วงค์ ตาวัน | นายกฯ ในค่ายทหาร

วงค์ ตาวัน

การเมืองไทยยุคหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 กำลังจะครบ 1 ปีในอีกไม่นานนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ตอกย้ำว่าประชาธิปไตยของไทยเราภายหลังที่ คสช.คายอำนาจนั้น ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เต็มใบ มีสภาพครึ่งๆ กลางๆ เต็มไปด้วยความทุลักทุเล

กลุ่มอำนาจ คสช.เอง หรือกลุ่มคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมทางการเมือง มักอ้างว่า ประเทศไทยและคนไทยยังไม่พร้อมที่จะมีประชาธิปไตยเต็มเปี่ยม

“ควรเป็นแค่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ดังที่เราได้เห็นมาตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา”

นั่นคือ เสียงของประชาชนที่ไปลงคะแนนเลือกตั้ง กลับไม่สามารถกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลได้ เสียงประชาชนหลายล้านคนยังด้อยกว่าเสียง ส.ว. 250 เสียงเสียอีก

หนักหนากว่านั้น พรรคการเมืองซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อชูแนวคิดนโยบายให้ประชาชนพิจารณาก่อนตัดสินใจในวันที่ 24 มีนาคม 2562 แล้วปรากฏว่าพรรคที่ประชาชนจำนวนมากเห็นว่าน่าจะเป็นอนาคตของการเมืองไทยและความพัฒนาก้าวหน้าของประเทศไทย

“เป็นพรรคที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจนได้ ส.ส.เข้ามาในอันดับต้นๆ แต่กลับถูกตัดสินว่าอยู่หรือไป ด้วยการร้องขององค์กร กกต.”

โดยประชาชนผู้เลือกพรรคการเมืองนี้อย่างล้นหลาม กลับต้องยืนมองพรรคที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่น ต้องถูกตัดสินชะตากรรม โดยเป็นได้เพียงแค่ผู้ยืนดู

“นี่ก็เป็นอีกปรากฏการณ์ที่บ่งบอกว่า กลุ่มที่กุมอำนาจยังไม่ยอมปล่อยให้เรามีประชาธิปไตยเต็มที่ ด้วยข้ออ้างที่ดูหมิ่นดูแคลนประชาชน”

ทั้งผลการเลือกตั้ง ที่เจตนารมณ์ของประชาชนไม่บรรลุ เพราะเสียง 250 ส.ว.มีน้ำหนักอย่างมาก

ทั้งชะตากรรมของพรรคการเมืองที่ประชาชนเชื่อมั่นวางใจก็ถูกตัดสินอยู่หรือไป โดยที่ประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียงใดๆ

อ้างเรื่องความสงบ ความมั่นคง ความไม่พร้อมของประชาชน

แต่ที่กลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่สุดคือ ไม่ให้ประชาชนเกี่ยวข้อง แต่ในการบริหารประเทศ คนเหล่านั้นกลับไม่สามารถแสดงฝีมือในยามที่วิกฤตถาโถมเข้ามา!!

วิกฤตเศรษฐกิจที่ปักหัวลงในปี 2563 วิกฤตฝุ่นพีเอ็ม 2.5 วิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกทรุด กระหน่ำซ้ำเติมการท่องเที่ยว การค้าขายที่ต่อเนื่องในประเทศไทยจนน่าหวาดหวั่น แถมด้วยภัยแล้งที่แผ่กว้างไปทั่ว ไปเจอวิกฤตจ่าทหารคลั่งกราดยิง 30 ศพ ก็เละเทะไปอีก

ประชาชนที่ถูกปิดกั้นไม่ให้มีสิทธิ์มีเสียงมากนัก กำลังต้องเผชิญชะตากรรมรับวิกฤตต่างๆ แบบตัวใครตัวมัน ท่ามกลางความเชื่องช้าของผู้มีอำนาจรับผิดชอบ

แค่เรื่องหน้ากากอนามัย ยังแทบช่วยอะไรไม่ได้เลย!?

หลักประชาธิปไตยพื้นฐานก็คือ เปิดให้ประชาชนได้มีอำนาจ เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนคือเสียงที่ตัดสินทางการเมือง โดยพรรคการเมืองต่างๆ เสนอตัวเสนอแนวคิดแนวทาง ชูอุดมการณ์ ให้ประชาชนพินิจพิจารณาในวันเลือกตั้ง จากนั้นเมื่อครบวาระ หรือมีการยุบสภาก่อน ก็จะเป็นวันตัดสินของประชาชนอีกครั้ง

ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินพรรคการเมืองแต่ละพรรคว่าในสภาสมัยที่ผ่านมา ควรจะไว้วางใจอีกหรือไม่

เสียงของประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ตัดสินชะตากรรมของพรรคการเมืองแต่ละพรรค

แต่การเมืองไทยในวันนี้ ภายใต้ชื่อว่าประชาธิปไตย แต่ประชาชนตัดสินใจอะไรไม่ได้เต็มที่นัก เลือกเข้าไปเสร็จ พรรคที่ชนะสูงสุดก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้

“แม้แต่การอยู่หรือไปของพรรคการเมือง ที่ประชาชนผู้เลือกตั้งควรเป็นผู้ตัดสินในวันเข้าคูหากาบัตร ก็ไม่เป็นเช่นนั้น!?!”

