อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : พินิจสองผู้นำ “สีจิ้นผิง” พบ “ออง ซาน ซูจี”

ประชาคมโลกต่างจับตาการเยือนเมียนมาของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง (Xi Jingping) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 17-18 มกราคมที่ผ่านมา

สื่อมวลชนหลายสำนักในต่างประเทศและไทยต่างวิเคราะห์และให้ความสำคัญของการเดินทางของผู้นำจีนครั้งนี้ โดยอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมผู้นำสูงสุดของจีนได้เลือกเยือนเมียนมาเป็นประเทศแรกสำหรับการเดินทางต่างประเทศครั้งแรกในปี 2020

ในแง่ของผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อสงสัยดังกล่าว แต่ด้วยความขี้สงสัยของผู้เขียนเอง ผู้เขียนคิดว่าแน่นอนคงไม่ใช่ประเทศเมียนมาอยู่ใกล้กับจีนเพราะอยู่ติดกับมณฑลยูนนาน มณฑลทางใต้ของจีน อีกทั้งท่านผู้นำสูงสุดของจีนคงไม่ใช่เลือกเยือนเมียนมาในฐานะประเทศแรกที่เป็นสมาชิกของอาเซียน ผมว่ามากกว่านั้นมาก

ยิ่งเราทราบกันในภายหลังว่า ทางการจีนและเมียนมาลงนามข้อตกลงอันประกอบด้วย บันทึกความเข้าใจ จดหมายและพิธีสารจำนวนมากถึง 33 ฉบับ

ที่สำคัญเป็นอันดับแรกคือ นี่เป็นการเยือนของประธานาธิบดีจีนต่อเมียนมาหลังจากที่ไม่ได้เยือนจีนอย่างเป็นทางการมานาน 19 ปีหลังจากประธานาธิบดีเจียงเจอ หมิงเยือนเมียนมาในปี 2001 (1)

เราควรวิเคราะห์ความสำคัญของการเยือนเมียนมาของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ในด้านต่างๆ ทั้งต่อจีน ต่อเมียนมาเอง

ซึ่งย่อมทำให้เรามองเห็นว่าการเยือนของผู้นำสูงสุดของจีนครั้งนี้อันบ่งบอกทิศทางสำคัญในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ ได้แก่ เอเชียใต้ เอเชียกลางและยุโรปไปด้วยในตัว

 

นัยยะของข้อตกลง 33 ฉบับ

สํานักข่าว AP2 รายงานว่า มีการลงนามและแลกเปลี่ยน บันทึกความเข้าใจ จดหมายและร่างพิธีสาร 33 โครงการระหว่างประธานาธิบดีสีจิ้นผิง กับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำเมียนมาในวันที่ 18 มกราคม 2020 โครงการอยู่ในภาคส่วนต่างๆ ทั้งข้อมูลข่าวสาร อุตสาหกรรม การเกษตร ความมั่นคงและการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในรัฐคะฉิ่นที่มีพรมแดนติดกับจีน

ดูคร่าวๆ ทางการจีนทำข้อตกลงกับเมียนมาครอบคลุมในหลายด้าน

อย่างไรก็ตาม เมื่อไฮไลต์และจัดลำดับความสำคัญเราจะเห็นว่า เป็นข้อตกลงที่เกี่ยวพันกับการเตรียมการด้านการเงิน การก่อสร้างและการจัดการโครงการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ

โครงการดังกล่าวผลักดันโดยจีนต่อเนื่อง มีบางโครงการรื้อฟื้นและเริ่มต้นใหม่หลังจากที่เลื่อนออกไปหรือหยุดชะงักด้วยเหตุผลสำคัญซึ่งจะกล่าวต่อไป

อีกทั้งเราควรมองภาพรวมของโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานว่ามีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงซึ่งกันและกันต่อแผนงาน นโยบายและยุทธศาสตร์ของจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่เป็นนโยบายของเมียนมาเพียงบางส่วนซึ่งต้องแยกแยะว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้นำรัฐบาลบางส่วน ผู้นำทหาร แต่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนแค่ไหน

