สุจิตต์ วงษ์เทศ / สุนทรภู่ ไปวัดเจ้าฟ้า จ.สระบุรี เขาพนมยงค์ หินกอง หนองแค

วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ มีตำนานเล่าว่าพระเจ้าตะเภาทอง พระราชาเมืองอู่ตะเภาไปเที่ยวแล้วเห็นโขดหินโดดเด่นสีไม่ดำเหมือนกองหินอื่นๆ บริเวณนั้น มีกลอนนิราศบอกว่า "มาเที่ยวเล่นเห็นหินบนดินโขด เดี่ยวสันโดษดังสำลีไม่มีสอง" ภาพนี้เป็นโขดหินตั้งเรียงกันบนเขาพนมยงค์ ต.หินกอง อ.หนองแค จ.สระบุรี [ถ่ายภาพโดย นราธิป ทองถนอม 30 พฤศจิกายน 2562]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุนทรภู่ ไปวัดเจ้าฟ้า จ.สระบุรี

เขาพนมยงค์ หินกอง หนองแค

 

วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ [ในนิราศวัดเจ้าฟ้า ของ สุนทรภู่] อยู่เขาพนมยงค์ ต.หินกอง อ.หนองแค จ.สระบุรี

พนมยงค์ ได้จากนามบรรพชนในสกุลพนมยงค์ที่มีตำแหน่ง “พระนม” กับชื่อ “ประยงค์” [พบในหนังสือ ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน โดย ดุษฎี พนมยงค์ (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก 2555) ระบุว่า นามสกุล พนมยงค์ มาจากพระนมชื่อประยงค์ ซึ่งท่านปรีดีเขียนเล่าไว้เอง]

พระนม หมายถึงผู้ดูแลปรนนิบัติพัดวีเจ้านายเชื้อพระวงศ์เมื่อทรงพระเยาว์ แต่ลิ้นชาวบ้านไม่ออกเสียง ร เลยเรียกตามภาษาปากว่า พะนม แล้วเขียนด้วยอักขรวิธีที่รู้กันยุคนั้นว่า พนม ตรงกับคำว่า แม่นม, พ่อนม

ประยงค์ เป็นชื่อตัวของพระนม ท่านที่มีชีวิตอยู่ในยุคอยุธยา แต่คนทั่วไปเรียกสั้นๆ ตามภาษาปากว่า ยงค์

เริ่มเมื่อพระนม ชื่อ ประยงค์ สร้างวัดวัดหนึ่งที่ฝั่งเหนือคลองเมืองด้านเหนือ เป็นบริเวณนอกเกาะเมืองด้านเหนือของพระนครศรีอยุธยา จากนั้นชาวบ้านทั่วไปเรียกชื่อตามภาษาปากว่า วัดพนมยงค์

ต่อมาพระนมประยงค์ไปเมืองสระบุรี นมัสการพระพุทธบาทและพระพุทธฉาย แล้วสถาปนาพระเจดีย์องค์หนึ่งไว้บนยอดเขาเตี้ยๆ อยู่ชายทุ่งทางทิศใต้ของทิวเขาพระพุทธฉาย หลังจากนั้นชาวบ้านเรียกชื่อยอดเขานี้ว่า เขาพนมยงค์

เขาพนมยงค์ แต่เดิมเรียก “เขาพนมโยง” พบชื่อในสมุดภาพไตรภูมิ สมัยอยุธยา เป็น “แลนด์มาร์ก” สำคัญสมัยนั้น ที่พระเจ้าตากเคยผ่านไปเมื่อครั้งนำไพร่พลออกจากอยุธยาไปชายทะเลฝั่งตะวันออกมุ่งเมืองจันทบุรี

 

สุนทรภู่ไปวัดเจ้าฟ้า

 

นิราศวัดเจ้าฟ้า แต่งในแผ่นดิน ร.3 หลังเมษายน พ.ศ.2381

  1. ออกเดินทางไปอยุธยา วันพฤหัส 19 เมษายน พ.ศ.2381 [ตามการคำนวณของนักวิชาการกรมศิลปากร ในหนังสือนิราศวัดเจ้าฟ้า ฉบับตรวจสอบชำระ พ.ศ.2558] กลับกรุงเทพฯ ในเดือนเดียวกัน ปีเดียวกัน มีบอกในนิราศวัดเจ้าฟ้าว่าสุนทรภู่พร้อมคณะรวม 9 คน ประกอบด้วย ลูกชาย 3 คน เณรพัด, เณรกลั่น, นายตาบ ลูกศิษย์ 3 คน จัน, มาก, บุนนาค ลูกจ้าง 2 คน ตามา, ตาแก้ว เป็นคนแจวเรือ
  2. แต่งนิราศหลังกลับถึงกรุงเทพฯ ไม่แต่งขณะเดินทาง
  3. เดินทางหน้าแล้ง ฤดูร้อน เมษายน ทุ่งนาแตกระแหง เกี่ยวข้าวหมดนานแล้ว หญ้าแห้งเต็มทุ่งนาป่าละเมาะ

 

ใครแต่ง?

