ไซเบอร์ วอชเมน : วิกฤต “โควิด-19” บททดสอบชีวิตของเราทุกคน

เมื่อใดที่เรามักได้ยินคำว่า “วิกฤต” ในนิยามแบบภาษาไทย มักจะสื่อถึงเหตุการณ์แง่ลบ ให้เรารู้สึกกังวล สับสนหรือหดหู่ ทั้งๆ ที่จริง หากพินิจความหมายของคำว่า “Crisis” ที่ภาษาไทยเราแปลว่า “วิกฤต” นั้น ความหมายกลับไม่ได้เป็นลบอย่างที่เรารู้สึก แต่มีความหมายเป็นกลางๆ คือ

“จุดเปลี่ยนสำคัญ (Turning Point) หรือห้วงการตัดสินใจครั้งสำคัญ ที่จะส่งผลต่อชีวิตไม่ว่าดีขึ้นหรือเลวร้ายลง”

มนุษย์ต่างเผชิญวิกฤตในแต่ละห้วงยุคสมัย จนมาถึงยุคเทคโนโลยีดิจิตอลที่ถือว่าก้าวหน้า บททดสอบสำคัญก็ยังเข้ามาในชีวิตอยู่เสมอ

โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือ “โควิด-19” ก็คือบททดสอบครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงชีวิตของเราทุกคน ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

 

แม้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดจนถึงตอนนี้ แต่ก็สันนิษฐานว่าจุดเริ่มต้นของเรื่องมาจากตลาดค้าสัตว์ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน เชื้อไวรัสไม่ทราบที่มาได้ระบาดเมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และเพียงเวลาไม่กี่เดือน การระบาดได้ลุกลามไปทุกมณฑลของจีนและครอบคลุมไปทั่วโลก จำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นหลายแสนคน และเสียชีวิตหมื่นกว่าคน

ข้อมูลจากศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระบบของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ของสหรัฐที่แสดงข้อมูลผ่านโปรแกรมสถิติผู้ติดเชื้อ เผยให้เห็นจำนวนผู้ป่วยจากที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่องในช่วงมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ก่อนมาเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณในช่วงมีนาคม ตัวเลขเชิงสถิติที่ประมวลก็สะท้อนให้เห็นว่าความตื่นตัวในการรับมือกับโรคระบาดนี้ล่าช้าและไม่ทันการณ์

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะในขณะที่ไวรัสกำลังแพร่ระบาด นักวิจัยและแพทย์ก็ได้ศึกษารูปแบบของเชื้อโรคและเปิดเผยผ่านโลกออนไลน์ ที่ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลค้นคว้าได้ง่ายขึ้น ก็ช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าไวรัสนี้มีความสามารถแตกต่างจากรุ่นพี่ก่อนหน้าอย่าง SARs หรือ MERs แค่ไหน

ไม่ว่าความสามารถในการอยู่ในอากาศนานถึง 8 ช.ม. ติดอยู่กับวัตถุอย่างพลาสติกหรือเหล็กได้นานถึง 2-3 วัน และเชื้อยังอยู่กับเราแม้จะไม่แสดงอาการนานถึง 14-27 วันนั้น หมายถึงโอกาสตรวจจับว่าติดเชื้อหรือไม่ เป็นเรื่องยากมาก

จึงไม่แปลกหากในความรู้สึกหรือการรับรู้ของคนจำนวนมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตอย่างแท้จริง

 

เมื่อเกิดการระบาดของโรค ย่อมนำไปสู่ความวุ่นวายสับสนในการดำรงชีวิตของประชาชน รวมถึงยังท้าทายความสามารถของระบบโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วยว่าจะรอดจากความเสียหายได้มากแค่ไหน

