ศึกษาคดีเกาะเต่าหลังผ่าน2ศาล…ผู้ต้องหาสารภาพ-ศาลยืนโทษประหาร-นักสืบโซเชียลไม่เชื่อ?

วงค์ ตาวัน
AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

คดีข่มขืนฆ่านักท่องเที่ยวสาวชาวอังกฤษและฆ่านักท่องเที่ยวชายชาวอังกฤษแฟนหนุ่มพร้อมกัน 2 ศพ ที่เกาะเต่า สุราษฎร์ธานี อันเป็นคดีใหญ่เกรียวกราวเมื่อปี 2557 เพราะเป็นอาชญากรรมรุนแรงที่เกิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง

เป็นข่าวสะเทือนขวัญไปทั่วโลก

แถมต่อมาเมื่อตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุได้ 2 ราย ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว ได้เกิดกระแสรุนแรงในโซเชียลมีเดีย กล่าวหาว่าตำรวจจับแพะ โดยบรรดานักสืบโซเชียล ตั้งประเด็นจับผิดสารพัด

กลายเป็นกระแสใหญ่ จนคนทั้งสังคมเชื่อไปแล้วว่า คดีนี้จับมั่ว จับผิดตัว

“แต่ก็เป็นความเชื่อ ที่ไม่ได้รับฟังพยานหลักฐานที่ฝ่ายตำรวจรวบรวมเพื่อใช้จับกุมและส่งฟ้อง 2 ผู้ต้องหาแรงงานพม่าเลย!”

ไม่สนใจพิจารณาว่า เมื่อสำนวนจากตำรวจไปถึงอัยการ ปรากฏว่าอัยการตรวจสอบแล้วก็ส่งฟ้อง 2 แรงงานพม่าเป็นจำเลย โดยเห็นพ้องกับพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน

“ถ้าหากจับผิดจับมั่วๆ พยานหลักฐานก็ต้องเลอะเทอะ ย่อมไม่ควรผ่านการกลั่นกรองของอัยการ”

แต่กระแสโจมตีจับแพะก็ยังไม่ได้ซาลงไป

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ศาลจังหวัดเกาะสมุย ได้มีคำพิพากษาประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง โดยไม่มีลดโทษ เพราะเชื่อว่าพยานพลักฐานที่ส่งฟ้องนั้น มีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดจริง

“ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาในคดีนี้ โดยตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง!”

แม้ว่าคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ยังมีศาลฎีกาอีกชั้น แต่คำตัดสินที่เห็นพ้องกันของทั้งสองศาล ก็บ่งบอกว่า พยานหลักฐานของตำรวจที่อัยการนำส่งฟ้องนั้น มีน้ำหนักต้องรับฟัง

โดยถ้าหากการทำงานของตำรวจ เป็นไปดังที่ถูกนักสืบโซเชียลจับพิรุธได้จริง คดีนี้ไม่ควรเดินหน้ามาได้ถึงเพียงนี้

“นี่จึงน่าจะเป็นคดีดังที่สังคมไทยควรจะนำมาทบทวนกันอีกคดีหนึ่ง ว่าด้วยกระบวนการเชื่อๆ กันไปตามกระแส”

โดยเฉพาะเป็นการสร้างกระแสโดยขบวนการที่มีเป้าหมายทางการเมือง ต้องการผ่าตัดตำรวจ ตามเป้าหมายปฏิรูปสีกากี อันเป็นความแค้นติดพันมาจากช่วงนกหวีด

เพื่อทำให้เป็นองค์กรที่ไม่มีอำนาจ ไม่สามารถขัดขวางการล้มรัฐบาลได้อีกต่อไป!