 

เชื่อต่อๆ กันมาว่านิราศวัดเจ้าฟ้า แต่งโดยสุนทรภู่ [ขณะนั้นอายุ 52 เป็นภิกษุ] แต่ใส่ชื่อลูกชายชื่อ “พัด” ซึ่งบวชเป็นสามเณร

แต่เทียบสำนวนแล้วไม่ราบรื่นกลมกลืนเท่านิราศเรื่องอื่นๆ ที่แต่งโดยสุนทรภู่ เพราะในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม คือ นิราศวัดเจ้าฟ้า แต่งโดยสามเณรพัด แต่นักปราชญ์สมัยหลังใส่ชื่อสุนทรภู่

นิราศวัดเจ้าฟ้าขึ้นต้นกลอนเพลงยาวมีความว่าออกเดินทางจากวัดพระเชตุพน ว่า “กำจัดจรนิเวศน์พระเชตุพน” ทำให้เข้าใจว่าสุนทรภู่จำพรรษาอยู่วัดพระเชตุพน หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน

พ. ณ ประมวญมารค [ท่านจันทร์ คือ หม่อมเจ้าจันจิรายุ รัชนี] บอกว่า (1.) สามเณรพัด แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า แต่เกลากลอนโดยสุนทรภู่ และ (2.) สุนทรภู่ไม่ได้อยู่วัดโพธิ์ อยู่วัดอื่น แต่ไปลงเรือวัดโพธิ์ เพราะเป็นท่าเรือใหญ่สุดของสมัยนั้น ใครจะไปทางเรือต้องลงเรือท่าวัดโพธิ์ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ลงเรือตรงนั้นบ้านอยู่นั่น

 

แต่งทำไม?

 

[1.]แต่งถวายเจ้านาย หรือมูลนายเจ้าสังกัด เพื่อเป็นความดีความชอบ [2.] แต่งอวดกันเองในหมู่ผู้ดีที่รู้หนังสือ [3.] ไม่แต่งขาย ไม่มีคนซื้อ เพราะไม่อ่าน และคนส่วนมากเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก

 

เนื้อหาว่ายังไง?

 

เป็นบันทึกการเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงอยุธยา-สระบุรีไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทงว่ามีที่ “วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์”

แล้วพรรณนาความตื่นเต้นโลดโผนอิทธิปาฏิหาริย์จากประสบการณ์ตรง ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่สมัยนั้นอันเป็นความต้องการของกลุ่มผู้ดีกระฎุมพีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ลายแทง สุนทรภู่บอกว่าได้จาก “เมืองเหนือ” ซึ่งควรหมายถึงดินแดนเคยเป็นรัฐสุโขทัย ตั้งแต่นครสวรรค์, พิจิตร, พิษณุโลก, สุโขทัย, อุตรดิตถ์ ฯลฯ ไม่ใช่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นรัฐล้านนาที่คนสมัยสุนทรภู่ไม่เรียกเมืองเหนือ แต่เรียกโยนกหรือล้านนา

เมื่อเป็นลายแทง ทุกอย่างย่อมเป็นสมมุติปนเปจากสิ่งมีจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง บางทีเป็นเรื่องหลอกทั้งหมดก็ได้ สุนทรภู่เองก็บอกในรำพันพิลาปว่าเคยถูกหลอกเมื่อ  ตามลายแทงไปเล่นแร่แปรธาตุ

 

วัดเจ้าฟ้าอยู่ไหน?

 

คําถามแรกของผู้ฝักใฝ่วรรณคดีไทยราว 50-60 ปีมาแล้ว เมื่อพูดถึงนิราศวัดเจ้าฟ้าของสุนทรภู่ ว่าวัดเจ้าฟ้าฯ อยู่ไหน?

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่บอกว่าอยู่ที่ไหน? ในประวัติสุนทรภู่ [พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2465]

พ.ศ.2505 นายธนิต อยู่โพธิ์ [ขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมศิลปากร] เขียนคำนำอธิบายและมีเชิงอรรถว่าวัดเจ้าฟ้า อยู่วัดเขาดิน ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในหนังสือนิราศวัดเจ้าฟ้า ของ สุนทรภู่

[พิมพ์ชำร่วยเป็นที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นายกมล มลิทอง ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2505]

พ.ศ.2508 นายเปลื้อง ณ นคร บอกว่าวัดเจ้าฟ้า คือ วัดเขาดิน ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา [ข้อเขียนในวิทยาสาร พ.ศ.2508]

แต่ขัดกับตัวบทในนิราศวัดเจ้าฟ้าเรื่องระยะทางและภูมิประเทศ ที่ไกลออกไปจากท้องที่ อ.อุทัย อยุธยา และเข้ากันได้กับเขาพนมยงค์ซึ่งอยู่ใกล้เมืองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี มีนิทานพระเจ้าตะเภาทอง