วิกฤติศตวรรษที่21 | การไหลเวียนของเงินทุนโลก และการแข่งขันโดยธรรมชาติ ของประเทศต่างๆ

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (36)

การไหลเวียนของเงินทุนโลกและการแข่งขันโดยธรรมชาติของประเทศต่างๆ

การไหลเวียนของเงินทุนโลกเหมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงและสะท้อนสุขภาพของระบบเศรษฐกิจ

พื้นที่ใดที่เงินทุนไหลไปหล่อเลี่ยงน้อย พื้นที่นั้นก็ถือว่ามีความเจริญน้อย

เช่น ในเขตชนบทหรือประเทศกำลังพัฒนา หรือเมื่อการไหลเวียนของเงินทุนโลกเกิดสะดุดชะงักไป ก็มักเนื่องจากมีวิกฤติเศรษฐกิจช่วงนั้น

วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ปี 2008 กระทบต่อการไหลเวียนของเงินทุนโลกรุนแรงถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจ-การเงินล่มสลายได้

รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกต้องร่วมมือกันสร้างมาตรการทางการเงินการคลังเพื่อสร้างสภาพคล่องให้เงินทุนโลกมีการไหลเวียนยืดชีวิตของเศรษฐกิจโลกไปได้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาทางโครงสร้างของมันด้วยการเล็งเห็นความสำคัญของการไหลเวียนของเงินทุนต่อเศรษฐกิจ ประเทศทั้งหลายต่างทำบัญชีดุลชำระเงินเพื่อดูการไหลเข้า-ออกของเงินทุนหรือการทำธุรกรรมทั้งหมด ระหว่างประเทศตนกับประเทศอื่นในห้วงเวลาหนึ่ง เช่น เป็นไตรมาสหรือรายปีว่าเป็นอย่างไร

สถิติตัวเลขดังกล่าวผสานกับการวิเคราะห์สถานการณ์และเหตุปัจจัยอื่น สามารถนำมาใช้ในการวางแผนทางเศรษฐกิจ และนโยบายทางการเงิน การคลังของประเทศ การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เศรษฐกิจการเงิน และคาดคะเนศักยภาพของตลาด เป็นต้น

บัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศนี้ให้ภาพใหญ่ ประกอบด้วยดุลบัญชีอื่นที่ให้ภาพเฉพาะเจาะจง ที่สำคัญได้แก่

ก) ดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นดุลบัญชีทางการค้าระหว่างประเทศ นิยมแบ่งเป็นสองกลุ่มย่อยคือ การค้าด้านสินค้า และด้านบริการ

ข) ดุลบัญชีรายได้ ประกอบด้วยรายได้จากแรงงานที่ส่งกลับประเทศหรือจากการลงทุน รวมทั้งบัญชีเงินโอนและบริจาค

ค) ดุลบัญชีเงินทุนประกอบด้วยบัญชีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการลงทุนโดยอ้อม เช่น ในตลาดหลักทรัพย์ อนุพันธ์การเงิน และการลงทุนอื่นๆ ได้แก่ เงินกู้ สินเชื่อการค้าและเงินฝาก เป็นต้น นอกจากนี้ รวมถึงบัญชีทุนต่างๆ

ง) บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร

โดยทั่วไปประเทศทั้งหลายต้องการได้เปรียบดุลการชำระเงิน และดุลอื่นๆ เพราะจะทำให้ประเทศมีความไพบูลย์ เข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง

ดังนั้น ในระบบการไหลของเงินทุนโลก จึงมีการแข่งขันอย่างดุเดือด โดยธรรมชาติระหว่างประเทศต่างๆ ที่ถือว่าอำนาจการดูแลควบคุมการไหลของเงินทุนนั้นเป็นอำนาจอธิปไตยของตนอย่างหนึ่ง และจะไม่ยอมสูญเสียและเสียเปรียบไปอย่างง่ายๆ นี้ก่อความขัดแย้งในตัว

นั่นคือประเทศเหล่านี้ ด้านหนึ่ง ร่วมมือกันสร้างกฎระเบียบและกลไกให้การไหลนี้ดำเนินไปอย่างเรียบร้อย สร้างกระบวนโลกาภิวัตน์ขึ้น