เป็นคำถามและที่สงสัยเป็นคำถามที่ใหญ่มากขึ้นคือ เป็นประโยชน์ตรงไหนต่อประชาชนในท้องถิ่นซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นชนกลุ่มน้อยของเมียนมา กล่าวคือ

 

การก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ภาพใหญ่

โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงและท่าเรือน้ำลึกซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor-CMEC) อันเป็นโครงการเพื่อสร้างเส้นทางเชื่อมจีนไปมหาสมุทรอินเดีย (3) ตามแนวคิด หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road-OBOR) ซี่งทางการจีนปรับเปลี่ยนชื่อมาเป็น ข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI)

CMEC ส่วนที่เป็นรถไฟความเร็วสูง สร้างเสร็จในระดับหนึ่งโดยเป็นการก่อสร้างและปรับปรุงถนนโฮเวย์ในรัฐฉาน (Shan State) ซึ่งเป็นรัฐด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมาที่มีพรมแดนติดอยู่กับจีน

ถนนไฮเวย์ใหม่และเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ก่อสร้างเฟสแรกต้องการจะเชื่อมต่อกับเมืองชายแดนของจีนคือเมือง Ruili และเมือง Muse เมืองชายแดนของเมียนมาอันเป็นเมืองที่เชื่อมต่อกับเมืองศูนย์กลางการค้าของเมียนมาคือเมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) (4)

ที่น่าสังเกตคือ ถ้าเป็นไปตามแผนการจะขยายเส้นทางลงไปทางใต้โดยไปที่เมืองจอก์พยู (Kyaukphyu) แต่การเชื่อมขยายน่าจะเป็นแรงผลักดันมาจากจีนมากกว่า

นอกจากนี้ บริเวณเส้นทางก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายในรัฐฉานยังมีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและน้ำมันที่สร้างเสร็จในปี 2013 และ ปี 2017 อีกด้วย (5)

เส้นทางแรกของโครงการรถไฟความเร็วสูงมีมูลค่า 8.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทว่ามีความกังวลเรื่องปัญหาความมั่นคงเนื่องจากรัฐฉานของเมียนมาเป็นเขตของกลุ่มชนกลุ่มน้อยติดอาวุธและเป็นแหล่งผลิตยาไอซ์ โดยกลุ่มติดอาวุธจะต้องเอาเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มตนก่อน

การก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะต้องไม่ไปกระทบต่อรายได้และความมั่นคงของพวกเขา

 

การเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสู่ทวิลักษณ์จีน

รัฐฉานของเมียนมามีพัฒนาการที่ซับซ้อนและยุ่งเหยิงมาก ในอดีตเป็นพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาลเมียนมา

กองกำลังของพวกเขามีความสามารถและเข้มแข็งทั้งด้วยการเป็นกองกำลังและผู้ค้ายาเสพติดหลายชนิด ในเวลาเดียวกันยังได้รับการสนับสนุนทั้งทางการเมืองและอาวุธใหม่ๆ ของพวกเขามาจากทางการจีน

ทั้งนี้ กองกำลังติดอาวุธนี้เป็นทั้งเครื่องมือกดดันและเจรจาต่อรองกับรัฐบาลเมียนมา

ด้านของจีนยังเอาไว้กำราบชนกลุ่มน้อยที่อยู่บริเวณชายแดนจีนซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลจีนและรัฐบาลท้องถิ่นยูนนานไม่สามารถปราบปรามได้เด็ดขาดโดยเหตุผลหนึ่งมาจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา ด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ

ในปัจจุบันและอนาคต การเยือนและทำข้อตกลงของประธานาธิบดีสีมีการเจรจาโครงการเปลี่ยนพื้นที่พรมแดนรัฐฉานให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone-SEZ) 3 แห่ง

เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มผลประโยชน์ให้กับผู้ค้าทั้งสองประเทศ ทั้งธุรกิจที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

