คนมองหนัง | 2 ซีรี่ส์น่าสนใจ ในยุค “เว้นระยะห่างทางสังคม”

คนมองหนัง

ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดหนักของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ผู้คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องเก็บตัวอยู่ในที่พักอาศัยเป็นหลัก โดยไม่สามารถไปเลือกเสพความบันเทิงหรือพักผ่อนหย่อนใจตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ ได้

การชมภาพยนตร์ในโรงหนังคืออีกหนึ่งกิจกรรมที่ย่อมหดหายไปในช่วงเวลานี้ ซึ่ง “การเว้นระยะห่างทางสังคม” (social distancing) กลายเป็นแบบแผนปฏิบัติหลักในการดำเนินชีวิตประจำวัน

จึงขออนุญาตใช้พื้นที่นี้แนะนำซีรี่ส์น่าสนใจบางเรื่อง ซึ่งเพิ่งออกเผยแพร่ในแพลตฟอร์มออนไลน์

และหวังว่าสื่อบันเทิงเหล่านี้จะสร้างความเพลิดเพลินใจให้แก่ท่านผู้อ่านที่กำลังเก็บตัวอยู่ในบ้านได้ไม่มากก็น้อย

The English Game

(มินิ) ซีรี่ส์ความยาว 6 ตอนจบที่เผยแพร่ทางเน็ตฟลิกซ์

นี่คือซีรี่ส์ว่าด้วยต้นกำเนิดของ “กีฬาฟุตบอลสมัยใหม่” ที่เปลี่ยนผ่านจากการเป็น “เกมของลูกหลานผู้ดีในโรงเรียนประจำ” มาสู่การเป็น “กีฬา/ความบันเทิงของมหาชน-ชนชั้นแรงงาน”

อย่างไรก็ตาม แม้ “ชนชั้น” จะเป็นหัวข้อหลักของซีรี่ส์เรื่องนี้ แต่ประเด็นสำคัญที่ “The English Game” พยายามนำเสนอ กลับเป็นแนวทางการประสานประโยชน์ระหว่างชนชั้น มากกว่าความขัดแย้งทางชนชั้น

ซีรี่ส์ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของกีฬาฟุตบอลเรื่องล่าสุดกล่าวถึงความขัดแย้งมากมายหลายระดับและเต็มเปี่ยมพลวัต

เริ่มจากความขัดแย้งระหว่างชนชั้นสูงกับชนชั้นแรงงาน (และนายทุนกระฎุมพี) เรื่อยไปถึงความขัดแย้งภายในชนชั้นสูงด้วยกันเอง ความขัดแย้งในหมู่นายทุนกระฎุมพี ความขัดแย้งภายในชนชั้นแรงงาน และความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับผู้ใช้แรงงาน

ความขัดแย้งทั้งมวลได้สูญสลายลงจนหมดสิ้นหรือถูกลืมเลือนไปเสียดื้อๆ ด้วย “กีฬาฟุตบอล” (ในฐานะพล็อตหลัก) และ “การมีมนุษยธรรม” ของปัจเจกบุคคลบางราย ซึ่งสามารถตัดข้ามผ่านกำแพงทางชนชั้น (ในฐานะพล็อตรอง)

ในบริบทหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งแนวคิดที่มองว่า “ฟุตบอล” เป็นการเล่นกีฬาเพื่อออกกำลัง (สิ่งที่มีคุณค่าอยู่ในตัวเอง) เป็นเกมนันทนาการในยามว่างของสุภาพบุรุษชนชั้นสูงผู้มี “น้ำใจนักกีฬา” ที่มุ่งเน้นการใช้ความแข็งแกร่ง-แรงปะทะทางร่างกาย ได้หมดอิทธิพลลง

แล้วค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยความเข้าใจซึ่งตระหนักว่า “ฟุตบอล” เป็น “อาชีพ” หรือ “ผลประโยชน์” ประเภทหนึ่งของเด็กหนุ่มชนชั้นแรงงานที่ขาดแคลนทรัพยากรและโอกาสทางสังคม

เป็นความบันเทิงในวันหยุดของคนยากไร้ตามหัวเมืองบ้านนอกที่ต้องตรากตรำทำงานหนักในโรงงานอุตสาหกรรมมาตลอดสัปดาห์

และเป็นการแข่งขันที่ขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์อันพลิกแพลง

ฉันทามติแห่งการปฏิรูปวงการลูกหนังเกิดขึ้นได้ด้วยเงื่อนไขที่ว่าคนคุมสมาคมฟุตบอลคือชนชั้นสูงผู้พ่ายแพ้บนสนามหญ้า ส่วนคนเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันในภาพรวมและยึดครองถ้วยรางวัลชนะเลิศคือชนชั้นแรงงานและนายทุนท้องถิ่น

ถึงที่สุดแล้ว บทสรุปใน “The English Game” จึงมีความสอดคล้องลงรอยกับความเห็นที่หลายคนเคยเสนอเอาไว้ทำนองว่า “ถ้าไม่มีกีฬาฟุตบอล อังกฤษก็คงจะมีการปฏิวัติไปนานแล้ว”

