‘EIU’ เผยดัชนีประชาธิปไตยไทยปี62 ดีขึ้นรอบ 5 ปี อันดับ 68 จาก 106 ปท.

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ รายงานดัชนีความเป็นประชาธิปไตยปี 2562 ของ The Economist Intelligence Unit (EIU) เผยแพร่ เมื่อ 22 มกราคม 63 ระบุว่า
1.รายงานดัชนีความเป็นประชาธิปไตยปี 2562 ของ The Economist Intelligence Unit (EIU) เผยแพร่ เมื่อ 22 ม.ค.63 ระบุว่าไทยโดดเด่นมากที่สุดด้านการพัฒนาระดับความเป็นประชาธิปไตยทั่วโลก ท่ามกลางสถานการณ์ประชาธิปไตยโลกที่อยู่ในภาวะถดถอย โดยไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 38 อันดับ อยู่ในอันดับที่ 68 จากอันดับที่ 106 เมื่อปี 2561 ส่วนระดับคะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 6.32 จาก 4.63 หรือดีขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจของ คสช. เมื่อปี 2557 ส่งผลให้ไทยได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม “Flawed Democracy” จากเดิมที่อยู่ในกลุ่ม “Hybrid Regime”

2.EIU เป็นสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจและการเมือง และเป็นบริษัทผลิตวารสารดิอิโคโนมิสต์ของสหราชอาณาจักรจัดทำดัชนีความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2549 โดยพิจารณาจากตัวชี้วัด 60 ตัว มาประกอบผลการประเมินซึ่งมีหลักเกณฑ์ 5 ข้อ คือ
1) กระบวนการเลือกตั้งและความเป็นพหุสังคม 2) การบริหารกลไกภาครัฐบาล 3) การมีส่วนร่วมทางการเมือง 4)วัฒนธรรมด้านการเมืองแบบประชาธิปไตย และ 5) เสรีภาพของพลเรือน จากนั้นนำมาแบ่งกลุ่มเป็น 4 กลุ่มตามลำดับคำแนน (0-10 คะแนน)
ได้แก่ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยสมบูรณ์ หรือ Full Democracy (8.01-10.0) กลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่ยังมีข้อบกพร่อง หรือ Flawed Democracy (6.01-8.00) ประเทศระบอบการเมืองแบบผสมหรือ Hybrid Regime (4.01-6.00) และประเทศระบอบอำนาจนิยม หรือ Authoritarian Regime (0-4)

3.รายงานดัชนีประชาธิปไตยปี 2562 ระบุว่าความเป็นประชาธิปไตยทั่วโลกอยู่ในภาวะถดถอย โดยค่าเฉลี่ยความเป็นประชาธิปไตยทั่วโลกประจำปี 2562 ลดลงเหลือ 5.44 เมื่อปี 2561 ซึ่งลดลงต่ำกว่าระดับ 5.46 เมื่อปี 2553 ที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ (เป็นค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ตกต่ำลงมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มใช้ดัชนีดังกล่าวเมื่อปี 2549) ในจำนวนนี้มี 68 ประเทศ/ดินแดน จาก 167 ประเทศ/ดินแดน ที่ได้รับคะแนนลดลง (เทียบกับดัชนีประชาธิปไตยของ EIU เมื่อปี 2561 มีเพียง 42 ประเทศที่ได้คะแนนลดลงจากปี 2560) ขณะที่ 65 ประเทศได้คะแนนดีขึ้น และอีก 34 ประเทศได้คะแนนเท่าเดิม โดยทุกภูมิภาคต่างได้คะแนนลดลงทั้งสิ้น ยกเว้นอเมริกาเหนือที่ได้คะแนนสูงขึ้น

4.กลุ่มประเทศอาเซียน (ยกเว้นบรูไน ซึ่งไม่ปรากฏรายชื่อในการจัดอันดับของ EIU) แม้จะไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก แต่พัฒนาการของไทย ประกอบกับการออกกฎหมายควบคุมข่าวเท็จของสิงคโปร์ที่ EIU ระบุว่าเป็นกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน ส่งผลให้ไทยเลื่อนจากอันดับที่ 5 มาอยู่ในอันดับที่ 4 แทนสิงคโปร์ที่เลื่อนลงมาอยู่อันดับที่ 5 แทน (สิงคโปร์มีอันดับโลกลดลงถึง 9 อันดับ จากอันดับที่ 66 เป็นอันดับที่ 75) ขณะที่มาเลเซียยังคงมีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ในอันดับที่ 1 ของกลุ่มอาเซียนเช่นเดิม และเลื่อนขึ้นมาอยู่ในอันดับ 43 ของโลก จากอันดับ 52 และ 59 ของโลกเมื่อปี 2561 และ 2560 ตามลำดับข้อพิจารณา

5.การจัดการเลือกตั้งทั่วไปของไทยเมื่อมี.ค.62 ได้อย่างประสบความสำเร็จ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยมีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยดีขึ้นอย่างมากในการจัดอันดับของ EIU โดย EIU ระบุชัดเจนในรายงานว่า การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น ครบทั้ง 5 หัวข้อดัชนีชี้วัดของ EIU นอกจากนี้ การจัดอันดับของ EIU เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยว่าสามารถกลับสู่เส้นทางของประชาธิปไตยที่ได้รับการยอมรับจากองค์กรระดับโลก เนื่องจากเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สะท้อนว่าไทยได้รับการยอมรับจากองค์การระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านประชาธิปไตย