ฝ่ายค้าน โชว์จุดยืนกลางสภา ไม่เห็นด้วย คำวินิจฉัยศาลรธน. กรณีพ.ร.บ.งบ’63

สภาฯ ถกด่วน คำวินิจฉัยกรณีงบ’63 ฝ่ายค้าน ลุกอภิปรายกลางสภา ไม่เห็นด้วยกับศาลรธน. ขอไม่ร่วมสังฆกรรมโหวตใหม่ 

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา เกียกกาย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางป้องกันรัฐประหารในอนาคต ที่ตกค้างจากสัปดาห์ที่แล้ว แต่ปรากฏว่า ส.ส.เพื่อไทย ขอยกเว้นข้อบังคับการประชุม เพื่อให้นำญัตติด่วนเรื่องการหาแนวทางไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในการให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วาระ2-3 ใหม่ ขึ้นมาพิจารณาแทน โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ แบบไม่ลงมติ เสนอข้อสังเกตจากอภิปรายต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งต่อข้อสังเกตุไปยังศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

ทั้งนี้ ช่วงหนึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอญัตติ อภิปรายว่า ฝ่ายค้านไม่ขัดขวาง และยินดีแสดงตนเป็นองค์ประชุมในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วาระ2-3 ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ แต่จะไม่ขอร่วมพิจารณากฎหมายดังกล่าว เพราะเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง อยากให้นำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มาพิจารณาใหม่ตั้งแต่วาระ 1-3 หากจะให้ตั้งกมธ.เต็มสภาฯพิจารณา 3วาระรวด ฝ่ายค้านก็เต็มใจช่วย หรืออาจจะให้เอาร่างของครม.ที่ผ่านการรับหลักการวาระแรก ส่งให้ส.ว.ไปพิจารณาเลยก็ได้

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า ศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นศาลพิเศษ ไม่เหมือนศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เพราะเมื่อมีคำวินิจฉัยจะมีผลผูกพันทุกองค์กร ถ้าไม่ตีกรอบอำนาจการตีความของศาลรัฐธรรมนูญจะเกิดอันตราย เพราะจะมีอำนาจสูงที่สุดในแผ่นดินนี้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญให้อำนาจแค่ไหน มีแค่นั้น จะขยายตีความเกินที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ไม่ได้ แต่กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการเข้าชื่อส.ส.ของทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านให้ตีความร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 148 (1) โดยเฉพาะกระบวนการตราพ.ร.บ.นั้น ถูกต้องรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งๆที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า กระบวนการเสียบบัตรแทนกันแม้จะ 1 คนก็ถือว่า กระบวนการตรงพ.ร.บ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้ร่างพ.ร.บ.ต้องตกไปทั้งฉบับตามมาตรา 148 วรรคสาม แต่ศาลรัฐธรรมนูญ กลับไปให้เหตุผลว่า กรณีนี้ไม่ได้เกี่ยวกับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ. ทั้งๆเอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญเองระบุชัดว่า ศาลตรวจเฉพาะกระบวนการ ไม่ได้ตรวจเนื้อหา กรณีดังกล่าวถือเป็นความลักลั่นของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังไปยกมาตรา 74 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาเพื่อเพิ่มเงื่อนไขในการวินิจฉัยให้สภาต้องกลับมาโหวตวาระสองและสามใหม่อีก แม้ศาลจะให้เงือนไขได้ แต่ตามมาตรา 74 ต้องเป็นไปเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกรณีนี้ที่ต้องยึดตามมาตรา 148 วรรคสามที่ระบุชัดว่า หากกระบวนตรามิชอบให้ตกไปทั้งฉบับ อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นองค์กรตุลาการ ไม่ใช่คณะที่ปรึกษากฏหมายของทางรัฐบาล จึงจำเป็นต้องมีคำวินิจฉัยออกมาให้ดู ไม่ใช่มีเพียงเอกสารข่าว 2 หน้าออกโดยไม่รู้ว่า จะได้ทราบคำวินิจฉัยเต็มๆเมื่อไหร่ ซึ่งการวินิจฉัยโดยนำมาตรา 74 มาใช้แบบผิดที่ผิดทางแบบนี้ วันข้างหน้าจะทำให้เกิดปัญหา ตนกังวลว่า สักวันหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะขึ้นมาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ จนเป็นซุปเปอร์รัฐธรรมนูญ กลายเป็นผู้ผูกขาดการตีความรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นอันตรายมากต่อการถ่วงดุลอำนาจเป็นอย่างมาก

ผู้สื่อรายงานว่า การอภิปรายเป็นไปอย่างกว้างขวาง โดย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ยินดีให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 63 ผ่าน แต่จะไม่ขอร่วมประชุมด้วย เพราะไม่อยากให้ร่างพ.ร.บ.นี้ผ่านไปโดยฝืนหลักการ ขณะที่ ส.ส.ซีกรัฐบาล ต่างอภิปรายสนับสนุน ให้สภาฯดำเนินการตามคำวินิจของศาลรัฐธรรมนูญ คืออภิปรายและโหวตวาระ 2 และ 3 เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 ผ่านสภาฯโดยเร็วที่สุด โดยส.ส.ฝ่ายค้านยืนยัน ไม่เข้าร่วมอภิปราย เพราะเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการละเมิดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่อยากปฏิบัติตาม เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง