“ปั๊มลูกช่วยชาติ” ยากจะสำเร็จในสังคมไทย?

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนมีหนึ่งประเด็นถกเถียงสำคัญ อันจะส่งผลถึงแทบทุกเรื่องในอนาคต และไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยให้ผ่านไปได้

นั่นคือปัญหาประชากรของประเทศไทย ที่มีอัตราการเกิดต่ำ คนมีลูกน้อยลง

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนสนใจและพูดเรื่องนี้กันในวงกว้าง มาจากการที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดตัวโครงการ “มีลูกเพื่อชาติ” โดยรณรงค์ให้มีลูกเมื่อพร้อม แม่ปลอดภัย และลูกมีสุขภาพที่ดี ป้องกันภาวะพิการแต่กำเนิดด้วยวิตามินแสนวิเศษ อย่างโฟเลตและเหล็ก

ผลพวงจากการแถลงนโยบายนี้ ส่งผลให้ผู้คนในสังคมและผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง ล้วนออกมา “เสนอ” และ “แสดง” ความเห็นจำนวนมาก

เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยวางโครงสร้างและคำนึงถึงคุณภาพประชากรอย่างแท้จริง

กลุ่มคนในโซเชียลมีเดียหลายกลุ่มล้วนสะท้อนความเห็นถึงนโยบายของภาครัฐ ที่แทบจะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของสวัสดิการ สิทธิต่างๆ ที่จะมาส่งเสริมให้ผู้คนอยากมีลูกและสร้างครอบครัวแบบจริงจัง เมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก

นอกจากนโยบายกระตุ้นการมีบุตร ด้วยแคมเปญฮือฮา “แจกวิตามิน”

 

รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าขณะนี้ประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก

ส่วนหนึ่งมาจากเราลดสัดส่วนการเกิดอย่างรวดเร็ว จำนวนเด็กลดลงอย่างมาก ยิ่งคนรุ่นหลังๆ ไม่อยากมีลูกไม่อยากแต่งงานก็เป็นปัจจัยหนึ่ง

แต่สิ่งสำคัญที่มีการคิดกันมานานแล้ว ทางสภาปฏิรูปประเทศก็เคยเสนอ คือการทบทวนนโยบายประชากรกันใหม่ เพื่อไม่ให้เป็นการเกิดเพื่อเพิ่มแต่จำนวนเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเกิดที่มีคุณภาพด้วย

รศ.ดร.วิพรรณ บอกว่าสิ่งแรกที่น่าจะพูดกัน คือ “คนไทยควรจะมีการวางแผนชีวิตให้เป็น” เด็กรุ่นใหม่ต้องคิดแล้วว่าตัวเองจะทำอะไรต่อไปในชีวิต เริ่มแต่เด็กเลย วางแผนการเรียนว่าจะถึงระดับใด แต่งงานเมื่อไหร่ มีลูกตอนไหน มีลูกกี่คน

ตลอดจนการวางแผนชีวิตบั้นปลาย ควรจะมีการคิดที่จริงจัง เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดตั้งแต่ตอนต้นชีวิต ต้องคิดทั้งระบบ ไม่ใช่คิดตัดช่วง

“ประเด็นสำคัญคือการมีลูก ต้องมีเมื่อพร้อม เพราะมากางตัวเลขกันดูจากการให้กำเนิดเด็ก 5-6 แสนคน ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นแม่วัยรุ่นอายุน้อยกว่า 20 ปี ที่มาจดทะเบียนขอรับสิทธิการเลี้ยงดู อีกส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่ยังเรียนอยู่ ส่วนหนึ่งไม่พร้อม ส่วนหนึ่งไม่มีรายได้ ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่เป็นกรณีแบบนี้

“ฉะนั้น หากมีลูกต้องพร้อมและมีคุณภาพ มีน้อยไม่เป็นไรแต่ต้องมีคุณภาพ ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีคนน้อยแต่ก็เป็นมหาอำนาจได้ หากไม่ระวัง เพิ่ม (จำนวนประชากร) ไม่ดี (เพราะ) จะไปเพิ่มกับคนท้องไม่พร้อม”

 

คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต่อว่า ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ คนที่มีการศึกษาสูง อาจจะอยากมีลูก แต่กลับมีไม่ได้มาก รัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรในการสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้มีลูก

สิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้มีแค่มิติสุขภาพ แต่รวมถึงนโยบายสังคม ต้องเปลี่ยนการคิดถึงบทบาทหญิงชายในประเทศไทยใหม่ หากผู้หญิงส่วนใหญ่ยังต้องแบกภาระทำงานบ้าน เลี้ยงลูก เลี้ยงดูผู้สูงอายุ ใครจะอยากมีลูกมากๆ