อีกด้านหนึ่ง ต้องการรักษาอธิปไตยและความได้เปรียบทางเศรษฐกิจของตน สร้างลัทธิชาตินิยมขึ้น

การไหลเวียนของทุนโลกยังมีปัญหาจากการนำของศูนย์กลาง ได้แก่ สหรัฐและตะวันตกเอง

นอกจากนี้ยังเกิดจากความซับซ้อนการไหลเวียนของเงินทุนเองที่ไม่ได้เป็นเพื่อการค้า การลงทุนและการทำธุรกรรมโดยปกติเท่านั้น หากยังเป็นการไหลเวียนเพื่อการเก็งกำไร การทำธุรกิจสีเทา การหนีภาษีและการซุกเงิน เป็นต้น

การนำที่มีปัญหาของสหรัฐและตะวันตก

สหรัฐและตะวันตกเป็นผู้กำหนด สร้างกฎระเบียบและกลไกการไหลของเงินทุนโลกมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ที่เรียกว่าระบบเบรตตันวูดส์ (ใช้ระหว่างปี 1944-1971 เป็นเวลาเกือบสามสิบปี) ใช้ระบบมาตรฐานทองคำและเงินดอลลาร์เป็นใหญ่

ประเทศที่ทำให้ระบบเบรตตันวูดส์ต้องล่มสลายลง ได้แก่ สหรัฐที่ล้มเลิกระบบมาตรฐานทองคำแต่รักษาฐานะเงินดอลลาร์เป็นใหญ่ไว้ สืบเนื่องจากสหรัฐใช้จ่ายเกินตัวเพื่อรักษาฐานะอภิมหาอำนาจของตน

สำหรับมาตรฐานทองคำให้แทนที่ด้วยการแปรเป็นธุรกรรมการเงิน (Financialization) หรือระบบฉันทามติวอชิงตัน กล่าวให้เฉพาะเจาะจงคือนำเอาระบบดอลลาร์น้ำมันมาแทนที่มาตรฐานทองคำ การแปรเป็นธุรกรรมการเงิน ก่อผลสำเร็จในด้านรักษาความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์และเศรษฐกิจสหรัฐไว้เป็นเวลากว่าสามสิบปี (1971-2008) แต่ก็มีผลข้างเคียงจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 นำพาให้เกิดสงครามพันทางระหว่างสหรัฐกับจีน-รัสเซียในทุกวันนี้

การแปรเป็นธุรกรรมการเงินที่ส่งผลให้เกิดวิกฤติและนำมาสู่สงครามการค้าที่ควรกล่าวถึงได้แก่

ก) การเพิ่มความสำคัญของภาคการเงินจนกระทั่งนำหน้าภาคเศรษฐกิจที่เป็นจริง ได้แก่ ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม สหรัฐได้ละทิ้งฐานอุตสาหกรรมของตน หันมาให้ความสำคัญแก่ภาคการเงิน ย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมโรงงานไปยังประเทศกำลังพัฒนามีประเทศจีนเป็นต้นที่มีค่าแรงถูกกว่า

กฎระเบียบทางด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่เข้มงวด และมีทรัพยากรถ่านหินจำนวนมาก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของตน เช่น เหล็กกล้า รถยนต์ และการต่อเรือ รวมถึงการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคของตนอ่อนแอลง และเสียเปรียบดุลการค้าประเภทสินค้าจำนวนมหาศาล และหันไปพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคที่มีมูลค่าสูง และกลุ่มทุนการเงินให้ความสนใจ

อย่างไรก็ตาม สหรัฐยังคงนำหน้าด้านเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร

แต่การได้เปรียบดุลการค้าด้านบริการข่าวสารและการสื่อสาร ไม่ช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มากเกินไปและไม่อาจอยู่ได้นาน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไฮเทคที่เชิดชูกันว่ามีความแข็งแกร่ง นำพาให้พ้นวงจรธุรกิจที่ต้องประสบวิกฤติเป็นระยะ ไม่ได้แข็งแกร่งจริง ยังคงเกิดวิกฤติฟองสบู่ได้เหมือนกับเศรษฐกิจอื่น จนเกิดฟองสบู่ดอตคอม เป็นต้น

