เมื่อ “Brexit” เขย่าโลก ตลาดเงิน-ตลาดทุนทรุด เคราะห์ซ้ำเศรษฐกิจไทย

ผลจากการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร (UK) ที่ฝ่ายต้องการแยกตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกกันว่า “Brexit” คว้าชัยชนะ ยังคงช็อกความรู้สึกของคนทั่วโลก และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าแรงกระเพื่อมครั้งนี้จะออกผลเช่นไร เพราะหลายๆ เรื่องยังไม่มีความชัดเจนหรือที่เรียกว่าเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

โดยไม่กี่ชั่วโมงหลังทราบผลการลงประชามติเมื่อ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ “เดวิด คาเมรอน” ประกาศลาออก และในวันนั้นตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่ง ส่งผลให้มูลค่าหุ้นทั่วโลกหายไปทันที 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 74 ล้านล้านบาท) ค่าเงินปอนด์ร่วงต่ำสุดในรอบ 31 ปี รวมทั้งค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงด้วย กระทบตลาดเงินทั่วโลกปั่นป่วน

ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินเยน และราคาทองคำ ปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย

ผลข้างเคียงอันเกิดจาก Brexit สะท้อนถึงความไม่พอใจต่อนโยบายของอียู ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ความแตกแยกในอียูขยายวงออกไป จากต้นตอวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน ที่ประชาชนในประเทศร่ำรวยรู้สึกไม่เป็นธรรมกับการเสียภาษีเพื่อนำไปอุ้มประเทศที่ขาดวินัยการคลัง

และยังมีความเสี่ยงว่าจะเกิดโดมิโนไปสู่ประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอียูที่ต้องการแยกตัวออกจากอียูตามอังกฤษ นอกจากนี้ผลของ Brexit ยังอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีนี้ออกไป เพราะต้องรอให้ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกนิ่งเสียก่อน

โดยที่ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลกระทบจาก Brexit จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเปราะบางมากขึ้น ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายด้าน โดยเฉพาะผลที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจอังกฤษและโครงสร้างของเศรษฐกิจยุโรปโดยรวม ซึ่งต้องติดตามโดยใกล้ชิดต่อไป

สำหรับประเทศไทย แม้ผลกระทบทางตรงจากการค้าจะไม่มาก แต่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกระยะสั้นที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงภาวะความไม่แน่นอนจากกระแสการแยกตัวของประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

“แม้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินไทยในเบื้องต้นค่อนข้างน้อย แต่ผลกระทบจากการปรับแผนธุรกิจของเอกชนและคู่ค้าต่างๆ ของอียู เพื่อรับมือกับการค้าและการลงทุนที่เปลี่ยนไป จะสร้างความไม่แน่นอนในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป” นายวิรไทกล่าว

ขณะที่ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวว่า ตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลก เป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ และไม่มีใครรู้ชัดๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในระยะข้างหน้า

สิ่งที่น่ากังวลคือความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น เพราะตลาดไม่คาดว่าผลประชามติจะให้อังกฤษออกจากอียู พอผลออกมาจึงเซอร์ไพรส์ตลาดและโลกตอบสนองด้วยราคาหุ้นตก ค่าเงินตก

ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวลงไปอีก

ที่ปฏิเสธไม่ได้คือผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกทั้งผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร และผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงิน ทำให้ตอนนี้บรรดาผู้ส่งออกและนำเข้าต้องเร่งปิดความเสี่ยงค่าเงิน

นายตรรก บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอล มาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ผลกระทบจาก Brexit และความไม่แน่นอนในการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนกรกฎาคมหรือกันยายน ส่งผลให้ค่าเงินส่วนใหญ่มีความผันผวนมากขึ้น ขณะนี้จึงเห็นผู้ประกอบการทั้งจากกลุ่มผู้ส่งออก และนำเข้า เริ่มซื้อประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) มากขึ้น โดยเฉพาะเงินปอนด์ ยูโร ดอลลาร์สหรัฐ

ความผันผวนในตลาดเงินจะส่งผลให้นักลงทุนหันไปเน้นถือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทในไตรมาส 3 อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงด้านค่าเงินยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเฟด ที่อาจจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยปีนี้เพราะผล Brexit ทำให้บรรยากาศการค้าการลงทุนหลายประเทศชะลอตัวลง และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

“ช่วง 3 เดือนข้างหน้า ค่าเงินจะมีความผันผวนมากขึ้น ทำให้กลุ่มธุรกิจส่งออกและนำเข้าเกือบทุกธุรกิจซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นถึงระดับ 80% ของปริมาณธุรกรรม ขณะที่อีก 20% เป็นการเปิดรับความเสี่ยงเพื่อหาจังหวะในการเก็งกำไรค่าเงิน จากช่วง 6 เดือนแรกซื้อประกันค่าเงินระดับ 50%เท่านั้น”

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากการสำรวจหอการค้าทั่วประเทศ พบว่าผู้ประกอบการกังวลปัญหาความไม่มั่นคงของอียูมาก เพราะกรอบการเจรจาและการดำเนินการภายหลังลงประชามติของอังกฤษต้องใช้เวลา 2 ปีซึ่งยังขาดความชัดเจน ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

ทั้งประเมินว่า Brexit จะกระทบต่อตัวเลขส่งออก รวมถึงทำให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวของไทยหายไป 20,000-70,000 ล้านบาท ทำให้การส่งออกไทยในปี 2559 มีโอกาสติดลบ 2% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 0.5-1% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปจะลดลง จากปกตินักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางมาไทย 6-7 ล้านคนต่อปี

นั่นจึงมีผลให้การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2559 จะขยายตัว 2.9% จากเดิมที่คาดการณ์ขยายตัว 3% โดยเฉพาะครึ่งปีหลังจะขยายตัวเพียง 3% จากเดิม 3.3%

“ปัญหา Brexit ทำให้ประเทศไทยเจอโจทย์ยากในรอบ 50 ปี เพราะเดิมมีทั้งเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทุกรายการ การส่งออกไทยชะลอตัวจากปัญหาเศรษฐกิจโลก และปัญหาเรื่องของโครงสร้างการผลิต รวมถึงกำลังซื้อที่ลดลงของเกษตรกร ปัญหาหนี้ครัวเรือนมากขึ้น” นายธนวรรธน์กล่าว

สิ่งสำคัญคือไม่มีใครรู้ว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น แต่ที่แน่ๆ คือเป็นการเพิ่มความเสี่ยง เพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นอย่างที่คาดเดาไม่ได้