แต่เมื่อผ่านการพิสูจน์ผลงานในวิกฤตต่างๆ ทำให้ประชาชนเห็นชัดแล้วว่า ถ้าปล่อยให้ประชาธิปไตยครึ่งๆ กลางๆ ดำเนินไป การผูกขาดอำนาจการเมืองจะอยู่ในมือคนกลุ่มเดียว คนลำบากคือชาวบ้าน

อ้างว่าเพื่อให้บ้านเมืองสงบ แต่คนต้องอดอยาก เศรษฐกิจการค้าทรุดหนัก หรือจะป่วยตายเพราะหาหน้ากากมากันฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้ยากเย็น ป้องกันไวรัสอย่างทุลักทุเล พืชผลเกษตรก็ไม่มีน้ำ กำลังยืนต้นตาย

“เพราะการเมืองไทยวันนี้ ไม่เปิดโอกาสให้คนเก่งๆ มีความสามารถจากหลากหลายวงการเข้ามาร่วมโชว์ฝีมือแก้วิกฤตต่างๆ ให้กับประชาชนได้”

ในหลายเวทีสัมมนาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ พูดกันชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญก็คือคำตอบของปากท้องประชาชน

ถ้ายังใช้รัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มเดียว เราก็จะไม่มีคนมีฝีมือเข้ามาร่วมแก้ปัญหาให้ประชาชน

กลุ่มอำนาจบอกว่าประเทศและประชาชนยังไม่พร้อม ยังไม่ควรปล่อยให้มีอำนาจทางการเมืองมากนัก

แต่ประชาชนกำลังบอกว่า ที่ไม่พร้อมนั่นแหละคือกลุ่มอำนาจที่กุมการบริหารประเทศ

ไม่พร้อมด้านฝีมือความสามารถ ขาดวิสัยทัศน์ ไม่ใช่ประชาชนไม่พร้อมในประชาธิปไตย!

สถานการณ์บ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมา วัดจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนส่วนใหญ่ บอกได้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่อย่าอ้างว่าเพราะเฟกนิวส์ อย่าโทษว่าประชาสัมพันธ์อ่อน

เพราะข้อเท็จจริงที่ประชาชนได้ประสบในทุกวิกฤต คือคำตอบที่แท้จริงมากกว่า

แต่ความที่การเมืองไทยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานปกติ มีกฎกติกาและหลากหลายอำนาจที่อุ้มชูรัฐบาลนี้อยู่

“จนเปรียบกันว่า เป็นรัฐบาลมีเส้น จึงไม่มีใครทำอะไรได้”

ชาวบ้านประสบปัญหาบ่นเบื่อขนาดไหนก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฝ่ายค้านจะเคลื่อนไหวตรวจสอบ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ กระชากไส้ออกมากี่ขด

“ถึงเวลาโหวต ก็แจกกล้วย ซื้องูเห่า จนชนะในสภา”

มีปรากฏการณ์ล่าสุด กรณีเหตุการณ์ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา จ่าปืนคลั่ง 30 ศพ ซึ่งจุดประกายให้กองทัพต้องตรวจสอบตัวเองครั้งใหญ่ ลุกลามไปถึงบ้านพักนายทหารที่เกษียณไปแล้วแต่ไม่ยอมออก

ลงเอยก็มีข้อแม้ว่า อดีตทหารที่เกษียณไปแล้วแต่ยังมีหน้าที่ทำคุณความดีให้บ้านเมือง ยังสามารถอยู่ต่อไปได้

พล.อ.ประยุทธ์ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม จึงรอดพ้นได้ ไม่ต้องอพยพย้ายออกจากบ้านหลวง

แถมยังประกาศก้องว่า ในฐานะที่รับใช้ชาติมาตลอดชีวิต วันนี้ยังรับใช้อยู่ ในฐานะผู้นำประเทศ จำเป็นต้องมีความปลอดภัย ต้องมีสถานที่ที่ดูแลความปลอดภัยได้

“เป็นการตอกย้ำว่า เป็นนายกฯ ที่ยังคงมีฐานกองทัพสนับสนุนปกป้องอยู่เต็มกำลัง รู้สึกอบอุ่นมั่นอกมั่นใจในทหารมากที่สุด!”

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับนายกฯ ที่มาจากพลเรือน ก็สามารถอธิบายอะไรได้มากมาย

ทั้งยังอธิบายคำกล่าวที่ว่า การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ภายใต้กฎกติกาปาฏิหาริย์พิสดาร ทำให้ได้รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากยุค คสช. ได้นายกฯ คนเดียวกัน

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์และคณะนายทหารใหญ่ก็ยังกุมอำนาจในรัฐบาล ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นฐานรองรับ ให้ตรงตามกติกาประชาธิปไตย

“รัฐบาลปัจจุบันจึงเป็นรัฐบาลกึ่งทหาร กึ่งพลเรือน โดยกึ่งทหารเป็นผู้กุมทิศทาง”

ประชาชนไทยจึงยังไม่ควรมีประชาธิปไตยเต็มใบ และพรรคการเมืองประชาธิปไตยจัด ก้าวรุดไปข้างหน้าอย่างกว้างไกล ก็ยากจะอยู่ได้!