การศึกษา / ‘ผอ.ปล้นทอง’ สะเทือนวงการครู จับตารื้อใหญ่ ‘เกณฑ์คัด ผอ.ร.ร.’

การศึกษา

 

‘ผอ.ปล้นทอง’ สะเทือนวงการครู

จับตารื้อใหญ่ ‘เกณฑ์คัด ผอ.ร.ร.’

 

สะเทือนวงการ “การศึกษา” เมื่อนายประสิทธิชัย เขาแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโพธิ์ชัย จ.สิงห์บุรี ก่อเหตุปล้นทองที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใน จ.ลพบุรี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 4 ราย อ้างเหตุจูงใจเรื่องหนี้สิน แม้ต่อมาจะถูกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หน่วยงานต้นสังกัด ไล่ออกจากราชการ

แต่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เองก็ควรต้องทบทวนระบบการคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนว่ารัดกุมดีพอหรือไม่

ด้วยว่านายประสิทธิชัยมาจากครูพลศึกษา ใช้ช่องทางครูชำนาญการในการสอบผู้อำนวยการสถานศึกษา บรรจุเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโพธิ์ชัยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 ยังอยู่ในช่วงทดลองงาน 1 ปี เพราะตามเกณฑ์ของ สพฐ.ต้องทดลองปฏิบัติงาน 1 ปี และต้องประเมิน 2 ครั้ง ครั้งแรกใน 6 เดือน และครั้งที่ 2 6 เดือนหลัง

ถ้าไม่ผ่านการประเมิน ต้องกลับไปดำรงตำแหน่งสุดท้ายก่อนบรรจุเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

 

ผู้บริหาร ศธ.ต่างขานรับกับการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน อย่างนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ระบุว่า จะต้องมีมาตรการและแนวทางที่ชัดเจน โดยหลักคือต้องมีคุณภาพที่ตรงกับการเป็นผู้บริหาร

ขณะที่นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา มองว่า ต้องทบทวนเรื่องคัดกรองคน โดยคำนึงถึงวัยวุฒิ วุฒิภาวะ สภาวะทางจิตใจ เพราะผู้บริหารสถานศึกษาต้องดูแลครู เด็ก จึงต้องมีวุฒิภาวะ สภาวะจิตใจที่สูงเป็นพิเศษ

ดังนั้น อาจต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าต้องทบทวนทั้งประสบการณ์ที่ปัจจุบันครูชำนาญการก็สามารถสอบเป็นผู้บริหารสถานศึกษาได้ว่าเหมาะสมหรือไม่

หรือจะกลับไปใช้แนวทางเดิมที่เลื่อนตามลำดับขึ้นมาจากครูต้องผ่านรองผู้อำนวยการก่อน เพื่อให้ได้ผู้บริหารที่ดีมีวุฒิภาวะที่เหมาะสม

และเนื่องจากขณะนี้คุรุสภาอยู่ในช่วงทบทวนมาตรฐานวิชาชีพผู้บริหาร ก็ถือโอกาสนี้พิจารณาทบทวนด้วย

 

ส่วนนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. เห็นด้วยกับการเลื่อนตำแหน่งตามลำดับขั้น คือจากครูเป็นรองผู้อำนวยการสถานศึกษาก่อนไปเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา เพราะงานบางอย่างต้องการประสบการณ์เฉพาะด้าน

การเลื่อนตำแหน่งแบบลัดขั้นตอน อาจทำให้มีปัญหาในการทำงานภายหลัง เลยอยากให้คนที่มีประสบการณ์ตามลำดับขั้นตอนได้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อให้มีความเข้าใจในเนื้องานและการบริหารอย่างรอบด้าน

สอดคล้องกับนายวิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เลขาธิการสมาคมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ที่เห็นด้วยกับการทบทวน ซึ่งช่วงที่สอบคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน ต้องผ่านกระบวนการที่เข้มข้น ทั้งเสนอประวัติเพื่อแสดงภูมิหลังและประวัติการทำงาน ใช้คะแนนสอบ สอบสัมภาษณ์เพื่อดูบุคลิกภาพ ความเป็นผู้นำ ที่สำคัญมีกระบวนการอบรมที่เข้มข้นจากผู้บริหารรุ่นพี่ สอนประสบการณ์ ทำให้เกิดความสามัคคี มีความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในการทำงาน โดยใช้เวลาอบรมถึง 23 วัน

