คนมองหนัง | “กระบี่ 2562” : อาชญากรรมความทรงจำ

คนมองหนัง

ถ้าจะให้นิยามกันอย่างสั้นกระชับ “กระบี่ 2562” ผลงานการกำกับฯ โดย “อโนชา สุวิชากรพงศ์” นักทำหนังสตรีชาวไทย กับ “เบน ริเวอร์ส” ผู้กำกับฯ-ศิลปินชาวอังกฤษ ซึ่งกำลังเข้าฉายที่ “เฮาส์ สามย่าน” “ลิโด้ คอนเน็คท์” และ “บางกอก สกรีนนิ่ง รูม” ก็ถือเป็นภาพยนตร์ทดลอง ซึ่งมีรูปแบบผสมผสานระหว่างการเป็น “หนังเล่าเรื่อง” และ “หนังสารคดี”

อันที่จริง “กระบี่ 2562” ได้บรรจุ “เรื่องราว” ต่างๆ อยู่เยอะแยะมากมาย แต่คนทำก็ได้เลือกแล้วและมีฝีไม้ลายมือที่ “ร้ายกาจ” เพียงพอที่จะร้อยเรียง “เรื่องราว” หลากหลายเหล่านั้น ให้กลายเป็นภาพประกอบขนาดใหญ่ที่พร่าเลือน เลื่อนไหล กระทั่งคนดูยากจะจับได้ไล่ทันในทุกๆ องค์ประกอบ

มองเผินๆ หนังทดลองเรื่องนี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ “ตัวละครหญิงสาวอัตลักษณ์กำกวม” รายหนึ่ง (รับบทโดย “ศิรพันธ์ วัฒนจินดา”) ซึ่งเดินทางมาทำงาน/ท่องเที่ยว/สำรวจตรวจสอบสภาพภูมิทัศน์และความทรงจำของผู้คนบางรายในจังหวัดกระบี่

คล้ายกับว่า ในเวลาต่อมา หญิงสาวผู้นี้จะหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย จนเปิดโอกาสให้ “กระบี่ 2562” ได้ทดลองเดินออกนอกลู่นอกรอยและแปลงกายเป็น “หนังแนวอาชญากรรม-สืบสวนสอบสวน”

ดังนั้น ประเด็นหลักประเด็นหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้จึงได้แก่ ภาวะซ้อนทับกันระหว่าง “อาชญากรรม” และ “ความทรงจำ”

“อาชญากรรม” กับ “ความทรงจำ” เหมือนจะถูกนำมาวางทับกันได้อย่างพอเหมาะพอดี เมื่อ “กระบี่ 2562” นำภาพบางส่วนจากหนังเรื่อง “กำเนิดหอยทากทอง” ที่ถูกแบนจากเทศกาลศิลปะ “ไทยแลนด์ เบียนนาเล่” ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดกระบี่ มาเผยแพร่ซ้ำ

นี่ถือเป็นการ (ลอบ) นำเอาผลงานที่เคยถูกประเมินว่ามีเนื้อหาซึ่งอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ มาตรา 29 กลับเข้าสู่โรงภาพยนตร์และสายตาของสาธารณชน

ในกรณีนี้ “ความทรงจำที่เลือนหาย” และการหลีกเร้นจากระบบกฎหมายอย่างแนบเนียน (ซึ่งเราอาจนิยามว่านั่นคือ “อาชญากรรม” ชนิดหนึ่ง) จึงถักทอสอดประสานกันได้อย่างงดงาม

ทว่าสายสัมพันธ์ระหว่าง “อาชญากรรม” กับ “ความทรงจำ” ใน “กระบี่ 2562” ก็อาจเป็นอะไรที่สลับซับซ้อน นุ่มนวล และธรรมดาสามัญยิ่งกว่านั้น

หากเรามองว่าการดัดแปลง/ปรับเปลี่ยน/คัดสรร/ตัดทอน “ความทรงจำ” ของปัจเจกบุคคล นั้นถือเป็นการลงมือก่อ “อาชญากรรม” ต่อ “ความทรงจำ” ในรูปแบบหนึ่ง

“กระบี่ 2562” ก็มี “อาชญากรรมความทรงจำ” เช่นนี้แทรกซึมอยู่ตามรายทางเต็มไปหมด ราวกับจะพยายามย้ำเตือนผู้ชมว่า “ความทรงจำ” กับ “ข้อเท็จจริง” นั้นเป็นคนละสิ่งกัน

มีจังหวะหนึ่ง ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำตัวเป็น “หนังสารคดี” โดยไปสัมภาษณ์คุณลุงคนหนึ่งผู้เป็น “อดีตนักมวย” แกเล่าว่า ตัวเองอายุ 60 ปี และ (เพิ่ง) ย้ายมาอยู่จังหวัดกระบี่ตอนอายุ 14 ปี

