดท้ายแล้วผู้นำทหารกลับสู่การแก้ปัญหาด้วยชุดความคิดเก่าว่า “เมื่อคุมสภาไม่ได้ ก็ล้มสภา” ซึ่งก็คือสภาวะที่ผู้นำทหารเมื่อลงมาเล่นการเมืองในระบบรัฐสภาแล้ว กลับไม่สามารถทนแรงกดดันได้ จนนำไปสู่รัฐประหารในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514

นอกจากนี้ เมื่อจอมพลถนอมมีอายุครบ 60 ปี แทนที่จะมีการเกษียณ กลับมีการต่ออายุราชการให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีก 1 ปี ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ในเรื่องนี้อย่างมาก (ดังเช่นคำล้อในข้างต้น)

ต่อมาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 นายตัดสินใจฟ้องคณะรัฐประหารในปี 2515 แม้คดีจะยังมาไม่ถึงศาล แต่คณะรัฐประหารได้เข้าจับกุม ส.ส.ทั้งสามนาย และตัดสินลงโทษจำคุกทันที (โดยใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร) ส.ส.ทั้งสามนายถูกลงโทษดังนี้ นายอุทัย พิมพ์ใจชน 10 ปี (จังหวัดชลบุรี) นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ 7 ปี (จังหวัดพิษณุโลก) นายบุญเกิด หิรัญคำ 7 ปี (จังหวัดชัยภูมิ) ทั้งสามคนกลายเป็นตัวแทนการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของทหาร

อีกทั้งในปลายปี 2515 รัฐบาลออกกฎหมายใช้อำนาจแทรกแซงฝ่ายตุลาการ จนถูกเรียกเป็น “กฎหมายโบดำ” (ประกาศคณะรัฐประหารฉบับที่ 299) และเป็นครั้งแรกที่สังคมไทยเริ่มเห็นการประท้วงของนิสิตนักศึกษา อันเป็นสัญญาณถึงการกำเนิดครั้งใหม่ของขบวนการนิสิตนักศึกษาในยุคหลังรัฐประหารปี 2500 และเสียงต่อต้านรัฐบาลก็เริ่มดังมากขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย

นอกจากจะมีการประท้วงรัฐบาลทหารในมหาวิทยาลัยแล้ว การประท้วงเริ่มขยับตัวออกนอกมหาวิทยาลัย การชุมนุมที่หน้าศาลฎีกาที่สนามหลวงมีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก

การชุมนุมต่อต้านกฎหมายโบดำเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกของนิสิตนักศึกษาในยุครัฐบาลทหาร เป็นการบ่งบอกถึงการมาของคนรุ่นใหม่ ซึ่งบทบาทเช่นนี้ห่างหายไปนานหลังการกวาดล้างจับกุมปัญญาชนครั้งใหญ่จากการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ในปี 2501

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเช่นในยุค “การเลือกตั้งสกปรกปี 2500” จึงไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอีก จนกระทั่งในปี 2515

ขบวนคนรุ่นใหม่

แรงต้านระบอบการปกครองรัฐบาลทหารของจอมพลถนอมมีมากขึ้น อันเป็นผลมาจากสถานะความน่าเชื่อถือของรัฐบาลตกต่ำลง และรัฐบาลไม่ประสบความสําเร็จในทางนโยบาย ภาวะคู่ขนานกับการถดถอยของรัฐบาลก็คือ การก่อตัวของขบวนการคนรุ่นใหม่ในรูปแบบของการทำค่ายอาสาสมัครมาตั้งแต่ปี 2511 และชัดเจนมากขึ้นจากการรวมตัวของนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการจัดตั้ง “กลุ่มบูรณะชนบท” ในปี 2513 อันเป็นดังจุดเริ่มต้นของการกำเนิดของขบวนการนักศึกษาไทย

การรวมกลุ่มครั้งสำคัญในปี 2513 ก่อตัวเป็น “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” (ศนท.) การตั้ง ศนท.จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่บอกถึงบทบาทของคนรุ่นใหม่

และทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของนิสิต นักศึกษากับการมีบทบาททางการเมืองและสังคมในรั้วมหาวิทยาลัย คงไม่ผิดนักที่การเคลื่อนไหวของนักศึกษาได้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในปี 2513 และการก่อตัวเช่นนี้ถูกรองรับด้วยอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่ไม่พอใจการบริหารของรัฐบาล

การต่อต้านประกาศฉบับที่ 299 ในปี 2515 จึงเท่ากับเป็นการเปิดบทบาทของนิสิตนักศึกษา และยังพาประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลออกสู่เวทีการประท้วงที่สนามหลวง…