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ที่ให้ประหารจำเลยทั้งสองนั้น เป็นประเด็นที่น่าคิดอย่างมาก และคนที่เคยเชื่อไปตามกระแสที่ว่าตำรวจจับมั่วนั้น ควรจะต้องเปิดใจกว้าง เปิดหูเปิดตาให้กว้าง และมองรายละเอียดของคดีนี้เสียใหม่อย่างไร้อคติ

อันที่จริงกระบวนการทำงานของตำรวจในคดีนี้ บ่งบอกอะไรได้ในตัวค่อนข้างชัด

“ขณะเกิดเหตุนั้น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็น ผบ.ตร. ลงไปดูที่เกิดเหตุด้วยตัวเอง พร้อมด้วยตำรวจนักสืบจากส่วนกลาง นำโดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ขณะนั้นเป็น รอง ผบ.ตร. รวมทั้งนายตำรวจนักสืบที่มีผลงานน่าเชื่อถือ จากนครบาล และกองปราบฯ ลงไปทำคดีมากมาย”

ถ้าหากนักสืบโซเชียล สงสัยว่าตำรวจจะบิดเบนคดีเพื่อช่วยเหลือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ข่มขืนฆ่าตัวจริง ควรชั่งน้ำหนักกับกรณีทีมงานของตำรวจ ซึ่ง ผบ.ตร. ลงไปดูเอง มี รอง ผบ.ตร. มือปราบ ทีมจากนครบาล กองปราบฯ

“ลงกันไปขนาดนี้ ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น จะมีกำลังมาวิ่งเต้นให้บิดเบือนคดีได้อย่างไร!?!”

ขณะเดียวกัน เมื่อจับกุม 2 ผู้ต้องหาได้ พล.ต.อ.สมยศก็ลงไปดูรายละเอียดพยานหลักฐานและการสอบสวนด้วยตาตัวเอง ก่อนแถลงข่าวจับกุมคนร้ายด้วยตัวเอง

“ถ้าจับมั่ว พยานหลักฐานไม่ชัด ระดับ ผบ.ตร. จะไปยืนแถลงข่าวเองเพื่ออะไร”

ที่น่าพิจารณาอีกประเด็นก็คือ การโหมกระแสจับแพะในโซเชียลมีเดีย ยังส่งผลให้พ่อแม่ญาติพี่น้องของ 2 ชาวอังกฤษผู้ตาย ต้องร้องขอให้รัฐบาลอังกฤษเข้ามาช่วยตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ตายจะได้รับความเป็นธรรม จับกุมถูกต้องอย่างแท้จริง

จนกระทั่งมีการส่งตำรวจชุดสืบสวนจากอังกฤษบินตรงมายังประเทศไทย เพื่อประสานขอดูข้อเท็จจริงในคดี

แน่นอนว่า ตามขั้นตอนกฎหมายนั้น ตำรวจอังกฤษไม่มีสิทธิเข้ามาร่วมสอบสวน แต่เป็นการมาสอบถามขั้นตอนการทำงาน การสืบสวนสอบสวน และขั้นตอนจับกุมผู้ต้องหา เพื่อตรวจสอบในระดับหนึ่งว่า ตำรวจไทยทำงานได้มาตรฐานหรือไม่ เสร็จแล้วตำรวจอังกฤษชุดนี้ก็บินกลับ โดยตามกฎหมายและโดยมารยาท ย่อมไม่สามารถเปิดเผยอะไรได้

“แต่หลังจากนั้น รัฐบาลอังกฤษก็ไม่ได้แสดงท่าทีกังวลกับคดีนี้แต่อย่างใด”

จนสุดท้ายเมื่อถึงวันพิพากษาเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ครอบครัวชาวอังกฤษบินมาร่วมฟังคำตัดสินด้วย และกล่าวขอบคุณที่คนตายได้รับความเป็นธรรมเสียที

เมื่อศาลตัดสินประหารชีวิต โดยเชื่อตามพยานหลักฐานของตำรวจว่าจำเลยผิดจริง

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

โลกโซเชียลนั้น ถือเป็นการสื่อสารยุคใหม่ เป็นพลังทางสังคมที่ถือว่าเป็นประโยชน์และสำคัญยิ่ง เป็นสังคมของประชาชนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ และแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง

หลายครั้งที่โซเชียลมีเดีย ช่วยจับผิดเจ้าหน้าที่อย่างได้ผล มีคลิปฟ้องประจานอะไรต่อมิอะไรได้มากมาย

มีคุณมากกว่าโทษ

“แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีด้านที่เป็นโทษอยู่ เช่น หากมีการสร้างกระแสในทางที่ผิด ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ”

คดีเกาะเต่า หรือแม้แต่คดีอื่นๆ ที่เป็นที่สนใจของประชาชน และสังคมออนไลน์ได้สร้างกระแสโต้แย้งกล่าวหาตำรวจว่าจับแพะ เช่น คดีฆ่าเอกยุทธ อัญชันบุตร

“น่าจะเป็นคดีตัวอย่าง ที่สังคมโซเชียลควรนำมาศึกษาทบทวน!”

