เกษียร เตชะพีระ | วิพากษ์ตุลาการภิวัตน์ (จบ)

เกษียร เตชะพีระ
(โจนาธาน ซัมพ์ชัน นักเขียน นักประวัติศาสตร์และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาอังกฤษแสดงปาฐกถารีธของบีบีซีประจำปี ค.ศ.2019 เรื่อง “กฎหมายกับความเสื่อมถอยของการเมือง” ซึ่งเป็นแนวโน้มหลักของหลายประเทศรวมทั้งไทยเราด้วย ผมจึงใคร่ขอนำมาเรียบเรียงเสนอเป็นอนุสติทางวิชาการดังนี้)

ตอนที่หนึ่ง : จักรวรรดิกฎหมายขยายตัว (ต่อ)

กฎหมายสามารถเพิ่มขยายความมั่นคงส่วนบุคคลได้ แต่การให้กฎหมายช่วยคุ้มครองมีราคาที่เราต้องจ่ายและมันก็อาจจะแพงด้วย ด้วยเหตุนั้นเราจึงมาถึงประเด็นย้อนแย้งที่สุดประเด็นหนึ่งของชีวิตสมัยใหม่

กล่าวคือ เราได้ขยายวงสิทธิต่างๆ ของปัจเจกบุคคลออกไป ขณะเดียวกันเราก็จำกัดขอบเขตที่ปัจเจกบุคคลจะเลือกได้ลงอย่างฮวบฮาบ ทางแพร่งแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออกชนิดนี้มีมานานหลายศตวรรษแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนไปในไม่กี่ปีหลังนี้คือระดับของความเสี่ยงที่ผู้คนพร้อมจะทนรับไว้ในชีวิตของตน ต่างจากบรรพชนของเรา เราไม่เต็มใจจะยอมรับดวงชะตาอันไม่แน่ไม่นอนว่าเป็นเหตุปกติธรรมดาแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์อีกต่อไป

เราถือว่าความมั่นคงทางร่างกาย การเงินและอารมณ์ความรู้สึกไม่เพียงเป็นสภาวะปกติธรรมดาเท่านั้น หากเป็นสิทธิที่พึงมีพึงได้ด้วย บางคนคงจะต้อนรับการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ แต่คนอื่นอาจจะประณามมัน พวกเราส่วนใหญ่คงมีทรรศนะต่อมันแตกต่างกันไปตามจังหวะต่างๆ ของชีวิตเรา ทว่าเราไม่ควรแปลกใจแต่อย่างใด มันเป็นการสนองตอบที่ชอบด้วยเหตุผลต่อการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในโลกของเรา

สมรรถนะทางเทคนิคที่ปรับปรุงดีขึ้นของมนุษยชาติทำให้เรามีอิทธิพลเหนือสวัสดิภาพของเราเองและคนอื่นกว่าแต่ก่อนมาก ทว่ามันหาได้ถูกประกบประกอบอย่างเท่าทันกันด้วยอารมณ์ละเอียดอ่อนทางศีลธรรมหรือความห่วงใยเพื่อนบ้านของเราที่ปรับปรุงดีขึ้นไม่

เคราะห์ร้ายซึ่งเคยดูเหมือนหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับบรรพชนของเรา กลับกลายเป็นดูเหมือนหลีกเลี่ยงได้อย่างยิ่งสำหรับเรา และเมื่อมันถูกมองว่าเป็นผลสืบเนื่องที่หลีกเลี่ยงได้จากการกระทำของมนุษย์แล้ว มันก็มีแนวโน้มจะกลายเป็นหัวข้อโดยชอบในการหาตัวผู้พึงต้องรับผิดชอบทางกฎหมายมา

ดังนั้นเองหลังภัยพิบัติทุกครั้ง เราจึงมักจะคิดว่าต้องมีการละเมิดกฎหมายหรือกฎหมายหย่อนยานไปแน่ๆ เราเฝ้ามองหาทางแก้ไขเชิงกฎหมาย การฟ้องร้องเอาผิด การดำเนินคดีอาญาหรือการบัญญัติกฎหมายออกมาเพิ่มเติม เสียงร่ำร้องดังระงมไปทั่วทุกแห่งหนว่า “ควรจะมีกฎหมายห้ามเรื่องนี้” และปกติแล้วมันก็มีอยู่หรือจะมีในไม่ช้า

แน่ล่ะว่าอันที่จริงกฎหมายหาได้สนองทางแก้ไขเคราะห์ร้ายทุกครั้งเอาไว้ไม่ กฎหมายคาดหมายว่าคนเราจะดูแลรักษาผลประโยชน์ของตัวเองภายในขอบเขตที่แน่นอน กฎหมายสันนิษฐานว่าเราคงต้องยอมรับความเสี่ยงบางอย่างเพราะต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจของการกำจัดความเสี่ยงเหล่านั้นให้หมดสิ้นมันสูงเกินไป