ความไม่พอใจของประชาชนไม่ใช่สิ่งที่อยู่เพียงในหน้าหนังสือพิมพ์อีกต่อไป เท่าๆ กับที่การไม่ยอมรับรัฐบาลทหารไม่เป็นเพียงเสียงวิจารณ์ที่อยู่แต่ในบริเวณมหาวิทยาลัยเท่านั้น และยังถูกสำทับด้วย “การรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น” ที่นำโดย ศนท. การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นสร้างความรู้สึกร่วมในหมู่ประชาชนอย่างมาก

ขณะเดียวกันการรณรงค์ครั้งนี้กลายเป็นโอกาสสำคัญของการเคลื่อนไหวของขบวนนิสิตนักศึกษา ผลอย่างมีนัยสำคัญจากการนี้ก็คือ ทำให้ขบวนนิสิต นักศึกษาเป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น

เช่นเดียวกับที่ความชอบธรรมของรัฐบาลทหารค่อยๆ ลดลง

และยิ่งเวลาขยับไปมากเท่าใด สถานะของรัฐบาลในสายตาประชาชนก็ยิ่งถดถอยมากขึ้นเท่านั้น ชนชั้นกลางเริ่มไม่ตอบรับกับการคงอยู่ของรัฐบาล

คงไม่ผิดนักที่จะประเมินว่า ปี 2515 คือปีของการสร้างขบวนนิสิตนักศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในหมู่ประชาชน จนขบวนนี้เป็นเสมือน “แกนนำ” การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารในขณะนั้น

ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีทุ่งใหญ่ในตอนต้นปี 2516 ส่งผลให้ความไม่พอใจรัฐบาลขยายตัวออกเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลางที่เห็นถึงความล้าหลังของระบอบทหาร และขบวนนิสิต นักศึกษาได้แสดงบทบาทนำการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน

จนกรณีทุ่งใหญ่เป็น “จุดพลิกผัน” ของการล้มระบอบอำนาจนิยม

จุดเริ่มต้นของจุดจบ!

หากย้อนกลับในช่วงปลายปี 2515 ต่อเข้าต้นปี 2516 นั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีเหตุที่ทำให้รัฐบาลหมดความชอบธรรมลงอย่างรวดเร็ว และหมดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย… กรณีทุ่งใหญ่ได้กลายเป็นเหตุการณ์ที่เป็น “จุดเริ่มต้นของจุดจบ” (The beginning of the end) ของรัฐบาลทหาร

ในวันที่ 30 เมษายน 2516 มีเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตกที่บางเลน จังหวัดนครปฐม พบเขากระทิงและชิ้นส่วนของสัตว์ป่าในเครื่องที่ตก รวมทั้งมีภาพถ่ายที่สัตว์บริเวณนั้นกำลังแทะกินส่วนของซากสัตว์จากเครื่องดังกล่าว

แต่ในวันที่ 2 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรีจอมพลถนอมกล่าวว่า เครื่องที่ตกนั้น เป็นการไป “ปฏิบัติหน้าที่ราชการลับ ซึ่งลับมาก จนไม่อาจเปิดเผยได้”

ทั้งที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาร่วมกับกลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวร กลับพบว่ามีข้าราชการทั้งทหาร ตำรวจ และรวมทั้งพลเรือนได้เข้าไปล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ดังกล่าว

หลักฐานที่สำคัญมีทั้งภาพถ่ายของการตั้งแคมป์ ภาพของเฮลิคอปเตอร์กองทัพบก และภาพของซากสัตว์ป่าที่ถูกยิง

ซึ่งภาพเหล่านี้ขัดแย้งกับคำแถลงของผู้นำรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง

แต่รัฐบาลก็ยังพยายามใช้วิธีอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง เพื่อกลบเกลื่อนความผิดของนายทหารที่เกี่ยวข้อง และยิ่งอ้างด้วยเหตุราชการลับมากเท่าใด สังคมก็ยิ่งหมดความเชื่อถือที่มีต่อรัฐบาลมากเท่านั้น

เช่น พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร กล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นความลับ ยังบอกอะไรไม่ได้…” และยังกล่าวหาว่า เรื่องนี้เกิดจากการใส่ร้ายทหารของอธิบดีกรมป่าไม้ (3 พฤษภาคม) และจอมพลถนอมยืนยันอีกครั้งว่า “ทหารและตำรวจที่อยู่ในเฮลิคอปเตอร์ตก ไปราชการลับจริง… โดยผู้ที่ไปปฏิบัติราชการลับ เดินทางไปชายแดนด้านกาญจนบุรี” (9 พฤษภาคม)

หลังจากเกิดเหตุแล้ว ผู้นำทหารในรัฐบาลต่างออกมาปฏิเสธว่าภาพในสื่อไม่ใช่เรื่องจริง สิ่งที่ผู้นำทหารไม่ตระหนักก็คือ สังคมไม่เชื่อคำพูดของรัฐบาล และไม่เชื่อคำพูดของนายกรัฐมนตรี แต่สังคมเชื่อข้อมูลของนิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะจากภาพต่างๆ ที่ถูกทยอยตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์