แต่ปัจจุบันใช้คะแนนสอบเป็นหลัก และอบรมเพียง 5 วันจากจอตู้หรือระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนช่วงหลัง บางคนมีลักษณะผิดเพี้ยน มีบุคลิกภาพไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำ ขาดประสบการณ์ โดยปัจจุบันครูอายุ 32-33 ปี ก็มาสอบเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้ เพราะเน้นใช้คะแนนสอบเป็นหลัก ดังนั้น หากจะปรับจริงก็อยากให้ดูรายละเอียดของกระบวนการคัดเลือกด้วย

“ไม่ได้ติดขัดเรื่องครูชำนาญการจะมาสอบผู้บริหารสถานศึกษา เพราะต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ แต่ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกที่เข้มข้น ไม่ใช่ใช้วิธีสอบอย่างเดียว ส่วนตัวเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียน เก็บประสบการณ์บริหารนานถึง 6 ปี กว่าจะมีคุณสมบัติครบสอบขึ้นตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน และผ่านกระบวนการคัดเลือกที่เข้มข้น”

นายวิสิทธิ์กล่าว

 

ขณะที่นายธนารัชต์ สมคเณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 1 กทม. มองว่า การทบทวนหลักเกณฑ์เป็นเพียงปลายเหตุ อยากให้ดูทั้งระบบ ไล่ตั้งแต่สถาบันผู้ผลิตที่ต้องดูเรื่องการปรับหลักสูตร เน้นจิตวิญญาณความเป็นครู ส่วนคุรุสภาควรทบทวนมาตรการในการดูแลวิชาชีพครู ไม่ใช่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอย่างเดียว หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ก็ต้องทบทวนมาตรการในการกำกับดูแลทั้งครู ผู้อำนวยการโรงเรียนและบุคลากรให้ใกล้ชิดมากขึ้น

“ไม่ติดใจเรื่องให้ครูชำนาญการสอบขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะทุกคนอยากมีความก้าวหน้า แต่ที่อยากให้เน้นคือกระบวนการอบรมสร้างจิตวิญญาณความเป็นครูที่อยากให้เข้มข้นมากขึ้น” นายธนารัชต์กล่าว

ขณะที่นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ. มองต่างมุมว่า กรณีของนายประสิทธิชัยเป็นเรื่องส่วนบุคคล การจะเอาพฤติกรรมของคนคนเดียวมาตัดสินผู้อำนวยการโรงเรียนทั้งประเทศแล้วปรับเกณฑ์ ต้องดูให้รอบด้าน ซึ่งเกณฑ์ให้ครูชำนาญการสามารถสอบคัดเลือกได้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถได้เข้ามาทำงานเชิงบริหารได้เร็วขึ้น เป็นการเพิ่มประสบการณ์การทำงาน

เพราะหากรอเลื่อนตามลำดับขั้นต้องใช้เวลา เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจไม่ได้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันมาทำงาน

 

สําหรับหลักเกณฑ์การสอบบรรจุแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษานั้น ปัจจุบันเปิดโอกาสให้บุคคล 7 ประเภทนี้สามารถสอบเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ ได้แก่

  1. รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ที่มีประสบการณ์มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือรองผู้อำนวยการสถานศึกษาที่เคยเป็นครูไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการ
  2. รองผู้อำนวยการ สพท.
  3. ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สพท.
  4. เจ้าหน้าที่บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  5. ศึกษานิเทศก์และมีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่มหรือหัวหน้าหน่วยหรือผู้อำนวยการกลุ่มมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
  6. บุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) และมีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่ม หรือหัวหน้าหน่วย หรือผู้อำนวยการกลุ่มมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี

และ 7. ครูที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการ

โดยจะสอบข้อเขียนภาค ก ความรู้และความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)

ภาค ข ประเมินประวัติและประสบการณ์ความเหมาะสมกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ (คะแนนรวม 150 คะแนน)

และภาค ค สัมภาษณ์ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (คะแนนเต็ม 50 คะแนน)

โดยผู้ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง ต้องถูกประเมินเป็นเวลา 1 ปี โดยประเมินทั้งหมด 2 ครั้งภายในทุก 6 เดือน

หาก 6 เดือนแรกไม่ผ่าน ต้องปรับปรุง และเมื่อครบ 6 เดือนหลัง ถูกประเมินครั้งที่ 2 หากผลประเมินรวมทั้ง 2 ครั้งผ่าน ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาต่อไป

แต่หากทั้ง 2 ครั้งไม่ผ่าน ต้องดำเนินการตามมาตรา 71 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครรูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษารับงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน พ.ศ.2551 โดยจะสั่งย้ายและแต่งตั้งผู้ที่มีผลการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ไปดำรงตำแหน่งเดิมซึ่งเป็นตำแหน่งก่อนเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา

    ต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ว่าจะหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาทบทวนอย่างไรบ้าง