เศรษฐกิจ / น้ำมือนักการเมืองทุบ ศก.ไทย งบประมาณล่าช้า-เชื่อมั่นหด จีดีพีดิ่งเหว-จีเอ็มปิดโรงงาน

เศรษฐกิจ

 

น้ำมือนักการเมืองทุบ ศก.ไทย

งบประมาณล่าช้า-เชื่อมั่นหด

จีดีพีดิ่งเหว-จีเอ็มปิดโรงงาน

 

หลังฝ่ายนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน คงทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มผ่อนคลายลง เป็นความหวังว่านับจากนี้จะดีขึ้น

ฝ่ายรัฐบาลประเมินว่าเม็ดเงินจากงบประมาณจะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างช้าในเดือนเมษายน เร็วสุดเดือนมีนาคม

ตามปฏิทินงบประมาณภาครัฐ ต้องเบิกจ่ายภายในวันที่ 30 กันยายน และเริ่มปีงบประมาณใหม่ 2564 ในวันที่ 1 ตุลาคม ดังนั้น จะเหลือเวลาใช้จ่ายงบประมาณอีก 6-7 เดือนเท่านั้น งบประมาณที่ไม่ถูกใช้จ่าย และไม่มีการผูกพันในสัญญาต้องถูกพับ (ยกเลิก) ไป

งบประมาณของไทยไม่เกิดปัญหาชัตดาวน์ หรือไม่มีงบประมาณใช้เหมือนในบางประเทศ เพราะกฎหมายวิธีการงบประมาณของไทยเปิดช่องให้ใช้งบประมาณต่อไปได้ โดยอิงงบประมาณของปีผ่านมา

เรียกว่างบประมาณพลาง

 

ช่วงแรกสำนักงบประมาณเสนอให้ใช้งบประมาณพลางได้กึ่งหนึ่งหรือ 50% ของงบประมาณ 2562 และขยายเพิ่มเป็น 75% ของงบประมาณ 2562 หลังเกิดปัญหาเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ในวันโหวตงบประมาณวาระ 3 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2563

ทั้งนี้ งบประมาณพลางสามารถเบิกจ่ายแค่ในส่วนของงบประมาณประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการ และงบประมาณลงทุนในส่วนโครงการลงทุนเก่าที่มีการลงนามสัญญาผูกพันงบประมาณไว้แล้ว ส่งผลให้การเบิกจ่ายในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม-มกราคม) ทำได้เพียง 9.21 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายในส่วนงบประมาณประจำคือ เงินเดือนข้าราชการกว่า 8.87 แสนล้านบาท พบว่ามีการเบิกจ่ายในส่วนงบประมาณลงทุนไปเพียง 3.4 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 5% ของวงเงินงบประมาณลงทุนในปี 2563 ที่กำหนดไว้กว่า 6.55 แสนล้านบาท

ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เหลือก่อนหมดปีงบประมาณต้องเร่งเบิกจ่าย ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3 แสนล้านบาท สูงกว่าการเบิกจ่ายเฉลี่ยในช่วงปกติเท่าตัว เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณที่เหลืออยู่ 2.2 ล้านล้านบาทให้ได้ 100% ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ ซึ่งในส่วนงบประมาณประจำไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะก่อนหน้านี้เบิกจ่ายไปได้มากพอสมควร แต่ในส่วนงบประมาณลงทุนในปีที่ผ่านมา แม้อยู่ในช่วงปกติการเบิกจ่ายไม่ค่อยได้ตามแผน

ดังนั้น เวลาที่เหลืออยู่ไม่กี่เดือนมีแนวโน้มที่จะเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนไม่เป็นไปตามแผน

 

ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ออกบทวิเคราะห์ งบประมาณรัฐสะดุด ฉุดเศรษฐกิจไทย ส่องปัญหางบประมาณ หลังศาลตัดสินว่า ความล่าช้าของงบประมาณ ส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐใน 4 เดือนแรกหดตัว 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนหดตัว 68% ต่ำสุดในรอบ 12 ปี

KKP Research ประเมินว่าการเบิกจ่ายงบประมาณจะเข้าสู่ภาวะปกติอีก 1-2 เดือน แต่จะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย เพราะมีระยะเวลาเพียง 6-7 เดือน คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนเพียง 3.3 แสนล้าน หรือ 56% ของงบประมาณลงทุนที่ตั้งไว้ ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนภาครัฐจะหดตัวจากปีงบประมาณก่อน 15% อย่างไรก็ดี งบประมาณลงทุนส่วนที่เหลือสามารถยกไปใช้ในปีงบประมาณถัดไปได้ ในลักษณะงบประมาณข้ามปี หากเร่งประมูลเพื่อผูกพันงบประมาณไว้ก่อน

การเบิกจ่ายงบประมาณลงทุน 4 เดือนแรกของปีงบประมาณทำได้เพียง 3.4 หมื่นล้านบาทต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 คิดเป็นการหดตัวกว่า 70% จากระดับเฉลี่ย 1.1 แสนล้านบาทในรอบ 3 ปี การหดตัวการลงทุนภาครัฐในอัตราสูง

สะท้อนถึงความไม่พร้อมของหน่วยงานราชการในการเบิกจ่ายโครงการลงทุนต่อเนื่องภายใต้กรอบงบประมาณเดิม

 

