เกษียร เตชะพีระ | กาพย์กลอนข้ามสมุทร

เกษียร เตชะพีระ

ราวปลายเดือนตุลาคมศกก่อน จู่ๆ ผมก็ได้อีเมลจากคุณ Kaitlin Rees บรรณาธิการวรรณกรรมเอเชียในโครงการวรรณกรรมข้ามแปซิฟิก (the transpacific literary project) ของ The Asian American Writers” Workshop (งานร่วมปฏิบัติการของนักเขียนเอเชียนอเมริกัน) ในนครนิวยอร์ก

เธอบอกว่าได้ทราบเรื่องงานเขียนของผมจากคุณ อ. ซึ่งเป็นนักศึกษาไทยที่เรียนต่ออยู่ทางนั้น เรื่องของเรื่องคือ โครงการวรรณกรรมข้ามแปซิฟิกของเธอคัดสรรตีพิมพ์งานเขียนงานแปลจากภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และเอเชียตะวันออกมาลงในนิตยสารออนไลน์ชื่อ The Margins (ชายขอบ www.themarginsmagazine.com) โดยเน้นไปที่เสียงของกลุ่มชนด้อยปากเสียงเพราะถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบอำนาจทั้งหลาย เช่น ชนชาติพันธุ์ผิวสีภาษาต่างๆ ที่ไม่ใช่ผิวขาวอเมริกัน ชาวอัญจารีทางเพศสภาพ เป็นต้น และตอนนี้เธอกำลังรวบรวมต้นฉบับสำหรับแก่นเรื่องว่าด้วย Insurgent Tongues (ชิวหากำเริบ) อยู่

คุณ อ.ได้แนะนำเธอว่า ผมตีพิมพ์กาพย์กลอนจำนวนหนึ่งในหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับเผด็จการทหารไทยในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อหาสอดรับกับแก่นเรื่องนิตยสารที่วางไว้

หากผมอนุญาต เธออยากขอแปลกาพย์กลอนของผมสัก 3-5 ชิ้นเป็นภาษาอังกฤษเพื่อนำลงในฉบับ “Insurgent Tongues” ดังกล่าว

หลังจากสอบถามข้อมูลในแวดวงที่พอรู้จักว่าเชื่อถือได้แล้ว ผมก็ตอบรับตกลงไป คุณ Rees จึงส่งผ่านให้ผมหารือกับคุณ อ. เพื่อร่วมกันคัดเลือกกาพย์กลอนยุค คสช. ของผมที่เหมาะสมตามจำนวนที่กำหนดและนำส่งให้กองบรรณาธิการ The Margins ต่อไป

ความยุ่งยากอยู่ตรงที่ว่า ตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 มาถึงทุกวันนี้ ผมแต่งกาพย์กลอนเกี่ยวกับเผด็จการ คสช.ไว้ทั้งสิ้นราว 3,800 กว่าชิ้น เฉลี่ยปีละ 700 กว่าชิ้น หรือวันละประมาณ 2 ชิ้น (ไม่นึกเลยว่าเผด็จการ คสช.จะดลบันดาลใจให้กวีลูกเจ๊กอดีตคอมฯ อย่างผมเกิดรักความเป็นไทยในแง่การประพันธ์อย่างสูงลิบล้นเหลือเฟือฟายทุกเช้าค่ำได้ขนาดนี้ แหะ)

การจะคัดเลือกกาพย์กลอน 3-5 บทจากทั้งสิ้น 3,800 กว่าบท เพื่อแปลเป็นอังกฤษให้ผู้อ่านต่างชาติต่างภาษาโดยคนคัดต่างกัน 2 คนผู้ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาอุปนิสัยใจคอและรสนิยมทางวรรณกรรมหรือการเมืองกันมาก่อนเลย ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด

ผมจึงเสนอคุณ อ. ว่า เอางี้แล้วกัน ผมคัดกาพย์กลอนเกี่ยวกับเผด็จการ คสช.ที่ผมชอบสัก 4-5 ชิ้นจากทั้งหมด 3,800 กว่าชิ้น ส่วนคุณ อ.ก็คัดที่ตัวเองชอบสัก 4-5 ชิ้น แล้วมาเจือผสมเข้าด้วยกัน จากนั้นก็คัดออกให้เหลือสักกึ่งหนึ่งโดยผมมอบดุลพินิจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายให้คุณ อ. (ในฐานะต้นเรื่องตัวการที่ทำให้ทางนิตยสารติดต่อผมมา)

ผลการคัดเลือกสุดท้ายเราได้มา 4 ชิ้น ชิ้นแรกมาจากกลุ่มที่ผมเลือก ส่วนอีก 3 ชิ้น คุณ อ.เลือก ขอนำมาลงไว้ดังต่อไปนี้ครับ :

(1)

มันเป็นเพียงวันนี้เท่านั้นเอง

เวลามืดคนมักจะพักผ่อน ไม่รู้ร้อนรู้หนาวนั่งหาวหวอ

ขยับตีนกลัวเตะสะดุดตอ นั่งตัวงอรอฝันตะวันแวว

หนวกต่อเสียงร่ำไห้ในคืนหิว บอดต่อทิวคนทุกข์ที่ทอดแถว

ใบ้ต่อถ่อยอธรรมมวลไม่ทวนแนว โอ้มืดจริงยิ่งแล้วหนอยุคนี้

เราคือคนไม่ท้อต่อความมืด คือพันธุ์พืชผู้กบฏต่อภูตผี

ตาไม่เห็นทางหรือมือเรามี คืบไปทีละก้าวเราคลำทาง

นานไหมหนอจะทอแสงตะวันใส? ยากลำบากเพียงไหนอะไรขวาง?

