เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ร่อยแหล่วเว่อ

คุณทรงชัย วงศ์วัชระดำรง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองทุ่งสง นครศรีธรรมราช พร้อมคณะทำงานได้ดำเนินการจัดกิจกรรมชื่อ “หลาดชุมทางทุ่งสง” โดยมีตลาดนัดชุมชนทุกวันอาทิตย์ ซึ่งวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นครั้งที่ 100 ขึ้นป้ายชื่อ “100 แล้วเหวอ” หรือ “ร้อยแล้วเรอะ” หรือ “ร้อยแล้วเว้ย”

สำเนียงใต้ก็ว่า “ร่อยแหล่วเว่อ” หรือ “ร่อยแหล่วเว้อ” ออกเสียงได้สนุกดี ด้วยคำว่า “ร่อย” นั้นตรงกับคำว่า “อร่อย” ด้วย

ร่อยแหล่วเว่อ จึงได้สองความหมายอยู่ในตัวคือ ครบร้อยแล้วนะ และอร่อยแล้วนะ

เข้าบรรยากาศงานดีนัก

หลาดก็คือตลาดตามวิธีออกเสียงของภาษาถิ่น จะตัดพยางค์นำออกเหลือคำท้ายไว้ตัวเดียว ดังตลาดเป็นหลาด แถลงเป็นแหลง ดังคำ “แหลงใต้” แปลว่า พูดภาษาใต้

หรือแถลงเป็นภาษาใต้นั่นเอง ลักษณะเน้นคำท้ายหรือท้ายคำนี้มีคำฟังยากอยู่ ถ้าไม่รู้ว่าคำเต็มคืออะไร เช่น คำ “ดับตัว” และคำ “หมรับ” (อ่านคล้ายว่ามะหรับ) ออกเสียงผสม “หม” เป็น “หมะ” ผสม “ร” เป็น “หมระ” และเติมตัวสะกด “บ” เข้าไป อ่านออกเสียงเป็น “หมฺรับ” นั่นแหละ

คำนี้มาจากคำ “สำรับ” คือสำรับกับข้าวนั้น ส่วน “ดับตัว” คำเต็มก็คือ “ประดับตัว” คือ “แต่งตัว” นั่นเอง

ตรงนี้มีเรื่องแทรกเพื่อให้เห็นความว่องไวของการพูดจาภาษาใต้ว่า ขณะรถไฟวิ่งสวนกัน เพื่อนขบวนหนึ่งถามเพื่อนอีกขบวนว่า “ไน่” เพื่อนอีกขบวนตะโกนตอบ “ไย่” เป็นอันรู้กันได้เลย

“ไน่” คือ “ไปไหน” “ไย่” คือ “หาดใหญ่”

หลาดชุมทางทุ่งสงก็คือตลาดชุมทางทุ่งสงซึ่งจัดติดต่อกันมาทุกวันอาทิตย์ครบครั้งที่ 100 ดังกล่าว ครั้งนี้พิเศษด้วยคณะทำงานที่มีนายกทรงชัยเป็นผู้นำ ได้เชิญคณะอนุกรรมการศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม ในวุฒิสภาไปร่วมดูงาน “หลาดชุมทางทุ่งสง” ครั้งที่ 100 เป็นพิเศษด้วย

ลงจากรถไฟก็มีนักแสดงโนราเยาวชน คือทั้งนักเรียนประถมถึงมัธยมมาแสดงต้อนรับคณะดูงานกระหึ่มไปทั้งสถานีรถไฟ พาคณะเดินไปยังถนนตลาดที่ทอดยาวจากสถานีรถไฟไปจนสุดตลาดอันมีธงทิวประดับประดาไปตลอดถนน

ซุ้มแผงร้านค้าของบรรดาชาวบ้านชาวเมืองเรียงราย ทั้งสองข้างทางและกลางถนนล้วนมีเสน่ห์น่าซื้อน่าชมทั้งสิ้น

