ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม ใน Embrace of the Serpent (5)

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon
ภาพปกหนังสือ Orientalism ของ เอิดเวิร์ด ซาอิด

นักวัฒนธรรมศึกษาจำนวนหนึ่งมองว่าภาพยนตร์เรื่อง Fitzcarraldo เป็นหนังที่สะท้อนวาทกรรมแบบอาณานิคม

โครงเรื่องอย่างรวบรัดที่สุดคือฝรั่งจาก “โลกเก่า” ในยุโรปเผชิญหน้ากับคนพื้นเมืองใน “โลกใหม่” ในอเมริกาใต้ จากนั้นตัวละครเอกคือฟิตซ์คาร์รัลโดใช้แรงงานคนพื้นเมืองลากเรือกลไฟข้ามเขาไปกรีดยาง และสุดท้ายคนพื้นเมืองก็ถูก “ศิวิไลซ์” สู่โอเปร่าของนักร้องเสียงเทเนอร์ชาวอิตาลีที่เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมชั้นสูงซึ่งประสบความสำเร็จในแง่รางวัลและยอดขายในยุคนั้นอย่าง เอนริโก้ คารูโซ่

ขณะโอเปร่าเป็นจักรกลหลักที่ผลักดันความเคลื่อนไหวในภาพยนตร์ “เสียง” ของชนเผ่าพื้นเมืองกลับถูกนำเสนอแบบที่ไร้เสียงอย่างถึงที่สุด

ชนเผ่าพื้นเมืองนับร้อยคนปรากฏตัวในรูปมนุษย์ลึกลับกลางป่าลึก จากนั้นก็เป็นกรรมกรลากเรือกลไฟที่ไร้เสียงกระทั่งไม่ร้องขอชีวิตเมื่อถูกเรือทับ และยกเว้นฉากเปิดเรื่องที่เป็นภาพป่าอเมซอนมุมกว้างมีเมฆหมอกปกคลุมพร้อมเสียงบรรยายว่าชนเผ่าพื้นเมืองมีความเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกอย่างไรแล้ว “มุมมอง” แบบชนพื้นเมืองก็ไม่มีให้เห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้อีกเลย

น่าสนใจว่าตัวละครพื้นเมืองกลุ่มที่มี “เสียง” ล้วนเป็นคนพื้นเมืองที่อยู่นอกอุตสาหกรรมยาง เป็นลูกจ้างวรรณะต่ำสุดของสังคมเมือง และทุกคนมีความสุขกับการอยู่ในวรรณะนั้น หญิงพื้นเมืองเป็นโสเภณีที่ลั้ลลาในการให้บริการทางเพศราวอ่านอะเดย์ก่อนเริ่มงาน คนพื้นเมืองเป็นยามหน้าโรงละครโอเปร่าที่พูดว่าอยากเข้าไป “เห็น” โอเปร่าสักครั้งในชีวิต

และอุปลักษณ์หรือ metaphor ต่อสถานะคนพื้นเมืองซึ่งพีคที่สุดคือม้าที่ลากรถให้นายทาสจนเหนื่อยกลับกระชุ่มกระชวยทันทีที่คนเลี้ยงม้าให้กินแชมเปญดีๆ

เมื่อชนเผ่าพื้นเมืองเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่ถูกทำให้ไร้เสียง Fitcarraldo ก็กลายเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงอเมริกาใต้ยุค “ตื่นยาง” โดยมุมมองของ “เจ้ายาง” ทั้งหมด

หนังพาผู้ชมเห็นชนเผ่าพื้นเมืองกรีดยาง ต้มน้ำยาง ทำยางแผ่น ฯลฯ ในอาการสงบนิ่งราวสมาทานคำสอนเรื่องการทำงานคือการปฏิบัติธรรมของพุทธทาสภิกขุ ทาสถูกนำเสนอในภาพอิสรชนที่ทำงานโดยสมัครใจ ไม่มีผู้คุมโผล่มาให้เห็น หรือกล่าวอีกนัยคือแรงงานบังคับถูกนำเสนอในสภาพที่ทุกคนตั้งใจอุทิศตัวเพื่อผลผลิตยางด้วยเจตจำนงเสรี

อาจเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า Fitzcarraldo เสนอภาพยุค “ตื่นยาง” ด้วยมุมมองของ “เจ้ายาง” ที่มองเห็นแต่ความเจริญก้าวหน้าและความมีอารยธรรมที่มาพร้อมกับอุตสาหกรรมยาง ขณะที่ Embrace of the Serpent เล่าเรื่องอเมริกาใต้ยุค “ตื่นยาง” ด้วยมุมมองของคนพื้นเมืองอย่างหมอผีคาราคามาเต้เพื่อสะท้อนสภาพที่ “เจ้ายาง” กดขี่คนพื้นเมืองให้เป็นทาส ผลก็คือภาพยนตร์เรื่องแรกจงใจทำให้คนพื้นเมืองเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่ไร้เสียง ขณะที่ภาพยนตร์เรื่องหลังเต็มไปด้วยเสียงของตัวละครหลักที่เป็นหมอผีพื้นเมือง

มองอย่างเป็นเอกเทศแล้ว Fitzcarraldo เป็นหนังส่งเสริมลัทธิอาณานิคม ส่วน Embrace ตั้งคำถามกับอาณานิคมหลายเรื่อง แต่ถ้าอ่านภาพยนตร์ทั้งสองแบบสัมพันธบท มุมมอง “เจ้ายาง” และการกดทับชนเผ่าพื้นเมืองให้อยู่ในสภาวะไร้เสียงใน Fitzcarraldo กลับเป็นจุดแข็งที่ทำให้หนังเรื่องนี้สะท้อนสภาวะอาณานิคม (Coloniality) ซึ่งเป็นฉากหลังที่ Embrace ไม่พูดถึงได้ชัดที่สุด เพียงแต่ในเรื่องหลัง คนพื้นเมืองที่เป็นตัวละครหลักกลับสร้างความสัมพันธ์กับคนผิวขาวบนการเผชิญหน้าและการต่อรอง

ในแง่นี้ สภาวะอาณานิคมที่กำกับโครงเรื่องหลักเหมือนกันจึงทำให้ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องมีโครงสร้างการเล่าเรื่องคล้ายกัน นั่นคือคนขาวต้องการทรัพยากร -> คนขาวเข้าป่า -> คนขาวต้องการยึดครองพื้นที่

ส่วนการต่อต้านและต่อรองของคนพื้นเมืองนั้นมีน้ำหนักในภาพยนตร์แต่ละเรื่องแตกต่างกัน เพราะเรื่องหนึ่งทำให้คนพื้นเมืองไร้ปากเสียง แต่อีกเรื่องทำให้คนพื้นเมืองที่เป็นตัวละครหลักอย่างหมอผีคาราคามาเต้มี “เสียง” ในการโต้เถียงกับคนผิวขาวอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี คนพื้นเมืองที่มี “เสียง” ใน Embrace of the Serpent เป็นคนที่มีคุณสมบัติเหนือชนพื้นเมืองทั้งหมด

ข้อแรกคือ หมอผีคาราคามาเต้เป็นผู้ที่ชนพื้นเมืองให้สมญาว่า “ผู้เปิดโลก” ในความหมายของผู้หยั่งรู้กว่าคนอื่น

ข้อสองคือ หนังเปิดตัวเขาในสภาพมนุษย์ลึกลับที่อยู่เป็นเอกเทศในเขตไกลโพ้นจนมีชื่อในหมู่ชนเผ่าราวตำนานที่ไม่มีใครรู้ว่ามีอยู่จริง

ข้อสามคือ หนังทำให้เขาสง่างามราวเป็นบุคคลต้นแบบให้ ฌอง ฌากส์ รุสโซ คิดค้นแนวคิดเรื่อง Noble Savage หรือคนเถื่อนผู้มีอารยะ

เมื่อเอาทั้งสามข้อรวมกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือคนพื้นเมืองที่มี “เสียง” อย่างคาราคามาเต้นั้นเป็นคนพิเศษ ไม่ใช่คนพื้นเมืองทั่วไปซึ่งเป็นได้แค่ทาสกรีดยาง คนป่า หรือเด็กพื้นเมืองที่บาทหลวงเอาไปเลี้ยงจนโต โดยประเด็นความสัมพันธ์ของคาราคามาเต้กับมวลชนพื้นเมืองเรื่องอิสรภาพนั้นนับได้ว่าเป็นประเด็นที่ยั่วให้คิดที่สุดจนสมกับที่หนังเรื่องนี้เป็นหนังในสังคมยุคหลังอาณานิคม

หลังจากอธิบายภาพยนตร์เรื่องนี้ในแง่อาณานิคมแล้ว จากนี้จะพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ในแง่หลังอาณานิคม

ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า Embrace ในระนาบของความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกนั้นพูดถึงการปะทะและการต่อรองระหว่างคนพื้นเมืองกับฝรั่งที่ต่างฝ่ายต่างมีความรู้ของตัวเองเป็นทรัพยากร

คาราคามาเต้มีความรู้เรื่องป่าและสภาพภูมิประเทศที่ฝรั่งไม่มี

ส่วนฝรั่งมีความรู้เรื่องที่ตั้งชนเผ่าที่คาราคามาเต้อยากได้

การต่อสู้และต่อรองเพื่อครอบครองความรู้ของอีกฝ่ายจึงเป็นหนึ่งในห้องหัวใจของหนังเรื่องนี้

เหตุผลง่ายๆ คือเมื่อยึดกุมความรู้ของอีกฝ่ายได้ ฝ่ายที่ถูกยึดกุมความรู้ก็ไม่มีทรัพยากรในการต่อสู้/ต่อรองได้ต่อไป

แน่นอนว่าอิทธิพลของ Edward Said ในวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบตั้งแต่ทศวรรษ 1980 รวมทั้งงานวิชาการแนวหลังอาณานิคมจำนวนมหาศาลในทศวรรษ 190 ทำให้ความเข้าใจว่าความรู้สมัยใหม่แนบแน่นกับการครอบงำไม่ใช่ความลับต่อไป

เช่นเดียวกับการที่ชนชั้นนำควบคุมประชากรด้วยความรู้ด้านภาษา, แผนที่, ประชากร, แบบเรียน ฯลฯ หรือการที่ประชากรแต่ละกลุ่มชนชั้น, ศาสนา, เพศสภาพ, สีผิว, ท้องถิ่น, ชาติพันธุ์ ฯลฯ ตอบโต้การครอบงำโดยยุทธวิธีต่อสู้/ต่อต้าน/ต่อรอง ผ่านความรู้ขึ้นมา

ถึงตรงนั้น งานวิชาการบางกลุ่มก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาการครอบงำด้วยความรู้ในปริมณฑลต่างๆ ส่วนบางคนก็หันไปเน้นทำความเข้าใจว่าประชากรแต่ละกลุ่มยุทธวิธีในการก่อสร้างความรู้เพื่อต่อต้านการครอบงำอย่างไร

ต่อเนื่องจากทฤษฎีเดียวกัน แต่ขยับเป็นประเด็นอาณานิคมมากขึ้น Nicholas Dirks เสนอไว้นานแล้วว่าสาระสำคัญของระบบอาณานิคมคือการสร้างความรู้สึกนึกคิดให้คนในสังคมเข้าใจว่าอาณานิคมเป็นเรื่องธรรมชาติ

บันทึกของเจ้าหน้าที่รัฐยุคอาณานิคมจึงเป็นตัวอย่างว่า “ตัวบท” เอื้ออำนวยต่อการครอบงำอย่างไร เพราะ “ตัวบท” เล่าเรื่องซึ่งสะท้อนให้เห็นอำนาจของ “ภาษา” ในการทำให้โครงสร้างครอบงำกลายเป็นเรื่องปกติ มีเหตุมีผล ถูกต้อง และเป็นธรรมชาติ

และขณะเดียวกัน “ตัวบท” ทำให้ประวัติศาสตร์อาณานิคมที่เป็นประสบการณ์จริงของมนุษย์ถูก “ฟอกขาว” หรือเลือนหายไป

ย่อหน้าที่แล้วอาจทำให้นักวิชาการผู้ข้ามสายเป็นผู้บริหารคณะและมหาวิทยาลัยจนเปลี่ยนทั้งโคลัมเบียและเบิร์กเลย์แบบ “ปฏิวัติ” อย่าง Dirks มีรากเหง้าทางทฤษฎีเป็นนักมานุษยวิทยาแนวโครงสร้างนิยม แต่งานศึกษาสังคมอาณานิคมอินเดียของ Dirks กลับชี้ให้เห็นว่าการให้ความสำคัญกับ “บริบท” จริงจังระดับอ่านบริบทเหมือนเป็น “ตัวบท” จะทำให้เห็นว่างานเขียนยุคอาณานิคมนั้นไม่สมบูรณ์, ขัดกันเอง, มีลักษณะเฉพาะมากไป ฯลฯ จนไม่จำเป็นต้อง “อ่าน” ตัวบทอย่างที่มันถูกออกแบบก็ได้เหมือนกัน