ข) เป็นการยกความสำคัญของทุนอยู่เหนือแรงงาน ออกกฎระเบียบใหม่ที่ลดการคุ้มครองและความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน เพิ่มการคุ้มครองและบทบาทของทุนเอกชน เกิดความยืดหยุ่นในการจ้างงาน เปิดช่องให้ย้ายฐานการผลิตออกไปประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า ค่าจ้างแรงงานของสหรัฐนับแต่ทศวรรษ 1970 มีอัตราเติบโตน้อย กระทั่งไม่เพิ่มขึ้น จำต้องกระตุ้นการบริโภคด้วยการขยายสินเชื่อให้แก่ครัวเรือน กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการหมุนเวียนของเงินทุนแยกไม่ออกจากการหมุนเวียนของหนี้

ค) เกิดการหากำไรจากเงินทุนเอง ไม่ต้องผ่านการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง มีการคิดสร้างเครื่องมืออย่างอนุพันธ์ทางการเงินเพื่อหากำไร เป็นต้น เกิดการปล่อยกู้อย่างหละหลวมต่ำเกณฑ์ กลายเป็นวิกฤติซับไพรม์ กระทบต่อการเงินสหรัฐทั้งระบบ

นับตั้งแต่ปี 1982 การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐมีลักษณะถาวร คือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีขนาดใหญ่ขึ้น เข้าข่ายที่จะเป็นปัญหาทั้งในเฉพาะหน้าและระยะปานกลาง

การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดหมายถึงว่าสหรัฐต้องกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลนี้ ได้อาศัยระบบดอลลาร์น้ำมันที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันนำเงินดอลลาร์หมุนกลับมาที่สหรัฐบ้าง หรือประเทศที่ได้ดุลการค้ารายใหญ่อย่างเช่นญี่ปุ่นและจีนไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐบ้าง

แต่การปฏิบัติดังกล่าวเร่งให้มีการบริโภคและการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น สัดส่วนของการขาดดุลการค้าสหรัฐเมื่อเทียบกับจีดีพีขึ้นสูงสุดในปี 2005 รัฐบาลตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก ได้พยายามแก้ไขอย่างจริงจังเรื่อยมาจนถึงสมัยทรัมป์ ในปี 2018

ปรากฏว่าจีนได้ผงาดขึ้นเป็นผู้ส่งออกสินค้าอันดับหนึ่งของโลกทิ้งห่างสหรัฐที่มาเป็นอันดับสอง

ส่วนเยอรมนีไล่หลังมาเป็นที่สาม เป็นการพลิกโฉมการค้าระหว่างประเทศที่สหรัฐเป็นพระเอกอยู่นาน และกระทบต่อฐานะผู้กำกับควบคุมการไหลของเงินทุนโลกในระดับที่แน่นอน ซึ่งมีความสำคัญจนไม่อาจนิ่งเฉยได้

การสังหารนายพลโซไลมานีแห่งอิหร่านของทรัมป์

ต้นเดือนมกราคม 2020 ประธานาธิบดีทรัมป์บัญชาการให้โดรนจากฐานทัพสหรัฐในคูเวต บินมาสังหารนายพลโซไลมานีแห่งอิหร่านที่ท่าอากาศยานแบกแดดนครหลวงของอิรัก ซึ่งข่าวว่าอยู่ในภารกิจที่จะเจรจาสันติภาพกับซาอุดีอาระเบีย

การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นการประกาศสงครามต่ออิหร่าน

แต่อิหร่านที่เล็กกว่าไม่สามารถตอบโต้ในระดับนั้นได้ เพียงแต่ประกาศว่าจะมีการตอบโต้อย่างสาสม และประณามการกระทำของสหรัฐว่าเป็นการก่อการร้ายโดยรัฐ หรือสหรัฐได้กลายเป็นรัฐก่อการร้ายเสียเอง

ปฏิบัติการของสหรัฐนั้นเห็นกันได้ทั่วไปว่า เป็นการสืบทอดนโยบายของบุชที่เคยประกาศว่า อิรัก อิหร่าน และเกาหลีเหนือ เป็น “แกนแห่งความชั่วร้าย” ในปี 2002 และตัวทรัมป์เองก็มีแผนกดดันอิหร่านถึงขีดสุด ผสานกับแผนสันติภาพตะวันออกกลาง ที่ใช้ซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลเป็นตัวแทนในการต่อต้าน และทำลายอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคนี้