ด้วยสินค้าทั้งหลายเหล่านี้ล้วนผลิตจากพื้นถิ่นด้วยน้ำมือของชาวบ้านเมือง มีขนมจีนน้ำยาใต้ ยาหนม คือขนมกวนอย่างกะละแมห่อด้วยกาบหมาก ตลอดถึงงานศิลปะทำมือ ทั้งเครื่องหนัง พิเศษคือ เด็กๆ ทั้งวัยรุ่น เยาวชนมานั่งเขียนรูปบ้าง ทำเครื่องประดับโนราสดๆ ตรงนั้น ขายกันตรงนั้น

คณะทำงานเล่าว่า มีมาตรการกับผู้ค้าเป็นกติกาว่าต้องเป็นผู้ผลิตเอง ห้ามนำของจากโรงงานมาจำหน่ายเด็ดขาด

ตรงนี้แหละที่เป็นเสน่ห์

นอกจากได้ของสดของดีจากวัสดุพื้นถิ่นแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของ “พลังการผลิต” ด้วยน้ำพักน้ำแรงของผู้คนเป็นสำคัญอีกด้วย

ความสามารถหรือศักยภาพของผู้คนอันมีอยู่แล้วในคนทุกคนนี่แหละสำคัญนัก การเปิดโอกาสให้คนได้ทำการผลิตด้วยตัวเองยิ่งสำคัญกว่า

การเปิดโอกาสให้คนได้แสดงศักยภาพเป็น “พลังการผลิต” อย่างมีค่าเป็นประโยชน์จึงสำคัญสุด

สิ่งนี้แหละที่สังคมเรายังขาดอยู่

พิเศษของ “หลาดชุมทางทุ่งสง” คือเวทีแสดงของนักเรียน ที่มีหลายเวที ทุกโรงเรียนในเมืองทุ่งสงผลัดเปลี่ยนกันมาแสดงบนเวทีอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะโนราตัวเล็กตัวน้อย ตั้งแต่เด็กประถมถึงมัธยม รวมถึงหนังตะลุงคนของเด็กอนุบาลที่มีครูสาวเป็นผู้กำกับและพากย์สดสนุกนัก

เวทีศิลปวัฒนธรรมนี่เองที่จะ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” สมพระราชปณิธานได้จริง

เวทีอย่างนี้แหละที่จะทำให้ “ของเก่าไม่หาย ของใหม่ไม่หด” ซึ่งสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่ในสังคมบ้านเราวันนี้มีแต่ “ของเก่าก็หาย ของใหม่ก็หด”

และเชื่อเถิด เด็กเล็กเด็กน้อยที่รำโนราวันนี้จะรักโนราไปชั่วชีวิต โนราจะเป็นความสุขและปีติแท้จริงของชีวิตตลอดไป

สิ่งนี้มิอาจเอามาตรการใดๆ มาเป็นตัวชี้วัด

คุณวัฒนภณ วัฒนกุล ทำวิจัยการสร้างมูลค่าจากทุนวัฒนธรรม โดยร่วมผลักดันให้เกิด “หลาดชุมทางทุ่งสง” เป็นต้นแบบ เล่าให้ฟังว่า

เมืองทุ่งสงเหมือนสิงคโปร์ คือเป็นเมืองท่าค้าขาย รับอิทธิพลจากทั้งเหนือ ใต้ โดยเฉพาะทั้งสองฝั่งทะเลตะวันตกและตะวันอก เหมาะสมที่จะบูรณาการงานในลักษณะ “สานพลังสามภาคส่วน” คือ ภาคราชการ เอกชน (ธุรกิจ) และประชาสังคม ตามนโยบายที่ชาวคณะในสมัย สปช.และสมัยวุฒิสภานี้ได้เริ่ม ทั้งประเดิมและติดตามมาโดยตลอด

ทุ่งสงจะเป็นต้นแบบชุมชนเข้มแข็งโดยแท้