ที่ผ่านมามีการขนส่งตัวตั้งต้นซึ่งใช้ในการนำไปผลิตสารเสพติดหลายชนิดซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมยาไอซ์มูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐผ่านพรมแดนประเทศอยู่แล้ว

นั่นหมายความว่าหากรัฐฉานส่วนที่ติดกับพรมแดนจีนเปลี่ยนให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่งก็จะไม่มีข้อจำกัดทางพรมแดนระหว่างประเทศ

แต่ความเปลี่ยนแปลงจะไม่หยุดอยู่แค่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หากทว่าเท่ากับได้เปิดพื้นที่และเพิ่มการไหลเวียนของสินค้าและผู้คนอันกระทบต่อการหารายได้จากการค้ายา ธุรกิจผิดกฎหมายและการใช้อาวุธของฝ่ายกองกำลัง จนบั่นทอนกำลังการใช้อาวุธเพื่อกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำมาของกลุ่มชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ

 

การขยายเมืองเพื่อความมั่งคั่ง
การปรับโฉมหน้าย่างกุ้งใหม่

ทางการเมียนมาต้องการให้เมืองย่างกุ้งปฏิวัติตัวเองในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างเมืองใหม่ขึ้นในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำในเมือง โดยหวังว่าเมืองใหม่จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ประชากรแออัด ขาดไฟฟ้าและน้ำได้ แต่การปรับโฉมย่างกุ้งเมืองใหม่โดยได้รับความช่วยเหลือจากทางการจีนกลับไม่ได้ช่วยปัญหาเมืองใน 2 ด้านสำคัญ

ด้านที่ 1 เกิดจากการนำเข้าแรงงานชาวจีนเข้ามาทำงานก่อสร้างเมืองใหม่ โดยปรากฏว่า นอกจากแรงงานเหล่านั้นจะเข้ามาทำงานก่อสร้างแล้ว ยังมีการตั้งรกรากเป็นชุมชนจีน โดยบางส่วนนั้นเปลี่ยนสถานะจากแรงงานมาเป็นผู้ประกอบการทำการค้าและธุรกิจทั้งในเมืองย่างกุ้งและย่างกุ้งเขตใหม่อีกด้วย

ด้านที่ 2 ในระหว่างที่มีการปรับปรุงเมืองใหม่ มีความขัดแย้งกับชาวบ้านและผู้อาศัยอยู่เดิมจนเกิดปัญหาการทำร้ายและการต่อต้านคนจีนและทางการจีนทั้งในเขตก่อสร้าง ในเมืองใหม่และเมืองต่างๆ ที่มีคนจีนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่เสมอ

ปัญหาที่เกิดขึ้นจาก 2 โครงการได้สร้างปัญหาให้กับเมียนมาในปัจจุบันและในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น ในโครงการอื่นๆ ที่ได้ตกลงกันแล้วและที่รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ก็เกิดปัญหาเช่นกัน แต่ปัญหาที่ว่านั้นช่วยให้เราเห็นบทบาทของจีนในเมียนมาและต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรวมทั้งเอเชียใต้อีกด้วย

นั่นหมายความว่า เราต้องตั้งคำถามว่า จีนมีทิศทางใหม่ต่อภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นอย่างไร ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจภายใน การผลิตล้นเกิน (over supply) การบริโภคภายในถดถอย พร้อมกับแรงกดดันจากปัญหาฮ่องกงในฐานะ แกนกลางระบบทุนนิยมจีน ที่ยังไม่เห็นทางออกและปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ยังไม่ยุติ

เมียนมาเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาของจีนเพื่อเข้าถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตหรือไม่

—————————————————————————————————-
(1) China Daily 17 January 2020
(2) AP 18 January 2020
(3) เป็นโครงสร้างแบบ Y-Shape เพื่อเชื่อมจีนกับมหาสุมทรอินเดีย อ้างจาก “China”s Xi makes a “historic” visit to Mayanmar” Aljazeera 17 January 2020
(4) Bertil Lintner “What China”s Xi will and won”t get in Myanmar” Asia Times 16 January 2020
(5) Ibid.,