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในพาร์ตของ “หนังเล่าเรื่อง” (เรื่องแต่ง) คุณลุงคนเดียวกันกลับบอกกับตัวละครหลักที่แสดงโดยศิรพันธ์ว่าตนเองอายุกว่า 70 ปี และบ้านหลังที่แกอาศัยอยู่นี้ มีอายุประมาณ 80 ปีได้แล้ว

สถานการณ์คล้ายคลึงกันยังถูกผลิตซ้ำ เมื่อ “ตัวละครหญิงสาวนักเดินทาง” ผู้เป็นศูนย์กลางของเรื่อง เข้าไปเยี่ยมชมโรงภาพยนตร์เก่าในตัวเมือง ก่อนจะโชว์รูปถ่ายเก่าและแจ้งให้ “คุณลุงฉายหนัง” ทราบว่าพ่อ-แม่ของเธอชอบมานัดพบกันที่โรงหนังแห่งนี้ช่วงปี 2524

แต่พอคุณลุงอดีตพนักงานโรงหนัง เดินทางเข้าสู่โลกของ “ภาพยนตร์สารคดี” เขากลับให้สัมภาษณ์ผู้ถ่ายทำว่าโรงหนังแห่งนั้นเริ่มต้นเปิดกิจการในปี 2525

พิจารณาในแง่นี้ “ความทรงจำ” ของผู้คน จึงเต็มไปด้วยเรื่องเล่าอัน “ผิดฝาผิดตัว” “บิดเบี้ยวบิดเบือน” และมิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

พร้อมๆ ไปกับการเล่นกลกับ “ความทรงจำ” “กระบี่ 2562” ยังพูดถึง “พื้นที่/สถานที่” แห่งเดิม ซึ่งตั้งมั่นอยู่ท่ามกลางกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง และผู้คนหลากหน้าหลายตาที่ผ่านมาแล้วผ่านไป

“ห้อง 754” ในโรงแรม “ไทย โฮเต็ล” จึงมีผู้เข้าพักเป็นทั้ง “ตัวละครหญิงสาวนักเดินทาง” และ “ดารานักร้องหนุ่ม” (อารักษ์ อมรศุภศิริ) ซึ่งมาถ่ายโฆษณาที่ต่างจังหวัด

“องคชาติจำลอง” ที่ “อ่าวพระนาง” จึงต้องต้อนรับการมาเยือนของทั้ง “ตัวละครนำหญิงรายเดิม” กับ “ไกด์สาวน้อยท้องถิ่น” และ “คู่รักนักท่องเที่ยวต่างชาติ” ที่เพิ่งมาเที่ยวประเทศไทยเป็นครั้งแรก

“มนุษย์โบราณปลอมๆ” จึงมีโอกาสเผชิญหน้ากับ “มนุษย์โบราณที่เหมือนจริงกว่า” (ทั้งๆ ที่เราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า “มนุษย์โบราณจริงๆ” นั้นมีวิถีชีวิต-รูปลักษณ์หน้าตาเป็นเช่นไร) ในจังหวัดกระบี่

ถึงกระนั้น คนทำหนังเรื่องนี้ก็ได้ใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งทำให้เราไม่หลงลืมเลือนว่า ในขณะที่ “ความทรงจำ” จำนวนมาก ต้องเผชิญหน้ากับสภาวะพลิกผันยากจะคาดเดา ส่วนวันเวลาและผู้คนก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปร “พื้นที่/สถานที่” แห่งเดิมให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แต่ก็ยังคงมีแบบแผนพิธีกรรมจำนวนไม่น้อยในสังคมนี้ ซึ่งคอยทำหน้าที่กล่อมเกลาการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา จากวิถีบนลงล่าง มาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนคล้ายเป็นความพยายามในการตรึง “ความทรงจำ” บางอย่างให้สงบแน่นิ่งอยู่กับที่

“กระบี่ 2562” แอบประกาศเจตนารมณ์ของตัวเองต่อประเด็นนี้เอาไว้ตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง ด้วยการออกแบบให้ผู้ชมคนดูในโรงภาพยนตร์มีโอกาสจะประพฤติปฏิบัติตนเป็นขบถที่ขัดขืนจารีตทางสังคมบางประการได้อย่างเงียบงันและชอบธรรม

การก่อ “อาชญากรรม” ต่อ “ความทรงจำ” ณ ห้วงเวลาดังกล่าว คือบ่อเกิดของ “อาชญากรรมความทรงจำ” อื่นๆ ที่กำเนิดขึ้นตามมาในภาพยนตร์เรื่องนี้