เสียงสะท้อนจากสื่อมวลชนไปทางเดียวกันคือ ไม่เห็นด้วยกับคำแก้ตัวของรัฐบาล และมองว่ารัฐบาลโกหก

แม้เวลาจะล่วงเลยไป และหลักฐานปรากฏมากขึ้น แต่ผู้นำรัฐบาลก็ยังยืนยันด้วยเรื่องเดิม เช่น พล.อ.ประภาส จารุเสถียร (ยศในขณะนั้น) ยืนยันอีกครั้งว่า “คณะบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็นพรานบรรดาศักดิ์ไปราชการลับ…” (29 พฤษภาคม)

ผลที่เกิดจากกรณีนี้มีนัยสำคัญที่ทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว และเสียงสนับสนุนเทให้กับการนำเสนอความจริงของกลุ่มนิสิตนักศึกษา การเปิดเวทีอภิปรายที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีนักศึกษาและประชาชนสนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก

สังคมไม่เชื่อรัฐบาลแล้ว!

เมื่อนิสิต นักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาตินำเอาข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” (พฤษภาคม 2516)… หนังสือจำนวน 5 พันเล่มขายหมดทันทีในเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงที่หน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ราคา 5 บาท) อันเป็นคำยืนยันชัดเจนว่าความน่าเชื่อถือของรัฐบาลหมดลง พร้อมกับความชอบธรรมของรัฐบาลก็หมดลงเช่นกัน

ต่อมาเมื่อศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจัดการประท้วงที่หอประชุมจุฬาฯ ในวันที่ 21 มิถุนายน และเดินขบวนมายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จึงมีประชาชนเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก

ประมาณว่ามีผู้ร่วมการชุมนุมหลายหมื่นคน จนต้องถือว่าเป็นการชุมนุมใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในปี 2500

การเคลื่อนไหวครั้งนี้จบลงด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน

แน่นอนว่ารัฐบาลทหารไม่ยอม

การชุมนุมใหญ่ในเดือนมิถุนายนคือคำยืนยันว่าขบวนนักศึกษาพร้อมแล้วในการ “ลงถนน” เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และสังคมก็พร้อมแล้วที่จะสนับสนุนการเรียกร้องดังกล่าว

ต่อมา “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” เปิดการเคลื่อนไหวในวันที่ 5 ตุลาคม ให้รัฐบาลทหารประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว แต่ผู้เรียกร้องถูกจับ และนำไปสู่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการเมืองไทย

แม้รัฐบาลจะใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้…

เป็นครั้งแรกที่ทหารพ่ายแพ้

ทุ่งโควิด 2563

การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 นับจากปีใหม่แล้ว เป็นความท้าทายอย่างยิ่งกับรัฐบาลปัจจุบัน แม้รัฐบาลนี้จะไม่ใช่รัฐบาลทหารในแบบปี 2516 แต่ก็เป็นระบอบที่สืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาลทหารเดิม ที่นับจากรัฐประหาร 2557 ไม่ประสบความสําเร็จในเชิงนโยบาย และไม่สามารถดึงความสนับสนุนจากสังคมได้มากนัก (ไม่ต่างจากรัฐบาลจอมพลถนอมหลังรัฐประหาร 2514 ที่ไม่ประสบความสําเร็จ)

และเห็นชัดว่าเสียงสนับสนุนรัฐบาลในปี 2563 ลดลงอย่างมาก และชนชั้นกลางบางส่วนเริ่มทิ้งรัฐบาลแล้วจากความไร้ประสิทธิภาพ และความไม่มั่นใจในรัฐบาล

ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ รัฐบาลไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนหน้ากาก และหน้ากากมีราคาแพงมาก จนกลายเป็นสินค้าใน “ตลาดมืด” แม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนหน้ากากจากรัฐบาล

สภาวะเช่นนี้ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลงอย่างมาก

ในอีกด้านพบจากข้อมูลของสื่อมวลชนว่า รัฐมนตรีในรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งหน้ากากออกให้แก่จีนเพื่อทำกำไร และตั้งแต่เริ่มมีปัญหา รัฐบาลไทยเองมีท่าที “เกรงใจจีน” อย่างเห็นได้ชัด

จนวันนี้เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในการแก้ปัญหาโรคระบาดดังในทุกภาคส่วนของสังคม รัฐบาลกำลังเดินหน้าสู่ภาวะหมดความชอบธรรมทางการเมือง

หากเปรียบเทียบกับกรณีทุ่งใหญ่แล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่าความชอบธรรมของรัฐบาลปัจจุบันได้หมดลงไม่แตกต่างกับรัฐบาลจอมพลถนอม

ถ้าเช่นนั้นความชอบธรรมที่ลดลงมากในต้นปี 2563 จะนำไปสู่ตัวแบบในกรณีทุ่งใหญ่ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดของระบอบทหารในปี 2516 หรือไม่?