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของสาธารณชนเป็นเครื่องขับดันอันทรงพลังให้กฎหมายพัฒนาไป ถึงแม้ผู้พิพากษาจะไม่ได้ตัดสินคดีความตามความเห็นมหาชนแต่กระนั้นมันก็เป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาที่จะต้องคำนึงถึงค่านิยมทั้งหลายของสังคมซึ่งตนรับใช้

การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้กลายมาเป็นหนึ่งในบรรดาค่านิยมดังกล่าวอันทรงพลังที่สุดและส่งอิทธิพลต่อการพัฒนากฎหมายมากขึ้นทุกที

การเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในท่าทีรวมหมู่ของเราเหล่านี้ส่งผลกระทบสำคัญต่อวิธีการที่เราปกครองตนเอง เราไม่อาจมีกฎหมายมากขึ้นโดยไม่มีอำนาจรัฐเพิ่มขึ้นเพื่อมาประยุกต์ใช้มันได้

ทอมัส ฮอบส์ นักปรัชญาการเมืองผู้ยิ่งใหญ่แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 17 เชื่อว่าชุมชนการเมืองทั้งหลายสละเสรีภาพของตนให้กษัตริย์สัมบูรณาญาสิทธิ์เพื่อแลกกับความมั่นคง ทุกวันนี้มีสานุศิษย์ของฮอบส์อยู่น้อยคนนัก แต่สังคมสมัยใหม่ทั้งหลายกลับให้ความชอบธรรมแก่ทฤษฎีของเขาไปไกลโขทีเดียว

เราได้ทำให้รัฐกลายเป็นเลอเวียธัน (Leviathan ชื่องานเขียนทฤษฎีรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ของทอมัส ฮอบส์ ใน ค.ศ.1651 ซึ่งมาจากชื่อเรียกอสุรกายที่อยู่ในรูปพญานาคสมุทรยักษ์ในพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ – ผู้แปล) โดยเพิ่มขยายและเข้ายึดกุมอำนาจของมันเพื่อลดทอนบรรดาความเสี่ยงซึ่งคุกคามสวัสดิภาพของเรา

คริสต์ศตวรรษที่ 17 อาจได้ล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) ไปแล้ว แต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 กลับสร้างระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์ประชาธิปไตย (absolute democracy) ขึ้นมาแทนที่มัน

จะจำกัดและควบคุมอำนาจรัฐอย่างไรเป็นคำถามที่สดใหม่อยู่เสมอ การที่รัฐสมัยใหม่ผูกขาดการใช้กำลังอย่างมีการจัดตั้งและสมรรถภาพทางเทคนิคของมันที่เพิ่มพูนขึ้นได้ทำให้นี่กลายเป็นคำถามเร่งด่วนสำหรับยุคสมัยของเรายิ่งกว่าครั้งใดที่มันเคยเป็นมาสำหรับบรรพชนของเรา

ทว่าธรรมชาติของการโต้แย้งถกเถียงเรื่องนี้ในระบอบประชาธิปไตยย่อมแตกต่างออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บรรพชนของเรามองรัฐเป็นอำนาจอิสระซึ่งสถิตอยู่ในกษัตริย์ผู้ทรงเดชานุภาพกับบรรดาเสนาบดีของพระองค์ เป็นเรื่องปกติวิสัยที่พวกเขาจะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมืองของตนในเชิง “เรากับเขา” (แบ่งแยกระหว่าง “เรา” ที่เป็นพลเมืองกับ “เขา” ซึ่งเป็นรัฐ – ผู้แปล)

ทว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นรัฐหาใช่เขาอื่นไม่ อีกทั้งรัฐก็ไม่ได้อยู่ข้างเราหรือตรงข้ามกับเรา หากแต่รัฐก็คือเรา ซึ่งก็คือเหตุผลที่ทำไมพวกเราส่วนใหญ่สองจิตสองใจยิ่งนักเกี่ยวกับรัฐ เราขุ่นเคืองอำนาจของรัฐ เราคัดค้านการที่มันเข้ามายุ่ม ย่ามไม่เข้าเรื่อง เราวิจารณ์ความยโสโอหังของบรรดาตัวแทนและโฆษกของรัฐ แต่กระนั้นความคาดหวังรวมหมู่ของเราจะบรรลุผลได้ก็ต้องพึ่งพาการยืนกรานแทรกแซงของรัฐเข้ามาแทบจะในทุกพื้นที่ของชีวิตเราเท่านั้น เราไม่ชอบรัฐแต่เราต้องการมัน

ที่อันตรายก็คือความเรียกร้องต้องการประดามีของเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตยให้รัฐดำเนินการต่างๆ นั้นอาจอยู่ในรูปแบบอันเป็นที่น่ารังเกียจอย่างลึกซึ้งหรือกระทั่งกดขี่ต่อเหล่าปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มก้อนภาคส่วนต่างๆ อย่างเหมารวมในสังคมของเรา

ในปาฐกถาตอนหน้า ผมจะหวนกลับมาพูดประเด็นเรื่องความท้าทายในการกำราบเลอเวียธันให้เชื่องและควบคุมการกระทำของรัฐประชาธิปไตย