ผลจากงบประมาณออกล่าช้า กระทบต่อระบบเศรษฐกิจไม่น้อย เมื่อผสมโรงกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ยิ่งทำให้เศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มแย่กว่าปีที่ผ่านๆ มา

ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2563 จะขยายตัวในช่วง 1.5-2.5% หรือมีค่ากลาง 2% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.7-3.7% ส่วนจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2562 ขยายตัวเพียง 1.6% ส่งผลให้เศรษฐกิจปี 2562 ทั้งปีเติบโตเพียง 2.4% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิม 2.6%

ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ต่ำกว่าสมมุติฐานของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ในเอกสารงบประมาณ คาดว่าจะขยายตัว 3-4% มีความเป็นห่วงว่ารายได้รัฐจากการจัดเก็บภาษี ซึ่งเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจอาจมีปัญหา

ยิ่งไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าจะจบเร็วๆ นี้ ส่งผลให้การท่องเที่ยวไทยเคยเป็นภาคส่วนสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมากระทบหนัก

ทำให้สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับเป็นครั้งแรกว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้อาจโตไม่ถึง 1% และปีนี้ถ้าเศรษฐกิจไทยโตเกินกว่า 2% ถือว่าดีแล้ว

 

ส่วนดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า ผลจากงบประมาณล่าช้าผสมกับปัญหาไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2563 อย่างมาก และหากผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เท่ากับที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไป 5 ล้านคน และรายได้หายไป 2.5 แสนล้านบาท จะทำให้จีดีพีหายไป 1.5% ถ้าหักลบกับจีดีพีที่ ธปท.ประเมินไว้เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่าจะโต 2.8% ทำให้จีดีพีปีนี้โตเพียง 1.3% โดย ธปท.จะประเมินตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ในเดือนมีนาคมนี้

ความหวั่นกังวลต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้รองนายกฯ สมคิด ควงแขนอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ภาคเอกชน และหน่วยราชการเกี่ยวข้องเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ เพื่อหามาตรการดูแลเศรษฐกิจเป็นการด่วน และเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ เสนอเข้า ครม.ช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ ประกอบด้วยมาตรการด้านท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุน

ทั้งนี้ ในด้านท่องเที่ยว การบริโภค คงหนีไม่พ้นชิมช้อปใช้ 4 ส่วนกระตุ้นการลงทุน สั่งการให้ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อัดเพิ่มเงินเข้าสู่กองทุนหมู่บ้าน 7.7 หมื่นหมู่บ้าน แห่งละ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 7.7 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการลงทุนต่างๆ ของหมู่บ้าน เช่น ลานตากพืชผล พัฒนาแหล่งน้ำ ร้านค้าชุมชน

นอกจากนี้ สั่งไปยังกรมบัญชีกลางประสานไปยังสำนักงบประมาณ และหน่วยราชการต่างๆ เตรียมพร้อมการลงทุนภาครัฐเพื่อให้มีเงินออกมาทันที โดยหวังให้ 3 เดือนแรกของการใช้งบประมาณ จะมีเงินเข้าสู่ระบบไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท

 

เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ระบุว่า ส่งหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานราชการให้เตรียมพร้อมจัดซื้อจัดจ้างล่วงหน้าไว้แล้ว หากกฎหมายงบประมาณมีผลบังคับใช้สามารถลงนามทันที โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายที่เป็นงบประมาณก่อสร้างและจัดซื้อคุรุภัณฑ์วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท คาดว่าในไตรมาส 3 ของปีงบประมาณคือในเดือนเมษายน-มิถุนายนจะสามารถก่อหนี้ 54% และไตรมาส 4 ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน จะก่อหนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 75%

การเตรียมพร้อมงบประมาณ เป็นความหวังจะมาช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี 2563 หลังจากนี้คงช่วยกันภาวนาไม่ให้การเมืองสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะปัญหางบประมาณล่าช้า เกิดจากรัฐบาล คสช.หยุดพิจารณางบประมาณ และรอรัฐบาลจากการเลือกตั้งให้มาดำเนินการแทน แม้จะเลือกตั้งแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2562 แต่กว่าจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ใช้เวลาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 กินเวลาไปเกือบ 4 เดือน จึงทำให้ไม่สามารถบังคับใช้งบประมาณตามปกติวันที่ 1 ตุลาคม

นอกจากนี้ ผลจากน้ำมือ ส.ส.ของรัฐบาลคือพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย เสียบบัตรโหวตงบประมาณแทนกันเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 ส่งผลให้งบประมาณที่เคยหวังว่าจะใช้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 ล่าช้าไป 1-2 เดือน

รัฐบาลจากการเลือกตั้งเคยเป็นความหวังว่าจะช่วยทำให้เกิดความเชื่อมั่น ทำให้การลงทุนเอกชนเดินหน้า แต่ล่าสุดเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็ม ประกาศขายโรงงานในไทย และจะยุติการจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในไทยช่วงสิ้นปี 2563 นี้

            ถ้าการเมืองยังสร้างปัญหาให้กับระบบเศรษฐกิจไม่หยุด ในปีนี้มีหวังจีดีพีไทยจะหลุด 2% ย่ำแย่สุดในรอบ 6 ปี นับจากมีปัญหาประท้วงทางการเมืองจนเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2557