2563 ปีแห่ง นักการเมืองในเครื่องแบบ / ฉบับประจำวันที่ 3-9 มกราคม 2563

สุรชาติ บำรุงสุข แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการทหาร
ประเมินว่า ปี 2563
ยังคงจะเป็นปีแห่ง “นักการเมืองในเครื่องแบบ”ต่อไป
เหตุผลเพราะกองทัพยังไม่ถอยออกจากการเมือง
กองทัพจะยังคงเป็นตัวแสดงที่สำคัญทางการเมืองต่อไป
เราอาจจะยังคงเห็นการออกมาวิจารณ์การเมืองในที่สาธารณะ
โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมารยาททางการเมือง
อีกทั้งผู้นำทหารในสภาวะที่กองทัพมีอำนาจมักจะไม่ยอมรับว่า การแสดงความเห็นทางการเมืองของผู้นำทหารในที่สาธารณะ ไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ

พื้นฐานทางความคิดของผู้นำทหารไทย (รวมทั้งกลุ่มอนุรักษนิยมไทย) ไม่แตกต่างจากชุดความคิดของทหารในละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษของปี พ.ศ.2503 ถึงปี 2523 (1960-1980) ที่มองการเมืองในระบอบเลือกตั้งด้วยทัศนะแบบต่อต้าน
ความคิดชุดนี้เรียกในทางรัฐศาสตร์ว่า “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (Antipolitics Ideology)
กล่าวคือ ผู้นำทหารมองว่านักการเมืองและพรรคการเมือง ตลอดรวมถึงระบอบการปกครองที่มาจากการเลือกตั้งเป็นภัยคุกคาม
และกองทัพจะต้องต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้
หรืออาจกล่าวสรุปในเชิงทัศนะได้ว่า ผู้นำกองทัพมองว่านักการเมืองและพรรคการเมือง (ฝ่ายประชาธิปไตย) เป็น “เชื้อโรคร้าย” ที่บ่อนทำลายสังคม
และการต่อสู้นี้จึงเป็นการปกป้องประเทศจาก “โรคระบาดร้ายแรง” ที่เกิดจากนักการเมือง
และที่สำคัญ อุดมการณ์ชุดนี้ไม่ยอมรับนักการเมืองที่มาจากเลือกตั้ง
ผลสืบเนื่องที่ชัดเจนก็คือ การแสวงหาคนกลางเพื่อการเป็นผู้นำทางการเมือง
และคนกลางที่เหมาะสมในอุดมการณ์ชุดนี้คือ “ผู้นำทหาร”
ชุดความคิดเช่นนี้จึงรองรับบทบาทของทหารในการเมืองได้อย่างดี
และแม้ระบอบการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในการเมืองไทย แต่ก็เป็นระบอบที่ทหารยังคงมีอำนาจอยู่สูง
เพราะปีกอนุรักษนิยมยังคงยึดในความคิดของอุดมการณ์นี้
อันกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อ “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง”

การแสดงออกในลักษณะแบบต่อต้านประชาธิปไตยของผู้นำกองทัพคือ การส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า กองทัพไม่ใช่ตัวแสดงที่จะช่วยให้เกิดการประนีประนอมและ/หรือความสมานฉันท์ในทางการเมือง (เหมือนเช่นที่มีการกล่าวอ้างเป็นเหตุผลในการยึดอำนาจ ที่สุดท้ายแล้วเหลือแต่เพียง “น้องเกี่ยวก้อย” ตุ๊กตาผ้า ที่ไม่เกิดผลใดๆ ในทางการเมือง)
ในทางตรงข้าม
ท่าทีเช่นนี้กำลังชี้ให้เห็นว่า กองทัพกำลังแสดงบทเป็น “คู่ขัดแย้ง” โดยตรงในทางการเมือง
นอกจากนี้ ในหลายวาระ การเมืองไทยคุ้นชินกับการที่ผู้นำทหารมักจะมีบทบาทในการ “ปลุกกระแสขวาจัด” เสมอ
การปลุกกระแสเช่นนี้คือการยืนยันอย่างชัดเจนว่า ผู้นำทหารคือ “หัวขบวน” ของฝ่ายขวาไทย
และบทบาทนี้จะไม่มีทางแปรเป็นอื่น
อันมีนัยว่าโอกาสที่กองทัพไทยจะเป็นขบวนที่ก้าวหน้าในความเปลี่ยนแปลงนั้น คงเป็นไปไม่ได้

แต่ผู้นำทหารไทยในปี 2563 ต้องตระหนักรู้ว่า การแสดงบทบาททางการเมืองของทหารไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการยอมรับในมาตรฐานของ “วิชาชีพทหารในสากล”
การกระทำเช่นนั้นเป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ของกองทัพไทย
และทำให้กองทัพถูกมองจากประชาคมระหว่างประเทศว่า ไม่เป็น “ทหารอาชีพ”
แต่เป็นเพียง “นักการเมืองในเครื่องแบบ”
หรือหากมองในทางทฤษฎี กองทัพคือรากฐานของ “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” (ระบอบพันทางแบบไทย) และระบอบนี้อยู่ได้ด้วยการค้ำประกันของผู้นำทหาร ไม่ใช่ด้วยเสียงสนับสนุนจากประชาชน
ทำให้ แม้กองทัพจะยังมีบทบาททางการเมืองต่อไปในปี 2563
แต่ก็จะเป็นปีที่มีแรงเสียดทานกับกองทัพอย่างมาก
และเป็นปีที่ผู้นำกองทัพยุคปัจจุบันต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับระบอบเลือกตั้ง
และจะต้องอยู่ให้ได้กับกระบวนการตรวจสอบของรัฐสภาอีกด้วย!
————–