เรื่องทั้งหมดจึงเกี่ยวข้องกับน้ำมัน ดอลลาร์น้ำมัน และการรักษาความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์ ถ้าอิรักไม่มีน้ำมันมาก บุชก็จะไม่ทุ่มกำลังรบนับแสนเพื่อเข้ามายึดครอง ถ้าอิหร่านไม่มีน้ำมันมากและคบคิดกับรัสเซียที่จะค้าน้ำมันในเงินสกุลอื่นนอกจากดอลลาร์ ทรัมป์ก็จะไม่ลงมือสังหารนายพลโซไลมานี

นอกจากนี้ ยังเป็นที่เห็นได้ง่ายว่าในบริเวณอ่าวเปอร์เซียทางฝั่งตะวันตกนั้นเป็นที่ตั้งของกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับที่ผูกพันชิดใกล้กับสหรัฐโดยเฉพาะซาอุฯ ที่เป็นเสาค้ำของระบบดอลลาร์น้ำมัน

สำหรับอิรักอยู่ภายใต้การยึดครองของสหรัฐ เหลืออยู่แต่ฝั่งตะวันออกเป็นที่ตั้งของอิหร่าน

ถ้าสหรัฐสามารถเปลี่ยนระบอบในอิหร่าน ก็เท่ากับว่าได้ควบคุมการค้าน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียทั้งหมด

และเป็นการพลิกกลับสถานการณ์ให้สหรัฐขึ้นมาเป็นต่อได้

อนึ่ง การค้าน้ำมันดิบของโลกจำต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุชในอ่าวเปอร์เซียถึงร้อยละ 35 ของทั้งหมด

ศาสตราจารย์ไมเคิล ฮัดสัน นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายของสหรัฐ ได้วิเคราะห์เบื้องลึกของปฏิบัติการสหรัฐครั้งนี้ว่า สหรัฐมีปัญหาดุลการชำระเงินเนื่องจากการใช้จ่ายทางทหารตั้งแต่สงครามเกาหลี (1950-1951) เรื่อยมาจนถึงสงครามเวียดนามในทศวรรษ 1960 เพื่อที่จะรักษาฐานทัพหลายร้อยแห่งทั่วโลก

ผู้นำสหรัฐเลือกใช้วิธียกเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์กับทองคำ และชดใช้ค่าใช้จ่ายนี้ด้วยการนำเงินดอลลาร์น้ำมันจากซาอุฯ ที่ขยายกำลังทหารอย่างรวดเร็ว ด้วยอาวุธที่ซื้อจากสหรัฐ และกลับมาลงทุนในสหรัฐ

จากนี้จึงเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมน้ำมันมีบทบาทสำคัญในการค้ำจุนดุลชำระเงินและนโยบายต่างประเทศสหรัฐ ดังจะเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐจะต่อต้านความคิดเรื่องโลกร้อนเพราะใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาโดยตลอด และความพยายามจะรักษาความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์นำมาสู่การสุ่มเสี่ยงทางทหารได้

ในด้านการทำสงครามบทเรียนจากสงครามเวียดนาม คือการอาศัยความเหนือกว่าทางอากาศ ใช้ทหารรับจ้าง และตัวแทนในการต่อสู้ ซึ่งซาอุฯ ได้มีบทบาทสำคัญ ขณะที่อิหร่านแสดงบทบาทเป็นแกนนำแห่งความชั่วร้าย

นายพลโซไลมานีเป็นตัวการใหญ่ในการต่อต้านกลุ่มไอซิสและกลุ่มก่อการร้ายอื่นที่สหรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนระบอบอัสซาดในซีเรีย

ฮัดสันเห็นว่าปฏิบัติการอุกอาจครั้งนี้เป็นการประกาศว่าสหรัฐจะปักหลักที่อิรักต่อไป

และมุ่งมั่นทำลายเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นแกนแห่งความชั่วร้ายให้ถึงที่สุด จนกว่ายุโรป จีนและรัสเซียจะต่อต้านการกระทำนี้อย่างแข็งขัน

(ดูบทความของ Michael Hudson ชื่อ America Escalates Its “Democratic” Oil War in the Near East ใน counterpunch.org 06/01/2020)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามเงินทุนสหรัฐ-จีน และสงครามทุนอื่นๆ