แต่ในกรณีของ “โควิด-19” กลับเริ่มต้นด้วยการปกปิด

จีนซึ่งเป็นประเทศแรกของการระบาด แม้มีเทคโนโลยีข่าวสารที่อาจเทียบเท่ากับสหรัฐ แต่เพราะลักษณะวัฒนธรรมและระบบการเมืองแบบอำนาจนิยม อะไรที่บั่นทอนเสถียรภาพต้องถูกปิดเงียบ

การเซ็นเซอร์ข่าวสารจึงเกิดขึ้นพร้อมกับพยายามควบคุมการระบาด

แต่พอจีนคุมการระบาดไม่อยู่และคนเริ่มไม่พอใจกับการปกปิดความจริง จีนก็เสียศูนย์ครั้งใหญ่ และต้องใช้มาตรการคุมการระบาดขั้นสูงสุดถึงขั้นปิดเมืองและหยุดการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม มีชาวจีนโดยเฉพาะอู่ฮั่นที่ไม่รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ เดินทางกระจัดกระจายทั่วโลก ก่อนจีนจะแจ้งเตือนให้งดการเดินทาง

การปกปิดความจริงยังส่งผลกระทบต่อการประเมินการระบาดและความสามารถในการรับมือ อย่างองค์การอนามัยโลก กว่าจะรู้ถึงการระบาดก็ล่าช้าเป็นเดือน หรือการประกาศเป็นวิกฤตทางสาธารณสุขก็ประกาศเอาในวันที่ 30 มกราคม และยกระดับเป็นการระบาดครั้งใหญ่ (Pandemic) ในช่วงไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา

แน่นอนว่าผลกระทบคือความน่าเชื่อถือขององค์กรระหว่างประเทศ ที่ต้องยอมรับในที่สุดว่า ประเมินต่ำเกินไป

ไม่นับรวมถึงผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการปกปิดความจริงของโรคระบาด รวมถึง นพ.หลี่เวินเหลียง ที่ออกมาเปิดเผยความจริงเป็นคนแรกๆ ก่อนถูกรัฐบาลจีนสั่งปิดปากเงียบ

 

กรณีต่อมาที่น่าเป็นห่วงที่สุดคืออิตาลี เป็นอีกวิกฤตที่น่าสะเทือนใจที่สุด ข้อมูลสถิติและข่าวสื่อได้เผยแนวโน้มของผู้ป่วยที่อาจแตะถึงแสนคนภายในสิ้นเดือนนี้ และจำนวนผู้เสียชีวิตที่แซงหน้าจีนไปแล้ว

การระบาดที่เพิ่มขึ้นทวีคูณ มีผลทำให้รัฐบาลต้องสั่งปิดสถานที่สำคัญ ห้างสรรพสินค้า แหล่งท่องเที่ยว เพื่อยับยั้งการระบาด เรียกว่าสร้างความเสียหายให้กับอิตาลีอย่างมากจนทำให้ระบบเศรษฐกิจกำลังกลับเข้าสู่ภาวะวิกฤต

แต่ที่น่าเศร้าที่สุดคือ โลกยังได้รับรู้ช่วงเวลาอันเลวร้ายที่แพทย์ต้องเลือกทิ้งคนไข้ที่สูงอายุให้นอนรอความตาย เพื่อช่วยชีวิตคนอายุน้อยกว่า เพราะอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการดูแลและรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ

อย่างเช่นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองเบอร์กาโม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดในอิตาลี มีเตียงรองรับเคสดูแลเป็นพิเศษเพียง 43 เตียง แต่กลับมีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนเข้ารับการรักษามากกว่า 4,000 ราย

เนื่องจากระบบการดูแลผู้ป่วยของตะวันตก รวมถึงอิตาลียึดหลักการดูแลแบบคนไข้เป็นศูนย์กลาง (Patient-centered care) แต่การระบาดที่ล้นเกินจะรับไหว ได้กลายเป็นทั้งวิกฤตทางสาธารณสุขและวิกฤตด้านมนุษยธรรม