กลับไปที่เรื่องอาณานิคมกับการสร้างความเข้าใจว่าอาณานิคมเป็นเรื่องธรรมชาติและสมเหตุสมผลอีกที

โลกของภาพยนตร์นั้นมีภาพยนตร์จำนวนมหาศาลที่พูดถึงอเมริกาใต้ยุคอาณานิคมแบบซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “หนังดี” แต่เมื่อพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนด้วยสายตาแบบหลังอาณานิคม ก็จะพบว่าภาพยนตร์ดังกล่าวเกื้อหนุนกับการครอบงำแบบอาณานิคม ไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง

ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง The Mission ของ โรแลนด์ จอฟเฟ่ ผู้กำกับฯ มือดีแห่งทศวรรษ 1980 ผู้เคยทำหนังอย่าง The Killing Fields ซึ่งบุกเบิกพูดถึงสภาพชีวิตคนกัมพูชาผู้เป็นเหยื่อของสงครามกลางเมืองและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยเขมรแดงจนโด่งดัง

กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด The Mission เป็นเรื่องของบาทหลวงแห่งคณะเยซูอิตผู้บากบั่นเข้าป่าลึกของปารากวัยเพื่อสร้างโบสถ์และเปลี่ยนชนเผ่ากูอารานี่ (Guarani) ให้เป็นชาวคริสต์ ต่อมากองทัพของเจ้าอาณานิคมโปรตุเกสกับ “นายทาส” ต้องการกวาดต้อนชนพื้นเมืองจนร่วมกันบุกพื้นที่นี้

จากนั้นบาทหลวงผู้เคยเป็นพรานค้ามนุษย์ก็นำชนพื้นเมืองต่อสู้กับผู้รุกราน แต่ในที่สุดบาทหลวงทั้งคู่ถูกทหารฆ่า โบสถ์ถูกทำลาย

ส่วนหนังปิดท้ายด้วยเด็กชนเผ่าพื้นเมืองเก็บซากสิ่งของที่เหลือจากโบสถ์แล้วหนีเข้าป่าลึกไป

มองอย่างผิวเผินแล้ว The Mission คือหนังโจมตีระบบอาณานิคมซึ่งเลวทรามขนาดฆ่าบาทหลวงผู้ขัดขวางการเอาคนพื้นเมืองเป็นทาส ขณะเดียวกันก็สดุดีบาทหลวงซึ่งยอมตายข้างชนพื้นเมือง ภาพในภาพยนตร์จึงขับเน้นวีรกรรมและภราดรภาพที่บาทหลวงมีต่อคนพื้นเมืองจนถึงขีดสุด

ตัวอย่างเช่น บาทหลวงนำคนพื้นเมืองร้องเพลงหน้าโบสถ์เพื่อขัดขวางทหาร

หรือบาทหลวงเดินทางเข้าป่าแล้วพบคนพื้นเมืองที่ขู่ฆ่าซึ่งในที่สุดก็สงบสติอารมณ์เพราะซาบซึ้งไปกับเสียงโอโบที่บาทหลวงเล่นอย่างสงบกลางคนพื้นเมือง

อย่างไรก็ดี การอ่านหนังเรื่องนี้แบบวิพากษ์วิจารณ์อาจทำให้เห็นเรื่องทั้งหมดเปลี่ยนไป

พูดง่ายๆ คือ The Mission เป็นหนังว่าด้วยชนพื้นเมืองซึ่งเผชิญการปรากฏตัวของคนผิวขาวจากภายนอกชุมชนสองกลุ่ม

กลุ่มแรกคือ บาทหลวงคณะเยซูอิต

กลุ่มที่สองคือ กองทัพโปรตุเกส

กลุ่มแรกมีความสัมพันธ์กับชนพื้นเมืองแบบครอบงำผ่านการเปลี่ยนพวกเขาจากคนป่านับถือผี/ไร้อารยะ เป็นคริสตังผู้รู้หนังสือ/รู้อารยะ/รู้ศาสนา

ส่วนกลุ่มที่สองสัมพันธ์กับชนพื้นเมืองแบบครอบครองเพื่อกวาดต้อนพวกเขาเป็นทาส