เดชเซียวฮื่อยี้ 2020

“Handsome Siblings” เป็นซีรี่ส์จีนกำลังภายในความยาว 44 ตอนจบ ที่เผยแพร่ในเน็ตฟลิกซ์

หลายคนอาจรู้สึกคุ้นเคยมากขึ้น หากบอกว่าซีรี่ส์เรื่องนี้ก็คือ “เดชเซียวฮื่อยี้ 2020” นั่นเอง

แม้จะมีการตีความปรับเปลี่ยนให้ตัวละคร “ฮวยบ่อข่วย” (หรือ “ฮวาอู๋ชเว” ตามซับไตเติลภาษาไทยของเน็ตฟลิกซ์) มีบทบาทสูงขึ้น จนกลายเป็น “พระเอก” เคียงคู่กับฝาแฝดอย่าง “เซียวฮื่อยี้” แต่เนื้อหาของ “เดชเซียวฮื่อยี้” ฉบับนี้ ก็อ้างอิง/เดินตามนวนิยายต้นฉบับของ “โกวเล้ง” เป็นหลัก

รายละเอียดดีๆ สนุกๆ ที่ถูกเขียนผ่านตัวอักษรโดย “โกวเล้ง” จึงถูกแปรสภาพมาเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างค่อนข้างจะครบถ้วน ไม่มีการสร้างเรื่องราวใหม่-ตัวละครใหม่ ให้สับสนสะเปะสะปะ-ผิดฝาผิดตัว-ย่ำแย่ขึ้น และบันเทิงน้อยลง

“เดชเซียวฮื่อยี้ 2020” มีเทคนิคการถ่ายทำที่ทันสมัยขึ้นจากซีรี่ส์ยุคทีวีบี แต่ก็ยังไม่ไปไกลสุดกู่ จนถึงขั้นซัดคอมพิวเตอร์กราฟิก (ปล่อยแสง) กันอย่างฟุ้งเฟ้อเปล่าเปลือง ดังที่ปรากฏกับซีรี่ส์จีนกำลังภายในกึ่งแฟนตาซียุคหลังๆ

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในจุดร่วมที่ “เดชเซียวฮื่อยี้” เวอร์ชั่นนี้มีคล้ายกับซีรี่ส์จีนร่วมสมัย คือการเลือกใช้งานนักแสดงหญิงหน้าตาดีงามสะสวยมารับบทนำ-บทสมทบนับสิบราย

จุดแข็งของกลุ่มนักแสดงหญิงใน “เดชเซียวฮื่อยี้ 2020” อาจอยู่ตรง “ความสวยอันหลากหลาย” (ผ่านหน้าตา-บุคลิกภาพ-ผิวพรรณ) ของพวกเธอ ไม่ได้ “สวยเป็นบล็อกเป็นพิมพ์เดียว” เหมือนเหล่าตัวละครหญิงในซีรี่ส์/หนังกำลังภายในรุ่นใหม่หลายเรื่อง

ตามความเห็นส่วนตัว “ความสวยอันหลากหลาย” ของบรรดานักแสดงหญิงใน “เดชเซียวฮื่อยี้” ฉบับล่าสุดนั้นมีคุณภาพใกล้เคียงกับ “ความสวย” ของกองทัพดาราหญิงใน “มังกรหยก 2017” เลยทีเดียว

กรณีคล้ายคลึงกันยังเกิดกับเหล่านักแสดงสมทบที่เต็มไปด้วยบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวอันโดดเด่นและผิดแผกแตกต่าง ข้อดีประการหนึ่ง เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตซีรี่ส์กำลังภายในได้โยกย้ายมาสู่จีนแผ่นดินใหญ่ ก็คือการมีทรัพยากรมนุษย์ทางด้านการแสดงที่หลากหลายยิ่งขึ้น หากเทียบกับเมื่อครั้งที่อุตสาหกรรมยังปักหลักอยู่ในฮ่องกงหรือไต้หวัน

ตัวละคร “สิบคนโฉด” (ที่จริงๆ มี 11 คน) และแก๊ง “สิบสองนักษัตร” (ที่มีบทบาทออกจอไม่ครบโหล) ใน “เดชเซียวฮื่อยี้ 2020” จึงมีสีสันและชีวิตชีวามากกว่าตัวละครกลุ่มเดียวกันในซีรี่ส์ฉบับก่อนหน้า

นอกจากสารหลักว่าด้วยการเชื่อมั่นในคุณค่าความดีงามของมนุษย์ ซึ่งอยู่เหนือการอบรมบ่มเพาะเลี้ยงดู ชนชั้น และสภาพแวดล้อม (ในอีกแง่หนึ่ง นี่เป็นการป่าวประกาศอย่างเชยๆ ว่า “สายเลือด/ธรรมชาติ” นั้นสำคัญกว่า “บริบทและเงื่อนไขทางสังคม/วัฒนธรรม”) รวมถึงการปอกเปลือก “วิญญูชนจอมปลอม” ที่ยังคงอยู่อย่างสมบูรณ์แล้ว

“Handsome Siblings” ก็จัดเป็น “ยาแก้คิดถึง” ชั้นดี สำหรับคอหนังจีนชุด-ขาประจำร้านเช่าวิดีโอที่เติบโตมาในยุค 80-90