ภาวะล้นเกินระบบเช่นนี้ อาจเป็นนาทีสำคัญให้เปลี่ยนแนวคิดในการดูแลผู้ป่วยเพื่อรับมือการระบาดครั้งใหม่เพื่อรักษาและยับยั้งการระบาดให้น้อยและสั้นที่สุด

 

อีกประเทศที่มีแนวโน้มเป็นวิกฤตได้ในอนาคตนั้นคือประเทศไทย ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลปัจจุบันต้องเผชิญปัญหาทั้งภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนผ่านตัวเลขคนยากจนตามข้อมูลของธนาคารโลก จากปี 2558 อยู่ที่ 7.21% มาถึงปี 2561 เพิ่มขึ้น 9.85% หรือมีคนยากจนมากขึ้นถึง 6.7 ล้านคน วิกฤตความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลที่สืบทอดมรดกจากระบอบเผด็จการทหาร ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งภัยแล้ง ไฟป่า และฝุ่น PM 2.5

“โควิด-19” ระบาดจนมีแนวโน้มผู้ป่วยถึงพันคนภายในสิ้นเดือนนี้ ก็กลายเป็นผีซ้ำด้ำพลอย ให้กับเสถียรภาพของรัฐบาล

ประเทศไทยเลือกรับมือการระบาดในลักษณะคล้ายกับจีนในช่วงแรก แต่เพราะความแตกต่างของวัฒนธรรมในระบบบริหารประเทศและการบริหารข้าราชการแบบไทยๆ ที่เชื่องช้าและไม่เชื่อมโยงบูรณาการ จนผลักดันเป็นองคาพยพใหญ่ได้

ประกอบกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด อำนาจนิยมและโครงสร้างสังคมแบบลำดับชั้น ที่ตั้งอยู่บนความไม่เท่าเทียมของคน

การออกมาตรการแก้ไขปัญหาแต่ละอย่างจึงเหมือนเป็นการปกป้องคนกลุ่มหนึ่ง พร้อมกับผลักไสคนอีกกลุ่มไม่ให้เข้าถึงโอกาส ทั้งๆ ที่ควรได้ไปด้วย

เสมือนสร้างกำแพงที่มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้ขึ้นมา แบ่งแยกคนจากกัน เพียงเพราะเป็นพรรคพวกเดียวกัน หุ้นส่วนผลประโยชน์ร่วมกัน หรือคนบ้านนอก ผู้ต่อต้านรัฐบาล คนชังชาติ

บังคับให้ผู้คนเหลือทางเลือกไม่มากนักว่า จะป่วยตายหรืออดตาย แต่ก็ทำให้ไม่น้อยสั่งสมความไม่พอใจรัฐบาลถึงขั้นจงเกลียดจงชังทั้งรัฐบาลและผู้สนับสนุนอีกด้วย

 

ยูวาล โนอาห์ ฮาร์รารี เจ้าของผลงาน Sapien และ Homo Deus ได้เขียนบทความเรื่อง “ในการต่อสู้กับโคโรนาไวรัส มนุษย์กลับขาดภาวะผู้นำ” ให้กับนิตยสารไทม์ ยูวาลได้สรุปตอนท้ายที่สำคัญเกี่ยวกับการเผชิญวิกฤตนี้ว่า

ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์นี้ การต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นภายในมนุษย์เอง หากการแพร่ระบาดครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการแตกแยกและไม่ไว้ใจกันมากขึ้นในหมู่มนุษย์ ก็จะเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไวรัส

เมื่อมนุษย์ทะเลาะกัน – ไวรัสเพิ่มเป็นสองเท่า

ในทางตรงกันข้าม หากการระบาดของโรคส่งผลให้เกิดความร่วมมือระดับโลกที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

นี่จะเป็นชัยชนะที่ไม่เพียงต่อต้านเชื้อโคโรนาไวรัสเท่านั้น แต่ยังต่อต้านเชื้อโรคในอนาคตอีกด้วย