อย่างน้อย หากมีสถานที่ดูแลเด็กและผู้สูงอายุที่มารองรับ ในช่วงเวลาที่สมาชิกครอบครัวออกไปทำงาน ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้

“หมดยุคที่ว่าจ่ายเงินไม่กี่บาทแล้วผู้หญิงจะอยากท้อง คงไม่ใช่แล้ว ฉะนั้น นโยบายต้องจัดการคนสองกลุ่มคือ “อยากท้อง” กับ “ท้องไม่พร้อม” ไปพร้อมๆ กัน” รศ.ดร.วิพรรณเสนอ

 

รศ.ดร.วิพรรณชี้ว่า สาเหตุหนึ่งที่คนมีลูกน้อยลง ก็เนื่องมาจากผู้หญิงที่มีการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงขึ้น คิดจะอยู่เป็นโสดมากขึ้น นี่เป็นค่านิยมใหม่ จนทำให้คนไทยแต่งงานน้อยลง เพราะสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ประกอบกับไม่เจอคนถูกใจ ไม่มีคู่ให้เลือก

ปัญหานี้ต้องแก้ด้วยการเปลี่ยนค่านิยม ตั้งแต่ระบบการศึกษา รวมทั้งสื่อต้องเน้นให้เห็นว่าการมีครอบครัวดีอย่างไร แต่สุดท้าย ยังหนีไม่พ้น “โจทย์ใหญ่” คือรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องหันมาสนับสนุน ส่งเสริมสิทธิประโยชน์ให้ผู้มีครอบครัว อาทิ ให้สิทธิเลือกซื้อที่อยู่อาศัยต่างๆ เป็นต้น

“อีกหนึ่งประเด็นที่อยากเสนอคือ คุณแม่ที่เป็นสาวทำงาน อยากมีลูกแต่มีไม่ได้ กลุ่มคนชนชั้นกลางหลายคนอยากมีลูก แต่มีไม่ได้ เพราะทำงานหนักหรือแต่งงานช้า มีปัญหาสุขภาพ มีลูกยาก

“ช่วงอายุที่ควรมีลูกคือ 24-29 ปี แต่มาดูดีๆ ผู้หญิงไทยเดี๋ยวนี้อายุ 30-35 ปี กว่าจะได้แต่งงาน เกือบ 35 ปี ถึงจะมีลูก ฉะนั้น ทำอย่างไรให้เขามีลูกได้ง่าย โดยไม่ต้องเสียเงินเป็นหลายๆ ล้านทางการแพทย์แบบนี้

“ต้องคิดทบทวนนโยบายและช่วยสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย ในทุกๆ จังหวัด ไม่ใช่กระจุกตัวในเมืองใหญ่ ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ถ้าช่วยกลุ่มนี้ได้จะช่วยเพิ่มคนที่มีคุณภาพได้ เพราะผู้หญิงวัยนี้ท้องยาก หรือท้องแล้วแท้งบ่อยอีก ฉะนั้น ต้องหันมาช่วยกลุ่มนี้ หากจะมีนโยบายเพิ่มประชากร”

นักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ แนะนำ

 

คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ชี้ว่าเรื่องประชากรถือเป็นเรื่องใหญ่ หลายหน่วยงานต้องเข้ามาช่วยกัน อาทิ กระทรวงศึกษาธิการต้องเข้ามาคิดวิธีในการให้เด็กฝึกวางแผนชีวิตตั้งแต่เด็ก

กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้ามาช่วยเหลือด้านสุขภาพและการแพทย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องคน หรือกระทั่งกระทรวงแรงงานเกี่ยวข้องอย่างมากในการวางนโยบายสวัสดิการสังคม

ทำอย่างไรที่จะอำนวยสิทธิประโยชน์ในการลา และกำหนดข้อบังคับสถานที่ต่างๆ ให้สามารถมีจุดเลี้ยงเด็กได้ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นการเข้ามาช่วยดูแล

รศ.ดร.วิพรรณ กล่าวอีกว่า การพยายามออกข้อบังคับให้สถานที่ทำงานเป็นพื้นที่สำหรับดูแลเด็กได้นั้นพูดกันมานานแล้ว แต่ไม่มีการทำอย่างจริงจัง

