วงค์ ตาวัน | จากยุคดาวสยามสู่ยุคไอโอ

วงค์ ตาวัน

แม้ว่าผลจากการที่พรรคอนาคตใหม่โดนยุบจะส่งผลทางการเมืองอย่างแน่นอนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งวันเวลาเกี่ยวพันต่อเนื่องกัน โดยทำให้เสียงในสภาของฝ่ายรัฐบาลพ้นภาวะปริ่มน้ำทันที และยังตัดกำลังขุนพลคนสำคัญของฝ่ายค้าน ที่โดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองถึง 10 ปี ไม่สามารถเข้าร่วมการอภิปรายชำแหละรัฐบาลได้

แต่อดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่ส่วนหนึ่งกลายเป็นคณะอนาคตใหม่ ได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา ด้วยการขุดคุ้ยคดี “1MDB” เครือข่ายการทุจริตของอดีตนายกฯ มาเลเซีย นายนาจิบ ราซัก เชื่อมโยงมาถึงผู้นำในไทย

“เป็นการเปิดประเด็นให้สังคมไทยได้ติดตามคดีระดับอาชญากรรมโลก ที่อาจจะเกี่ยวพันกับผู้นำ คสช.”

ส่วนในสภา ก็ยังมีแกนนำของอดีตพรรคอนาคตใหม่ที่ไม่โดนตัดสิทธิ์เข้าไปทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจร่วมกับฝ่ายค้านได้ นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รวมทั้งนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ซึ่งเสมือนแจ้งเกิด จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นเปิดโปงขบวนการไอโอในโลกออนไลน์ ที่เกี่ยวพันกับกองทัพและ กอ.รมน.

มีการเปิดหลักฐานเอกสารที่ชัดเจนจำนวนมาก ทำให้ประชาชนได้เห็นปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร ที่ดำเนินการโดยฝ่ายทหาร

มุ่งสร้างความปั่นป่วนในโซเชียล สร้างกระแสโจมตีคนฝ่ายคิดต่างกับผู้มีอำนาจ ไปจนถึงพรรคการเมืองและนักการเมืองฝ่ายค้าน

“ไปจนถึงสร้างกระแสปกป้องนายกฯ และฝ่ายรัฐบาล!”

นายวิโรจน์เปิดเผยหลักฐานที่เห็นได้ว่า มีการใช้งบประมาณจาก กอ.รมน.ที่มีนายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชา ใช้กำลังพลจากหน่วยทหาร ปฏิบัติการไอโออย่างเป็นระบบ ทำกันอย่างจริงจังเป็นวงรอบตลอด 24 ชั่วโมง

“พร้อมกับระบุว่า นี่คือปฏิบัติการสร้างความแตกแยกขัดแย้งในสังคมไทย ทำให้คนไทยที่แตกต่างทางความคิดเกลียดชังกันและกัน”

ในระหว่างการอภิปรายแฉข้อมูลอันน่าตื่นตะลึง ก็ได้ปลุกให้เหล่าชาวเน็ตได้ร่วมเข้าทลายรังของขบวนการไอโอไปพร้อมๆ กับการซักฟอกในสภาด้วย

จากนั้นยังกลายเป็นประเด็นอันร้อนแรงในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่องข้ามวัน ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการของทหารเชื่อมโยงถึงรัฐบาลอย่างกว้างขวาง

“พลังคนรุ่นใหม่ที่อัดอั้นใจกับเหตุการณ์ที่พรรคอนาคตใหม่โดนยุบ จึงไม่ยอมปล่อยให้ขบวนการไอโอของรัฐที่ถูกกระชากโฉมได้ลอยนวลต่อไป”

ขณะที่ภายในรั้วมหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งโรงเรียนบางแห่ง อยู่ในช่วงเกิดปรากฏการณ์จัดชุมนุมแสดงปฏิกิริยาต่อการจากไปของพรรคอนาคตใหม่ และปกป้องประชาธิปไตยกันอย่างคึกคัก

จนกล่าวกันว่าขบวนการนักศึกษาที่ซบเซาไปยาวนาน ฟื้นกลับมาอย่างเป็นจริงเป็นจังแล้ว

จากกรณียุบอนาคตใหม่ ต่อเนื่องถึงการขุดคุ้ยปฏิบัติการข่าวสารของกองทัพโดย ส.ส.อดีตอนาคตใหม่ เชื่อมโยงส่งผลถึงการกลับมาของขบวนการคนหนุ่ม-สาวปัญญาชนได้อย่างชัดเจน!

การเปิดโปงปฏิบัติการไอโอของทหารโดย ส.ส.วิโรจน์ที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่ง กรณีสถานการณ์ไฟใต้ ซึ่งสามารถตรวจพบหลักฐาน การสนับสนุนงบประมาณของ กอ.รมน.กับเว็บไซต์ที่สร้างข้อมูลข่าวสารเพื่อเป้าหมายโจมตีคนคิดต่างกับรัฐอย่างโจ่งแจ้ง

โดยมีเว็บหลัก มีเพจเครือข่ายที่ทำหน้าที่แชร์ข้อมูลนั้นให้ขยายกว้าง

“ทั้งเป้าหมายของไอโอในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้คือมุ่งโจมตีใส่ร้ายนักการเมือง เช่น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และพรรคประชาชาติ รวมทั้งนักสิทธิมนุษยชนที่มีบทบาทสูง เช่น นางอังคณา นีละไพจิตร น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ”

สร้างข้อมูลเท็จเพื่อป้ายสี และปลุกปั่นยุยงให้เกิดความเกลียดชัง

เป็นการอธิบายให้เห็นว่า เหตุใดไฟใต้จึงไม่คลี่คลายไปในทางที่ดี

เพราะนักสิทธิมนุษยชน นักสันติวิธีทั้งหลาย ที่พยายามจะใช้แนวทางการสร้างสันติภาพ ปกป้องสิทธิของประชาชนในพื้นที่ กลับถูกมองเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ และใช้ปฏิบัติการไอโอทำลาย

“นั่นแสดงว่าแนวทางนโยบายการทหารนำการเมือง ยังเป็นแนวทางหลัก!”