เพราะบัดนี้ทั้งคดีเกาะเต่าและคดีเอกยุทธนั้น ผ่านการพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้วเช่นเดียวกัน และทั้งสองศาลตัดสินไปในทิศทางเดียวกันทั้งสองคดี คือ เชื่อตามพยานหลักฐานของตำรวจว่าจำเลยผิดจริง

คดีเอกยุทธนั้น มีจำเลยถึง 6 คน นายบอลกับนายเบิ้มที่ร่วมกันลงมือฆ่า เพื่อนอีก 2 คนที่ร่วมฝังอำพรางศพ และพ่อแม่ของนายบอลที่ร่วมนำทรัพย์สินไปเก็บซ่อน

ประหาร – นายสันติภาพ หรือบอล เพ็งด้วง และนายสุทธิพงศ์ หรือเบิ้ม พิมพิสาร ถูกพิพากษาประหารชีวิตในคดีร่วมกันฆ่าชิงทรัพย์นายเอกยุทธ อัญชันบุตร แต่ได้รับการลดโทษเหลือจำคุก ตลอดชีวิต ที่ศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อ 30 ธ.ค.

แม้จะมีขบวนการทางการเมืองจ้องจับผิดตำรวจ เพื่อจะทำให้เป็นคดีฆ่าเอกยุทธมาจากใบสั่งการเมืองให้ได้ ไม่ยอมเชื่อว่าเป็นแค่คดีประสงค์ต่อทรัพย์สิน กล่าวหาว่ามีทีมฆ่ามืออาชีพลงมือ แล้วโยนให้นายบอลคนขับรถเป็นแพะ

แต่นายบอลให้การรับสารภาพตั้งแต่ต้น ขึ้นศาลก็รับสารภาพ เพื่อนพ้อง พ่อแม่ตนเองโดนจับหมด ก็รับสารภาพ

“จำเลยทั้ง 6 คน ไม่เคยมีใครแม้แต่คนเดียวที่ไม่รับ หรือโวยว่าเป็นแพะ!!”

จนตัดสินแล้ว 2 ศาลก็ไม่เคยร้องเรียนอะไร กำลังจะเหลือศาลสุดท้ายอยู่แล้ว

แต่ถึงวันนี้ กระบวนการสร้างกระแสทางการเมืองก็ยังยืนยันว่า เอกยุทธโดนผู้นำรัฐบาลขณะนั้นสั่งฆ่า หรือคนที่หลงเชื่อตามกระแสก็ยังเชื่อว่าการเมืองสั่งฆ่า

“ขนาดจำเลยทั้ง 6 ก็รับสารภาพจนวันนี้ว่าทำผิดจริง แต่พวกที่ไม่ยอมเชื่อก็ยังอุตส่าห์บอกว่า จำเลยพูดไม่จริง”

ส่วนคดีเกาะเต่านั้น อันที่จริงผู้ต้องหารับสารภาพแต่โดยดีตั้งแต่ชั้นจับกุมแล้ว แต่มาเปลี่ยนเป็นปฏิเสธในชั้นศาล และสู้คดีโดยยืนกรานปฏิเสธตลอด จนกระทั่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาประหารตามชั้นต้น

สุดท้ายคงต้องรอฟังชั้นฎีกาอันเป็นศาลสุดท้าย

คงจะเป็นอีกตำนานคดีที่สังคมต้องจดจำไปอีกยาวนาน โดยไม่ควรลืมว่า เราจะต้องอยู่กับกระแสโซเชียลโดยยึดในด้านที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

พร้อมกับต้องระวังไม่เป็นเหยื่อให้กับขบวนการครอบงำสร้างกระแสในทางผิดๆ!