ตอนนี้ต้องมองไปให้ไกลกว่านั้น เพราะในยุคปัจจุบันจะต้องจัดพื้นที่ดูแลผู้สูงอายุด้วย ขณะเดียวกัน ต้องให้สิทธิวันลาแก่ผู้ชายมากขึ้น ไม่ใช่แค่ลาไปดูแลลูกในฐานะพ่อ แต่รวมถึงการลาไปดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุ

“นโยบายต้องไปให้ทันสังคมแบบองค์รวมไม่ใช่แยกส่วน สุขภาพทาง การศึกษาทาง เพราะทั้งหมดเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหมด เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ มันเชื่อมโยงกัน ต้องบูรณาการกันหมดเพื่อรองรับจุดนี้

“โดยต้องเริ่มทำทันทีและรอเวลากว่าจะได้เห็นผล เพื่อให้คนกลุ่มนี้ (ประชากรที่เกิดใหม่) เข้ามาสู่วัยแรงงานแทนที่คนสูงวัย (การเปลี่ยน) โครงสร้างประชากรเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ฉะนั้น ต้องคิดแล้วทำทันที ให้ทันต่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง”

 

ส่วนปัญหาสำคัญมากๆ อีกด้านคืออาชญากรรมล้นเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้คนไม่อยากมีลูก รศ.ดร.วิพรรณแสดงความเห็นว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการฟื้นฟูสังคม ปรับสภาพแวดล้อม ไม่ให้เด็กไปพบจุดเสี่ยง รวมทั้งพัวพันกับปัญหาติดเกม ติดยา เด็กแว้น ต้องจัดการปัญหาทั้งหมดนี้อย่างจริงจังเสียที

“ใครอยากจะให้ลูกเกิดมาเจอสังคมแบบนี้ มีลักวิ่งชิงปล้น แทงกันตายให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นรวดเร็ว กระแสบริโภคนิยมที่รุนแรง ต้องกลับมาคิดกันใหม่ ปรับสังคมของเราให้มีความพอดีพอเหมาะ ให้สังคมอยู่แบบเกื้อกูลกัน

“เพราะทุกวันนี้เราเกินพอดีทุกอย่าง ตามเขาไปทุกอย่าง ศาสนาไม่ยึดมั่น หลักการคำสอนที่หายไปต้องกลับมาใหม่ หน้าที่ศีลธรรมต้องปูตั้งแต่เด็ก เรื่องนี้สื่อสำคัญที่สุด ต้องทบทวน เพื่อจะได้ช่วยกันส่งเสริมให้คนมีคุณภาพ”

นักวิชาการผู้นี้ระบุว่าไม่ใช่เพียงแค่บ้านเราเท่านั้นที่เจอปัญหานี้ จีนเองก็อยากที่จะเปลี่ยนนโยบายด้านประชากร หลังจากก่อนหน้านี้ต้องการจำกัดการมีลูก

แต่ปัจจุบันผู้หญิงจีนกลับมีทัศนคติและค่านิยมเปลี่ยนไป ผู้หญิงปรับบทบาทใหม่ ออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ฉะนั้น ผู้ชายเองก็ต้องปรับบทบาทมารับหน้าเสื่อในการดูแลทั้งเด็กและผู้สูงอายุร่วมกัน ผู้หญิงจึงเริ่มอยากจะมีบุตรมากขึ้น

สิงคโปร์ประสบปัญหาประชากรหลายปี เขาก็มีมาตรการจูงใจให้คนมีลูกมากขึ้น มีเงินพิเศษให้ ให้ฝ่ายชายมีสิทธิลางานได้ มีโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยใหม่ โดยให้สิทธิกลุ่มคนที่สร้างครอบครัวเหล่านี้ก่อน เพราะในอดีต สิงคโปร์ก็เคยจำกัดการเพิ่มประชากร คนเลยไม่ยอมมีลูก เช่นเดียวกับทางฝั่งยุโรป

ปัญหานี้จึงไม่ใช่ปัญหาเล็ก หลายประเทศต่างต้องเผชิญหน้ากับมันและงัดกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้แก้ไขปัญหา

โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะต้องนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทั้งวิถีชีวิตและวิธีคิด ไม่ใช่แจกแค่เงิน แต่เราต้องจัดระบบสวัสดิการใหม่หมด ต้องปฏิรูปกันใหม่หมด ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องท้าทายและต้องทำได้แล้ว ถ้าทำต้นทางดี ปัญหาสังคมผู้สูงวัยหลังจากนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาในอนาคตอีกต่อไป

ทว่า ปัญหาต่างๆ ในกลุ่มผู้สูงอายุจะลดลง หลังจากเราวางแผนประชากรให้ดีครบถ้วนทุกมิติ