นี่จึงเป็นเหตุให้เกิดการสู้รบกันไม่สิ้นสุด ทั้งที่การแก้ปัญหาทั่วโลกและแม้แต่การแก้สงครามคอมมิวนิสต์ในไทยก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า

การเมืองนำการทหารเท่านั้นคือการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

สงครามความขัดแย้งทางความคิดในหลายประเทศ จบลงได้ด้วยโต๊ะเจรจา

“สงครามคอมมิวนิสต์ในบ้านเรา สู้รบกันตั้งแต่ปี 2508 จบลงในปี 2523 ด้วยคำสั่งที่ 66/2523 ใช้การเมืองนำการทหาร ใช้การพูดคุยเจรจาให้วางปืน กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติในเมือง ต่อสู้ตามอุดมการณ์เดิมได้ ด้วยสันติวิธี และไม่มีการดำเนินคดีอาญาใดๆ”

ขณะที่กองทัพก็ยอมรับว่า ไฟใต้ก็ต้องจบด้วยการพูดคุยสันติภาพ

แต่ในทางปฏิบัติ นับจากทหารเป็นใหญ่ด้วยการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เริ่มเห็นว่าข้อเท็จจริงแล้ว การเจรจาลดน้อยลงไป จนเชื่อกันว่าเป็นการกลับคืนมาของทหารนำการเมือง

เหยี่ยวนำพิราบ

การเปิดโปงไอโอใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยิ่งตอกย้ำว่า การใช้ปฏิบัติการข่าวสารโจมตีนักสิทธิมนุษยชนดังกล่าว

บ่งบอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่เชื่อในแนวทางสันติ

ประเด็นหลักที่ ส.ส.อดีตอนาคตใหม่ อภิปรายระหว่างการขุดคุ้ยขบวนการไอโอนั้น พยายามจะชี้ให้เห็นว่าเป็นกระบวนการที่สร้างให้สังคมไทยยิ่งขัดแย้งแตกแยกและเกลียดชังกันรุนแรงมากขึ้นระหว่างคนคิดต่าง

“ตามทฤษฎีแบ่งแยกแล้วปกครอง”

แต่ขณะเดียวกันก็น่าห่วงว่า ยิ่งปั่นจะยิ่งทำให้ถึงจุดแตกหักลุกขึ้นมาฆ่ากันได้ง่าย

น่าเสียดายที่ภาพขึ้นจอในห้องประชุมสภา ระหว่างการอภิปรายดังกล่าว ซึ่งเป็นภาพศพแขวนคอกับต้นมะขามสนามหลวงแล้วโดนเก้าอี้ฟาด อันเป็นสัญลักษณ์ความรุนแรงของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

“เป็นภาพที่คนรุ่นหลังได้รับรู้เข้าใจผ่านมิวสิกวิดีโอประกอบเพลงแร็พดัง “ประเทศกูมี””

แต่ขึ้นภาพได้เพียงแวบเดียว ก็ถูกนายชวน หลีกภัย ประธานที่ประชุม ขอให้ตัดภาพนี้ออกด้วยเหตุผลว่าเป็นภาพความรุนแรง พร้อมกับพยายามอธิบายว่าตนเองก็คือเหยื่อคนหนึ่งของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

ทั้งที่อันที่จริงแล้ว การอภิปรายของ ส.ส.อดีตอนาคตใหม่ในกรณีนี้ ต้องการชี้ให้เห็นว่า หากปล่อยให้ขบวนการไอโอของรัฐที่สร้างกระแสบิดเบือนในโลกออนไลน์ ทำลายคนคิดต่าง นักการเมืองตรงข้ามรัฐ และยังเป็นการปลุกความขัดแย้งแตกแยกรุนแรง จนนำไปสู่เหตุการณ์เหมือน 6 ตุลาคมนั่นเอง

“เปลี่ยนจากหนังสือพิมพ์ดาวสยามตกแต่งภาพ โหมกระแสผ่านวิทยุเครือข่ายกองทัพบกโดยชมรมวิทยุเสรี มีสถานีวิทยุยานเกราะเป็นแม่ข่าย มาสู่ยุคดิจิตอล ที่ใช้ปฏิบัติการไอโอผ่านโซเชียล”

แต่เป้าหมายและสุดท้ายจะลงเอยเหมือนกันได้ ถ้าไม่หยุดยั้ง นั่นคือปลุกให้แตกแยกจนพร้อมจะฆ่ากัน

วันนี้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในออนไลน์ ของฝ่ายผู้มีอำนาจถูกประจานให้สังคมได้รับรู้ทั่วกัน

ทำหน้าที่ใส่ร้ายทำลายและปลุกปั่นมาตลอด

จะเป็นอีกประเด็นปัญหาที่กลุ่มอำนาจปัจจุบันจะต้องเผชิญกับการต่อต้านจากประชาชนที่ไม่ยอมรับรัฐบาลประชาธิปไตยแอบแฝงและโดยเฉพาะจากพลังคนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาว!