มองบ้านมองเมือง/ ปริญญา ตรีน้อยใส สถานีกลางบางซื่อ

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

สถานีกลางบางซื่อ

 

หลายคนคงสังเกตเห็นการก่อสร้างตรงบางซื่อมานานหลายปี จะเห็นว่ามีทั้งทางด่วน รางรถไฟลอยฟ้า อาคารหลายหลัง และสิ่งก่อสร้างอีกมากมาย

หลายคนคงแค่รู้ว่า อาคารขนาดใหญ่มหึมานั้น ต่อไปจะเป็นสถานีรถไฟบางซื่อ

หลายคนคงไม่รู้ว่า อาคารโครงสร้างเหล็กที่โค้งพาดไปมา คลุมพื้นที่และรางรถไฟนั้น นับเป็นอาคารขนาดใหญ่เกือบที่สุดของไทย และอาจของโลก ถ้าไม่นับเอาสิ่งก่อสร้างในประเทศจีนเข้าพิจารณา

มองบ้านมองเมือง อาสาพาไปมอง อภิมหาสถานีรถไฟกลางบางซื่อ ที่มีพื้นที่อาคารหลังเดียว มากเกือบสามแสนตารางเมตร

 

เป็นอาคาร 5 ระดับ เริ่มจาก ชั้นจอดรถ ซึ่งอยู่ระดับใต้ดิน สำหรับรถยนต์รวมแล้วกว่าพันหกร้อยกว่าคัน

ชั้นล่างเป็นโถงใหญ่ มีทั้งที่จำหน่ายตั๋ว ที่พักคอย ร้านค้า ศูนย์อาหาร ห้องน้ำ ฯลฯ

ยังมีชั้นลอย ที่เป็นศูนย์ควบคุมสถานี และร้านค้า ร้านอาหาร

เหนือขึ้นไปถึงจะเป็นชานชาลา ที่มีถึงสองระดับ ระดับล่าง เป็นรถไฟไปทั่วประเทศ และไปชานเมือง

ระดับบนเป็นรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีด และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์

ถ้ารวมชานชาลาทั้งหมดจะมีถึง 24 ชานชาลา เป็น 8 ชานชาลาสำหรับรถไฟ ไปสู่ทุกภูมิภาคของไทย

อีก 10 ชานชาลาสำหรับรถไฟความเร็วสูง

4 ชานชาลา สำหรับรถไฟชานเมือง

และ 2 ชานชาลาสำหรับแอร์พอร์ตลิงค์

ยังจะมีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้มีพระบรมราชโองการ สร้างทางรถไฟสยาม เมื่อร้อยสามสิบปีมาแล้ว ตั้งอยู่บนลานขนาดใหญ่กว่าสองหมื่นตารางเมตร ที่มีการตกแต่งภูมิทัศน์อย่างงดงาม

มีทั้งน้ำพุและพันธุ์ไม้ รวมทั้งบ่อน้ำที่จะเป็นแก้มลิง อีกกว่าหมื่นห้าพันตารางเมตร

 

สถานีกลางบางซื่อแห่งใหม่ นอกจากจะแทนที่สถานีกรุงเทพหรือสถานีหัวลำโพงแล้ว ต่อไปจะเป็นศูนย์กลางคมนาคมของไทยและอาเซียน

เป็นสถานีต้นทางของรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีด

ยังจะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าอีกหลายสาย รถไฟชานเมือง และแอร์พอร์ตลิงค์

ยังไม่นับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ที่จะเป็นที่อยู่อาศัย การค้าและบริการ ในพื้นที่รวมแล้วกว่า 2,300 ไร่

พื้นที่กว้างขวาง อาคารที่ใหญ่โตหลายชั้น รางรถไฟหลายราง หลายระดับ สิ่งก่อสร้างทั้งหมดจึงรองรับผู้โดยสารได้ มากกว่าหกแสนคนต่อวัน

ที่พาไปมองในตอนนี้ ก็อยากให้ทุกคนเตรียมตัวเตรียมใจ สำหรับอภิมหาโครงการนี้ ที่หวังว่าจะแล้วเสร็จอีกไม่นาน

มีเรื่องเดียวที่สงสัยและอยากรู้ คือ โครงการใหญ่ขนาดนี้ สิ่งก่อสร้างโตขนาดนี้ ทำไมไม่บอกกล่าวให้รู้ว่า ใครเป็นสถาปนิก วิศวกร

 

ทําให้นึกถึงลูกศิษย์ที่ชื่อ ดวงฤทธิ์ บุนนาค แค่ออกแบบส่วนขยายของท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ที่มีพื้นที่และขนาดเล็กกว่านี้หลายเท่า กลับเป็นที่รับรู้และได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์มากมาย

เลยอยากให้สถาปนิกโครงการนี้ ออกมาแสดงตัวให้ผู้คนได้ชื่นชมบ้าง รวมทั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ และสภาสถาปนิก น่าจะประชาสัมพันธ์ผลงานของสมาชิกผู้นี้ ให้วงการอื่นรับรู้ฝีมือกันบ้าง

เพราะเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ทุกวัน