เราเมื่อยเหน็บเจ็บร้าวเราครวญคราง เราเคว้งคว้างหงอยเหงาเราเพลียใจ

ระหว่างการเดินทางอ้างว้างนั้น มือต่อมือพบกันดังฝันใฝ่

ใจต่อใจผูกมิตรสนิทใน เธอคือใคร? เป็นใครในเส้นทาง?

คือนักบวชบำเพ็ญโพธิสัตว์ คือนักปฏิวัติพลิกโลกกว้าง

คือผู้ใฝ่ความรู้ผู้แคลงคลาง คือผู้บุกเบิกถางหนทางจร

กัลยาณมิตร สมญานี้ชวนสนิทสโมสร

ซึ่งซ้ายขวาเหลืองแดงแบ่งข้างตอน ก็เพียงมายาหลอนรำคาญใจ

ล้วนคือสามัญชนสูงสง่า ล้วนเกิดมาเป็นมนุษย์สุดยิ่งใหญ่

ล้วนผู้ที่ไม่ท้อต่อทุกข์ภัย ล้วนนักเดินทางไกลไม่รอรี

นักเดินทางประกาศป่าวข่าวความฝัน ด้วยสองมือจะปั้นสุริย์ศรี

ความมืดดับอับแสงแห่งปฐพี มันเป็นเพียงวันนี้เท่านั้นเอง

(2)

ตราชู คสช.

“ตราชูนี้ดูเที่ยง บ่มิเอียงจริงไหมหือ

ขวาซ้ายเท่ากันหรือ รึจะหย่อนอยู่ข้างไหน

เพ่งดูตราชูตั้ง ข้านี้ยังมิแน่ใจ

ที่เที่ยงนั้นเพียงใด ที่ว่าไม่แค่ไหนกัน

ตราชูคู่กฎหมาย ตราขึ้นไว้เพื่อสุขสันต์

สังคมมิป่วนปั่น เพราะกฎข้อบังคับ” คาน

แต่นี้เพื่อใครหรือ มวลชนฤๅเผด็จการ

อ้ำอึ้งตะลึงลาน ศาลที่ไหนไม่เคยมี

เขายึดเราฮึดสู กฎว่าสูต้องเป็นผี

เขาร่างอ้างว่าดี เราแก้มั่งช่างระแวง

ตีความหยามทวยราษฎร์ แย่งอำนาจอย่างผาดแผลง

สิ้นคิดบิดตะแบง พลิกชิวหามาเทียบเคียง

สิ้นธรรมเหลืออำนาจ อาละวาดตวาดเถียง

ตราชูนี้ดูเอียง บ่มิเที่ยงเสียแล้วเอย

5 กรกฎาคม 2555

(ข้อความในเครื่องหมายคำพูด มาจากบทกวี “ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชั้นนั้น” ของนายภูติ แต่งขึ้นปลายพุทธทศวรรษ 2490)

(3)

กุญแจใจ

ที่ข้อมือมีไว้ใส่กุญแจ อาจถูกบาดเป็นแผลถ้าหากดิ้น

แต่ถ้าพร้อมยอมตนจนชาชิน ถอดกุญแจให้สิ้นยังยอมใจ

กุญแจที่จำจองใช่คล้องมือ ที่จองจำใจคือกุญแจใหญ่

จึงเกล้าก้มประณมกรอ่อนฤทัย ทาสที่ปล่อยไม่ไปคล้องใจตน

เมื่อปลดกุญแจใจเป็นไทแท้ ถึงกุญแจบาดข้อต่อกี่หน

ไม่อาจขังหัวใจให้อับจน เสรีภาพเริ่มต้นที่ตรงนี้

1 กรกฎาคม 2560

(กุญแจใจ จากโรม บางกอก ถึงหว่อง ฮ่องกง)

(4)

นวัตคำนำไทย

นวัตคำนำไทยให้เพ้อพก คำใหม่ใหม่ดื่นดกฟังโก้หร่าน

สี่จุดศูนย์ประชารัฐยัดทะนาน เนติอภินิหารบันดาลดล

ประดิษฐ์ไรประดิษฐ์ได้ก็แต่คำ ของไทยทำไทยโม้โกลาหล

น้ำลายเฟ้อเต็มปากสำรากมนต์ กลิ่นคละคลุ้งฝูงคนนะจังงัง

28 มีนาคม 2560

(ป.ล. หากกระบวนการแปลเป็นภาษาอังกฤษและนำขึ้นนิตยสารออนไลน์สำเร็จเรียบร้อยแล้วจะแจ้งให้แฟนกาพย์กลอนทราบอีกทีนะครับ)